HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 09/07/2555 ]
บทเรียนองค์กรปลอดภัย สู่คู่มือสร้างอุตสาหกรรมแห่งความสุข

นอกจากประเทศไทยจะเป็นเมืองเกษตรกรรมแล้ว ประตูแห่งการลงทุนที่เปิดรับนักลงทุนจากต่างชาติ และนักลงทุนภายในประเทศในภาคอุตสาหกรรมเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งตลาดแรงงานที่น่าสนใจ และน่าดึงดูดเม็ดเงิน ภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางทำรายได้เข้าประเทศ ของระบบเศรษฐกิจและการพาณิชย์ของประเทศไทย ซึ่งเบื้องลึกของระบบการผลิตนั้น มีฝีพายหลักคือทรัพยากร และแรงงานจากมนุษย์ เป็นตัวคอยขับเคลื่อนให้กลไกทางการผลิตเกิดการเคลื่อนไหว นำไปสู่การสร้างชิ้นงาน สินค้า และการบริการต่างๆ
          การให้ความสำคัญ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของทรัพยากรมนุษย์ในโรงงาน จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่างตระหนักดีว่าจะต้องสร้างมาตรฐาน ทั้งการดูแล  การจัดการความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และสุขภาพให้กับแรงงานแต่ละคนอย่างเท่าเทียม และเหมาะสม
          โรงงานต่างๆ ในวันนี้จึงมุ่งที่จะสร้างผลกำไรด้านคุณภาพชีวิต ไม่ต่างจากกำไรในธุรกิจ และนี่จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้สถานประกอบการที่มีการขึ้นทะเบียนเกือบ 4 แสนแห่ง และแรงงานกว่า 8 ล้านคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
          คุณพัชรี จาวรุ่งฤทธิ์ นักวิชาการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก ของ สสส. กล่าวว่า การทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในโรงงานได้แบ่งออกเป็น 2 ระยะโดยเริ่มการทำงานมาตั้งแต่ปี 2551 ด้วยการส่งเสริมให้มีการเลิกบุหรี่เป็นอันดับแรก เพราะเป็นรากเหง้าของปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาอีก โดยใช้เวลา 4 ปี ปริมาณผู้ที่เลิกบุหรี่ลงได้เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ และยังลดความเสี่ยงในการสร้างมลพิษต่อคนรอบข้างที่ไม่ได้สูบบุหรี่ลงด้วยได้เช่นกัน
          ในขณะที่ระยะที่สอง มีแผนการดำเนินงานที่จะขยายสู่การเลิกดื่มเหล้า งดการพนัน และลดอุบัติเหตุซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยต่อเนื่องกันทั้งสิ้น
          ทางด้าน ดร. จิรพล สินธุนาวา อุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังจากโครงการนี้ถูกนำไปใช้ในโรงงานกว่า 205 แห่งในระยะแรก สามารถลดทั้งอัตราการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า รวมทั้งลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงานลงได้เป็นอย่างมาก
          "มีผู้ที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ 905 คน เลิกดื่มเหล้า  812 คน เลิกเล่นการพนัน 42 คน ขณะที่สถานประกอบการที่มีการควบคุมการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางของพนักงาน ลดลงจาก 516 ครั้งในปี 2553 เหลือเพียง 194 ครั้งในปี 2554" ดร. จิรพล กล่าว
          การจัดการกระตุ้นเตือน และสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในการลด ละ เลิก ตั้งแต่บุหรี่ มาจนถึงการดื่มเหล้านั้น มีหลายวิธี ทั้งการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น จัดให้ไม่มีพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ภายในสถานประกอบการ หรือการให้รางวัลเป็นขวัญและกำลังใจกับพนักงาน พร้อมทั้งจัดหน่วยงานที่ปรึกษา ที่จะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับพนักงานที่ต้องการจะบอกลาสิ่งเสพติดเหล่านี้
          แต่อย่างไรก็ตาม โครงการทั้งหมดจะประสบความสำเร็จไปไม่ได้ หากขาดการใส่ใจ และการจูงใจให้ผู้บริหารสถานประกอบการเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว นอกจากนั้น ผู้บริหารจะต้องเปิดกว้าง และขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่มีการทำกิจกรรม ลด ละ เลิก สิ่งมึน เมา อยู่แล้ว อย่างเช่น สภาอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่ง สสส. เอง โดยหน่วยงานเหล่านี้จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบการได้
          บทเรียนจากการลงพื้นที่ทำงานมาตลอด 4 ปี สามารถทำให้เกิดคู่มือการบริหารองค์กรในด้านการสร้างขุมกำลังคนที่มีคุณภาพออกมาได้ 3 เล่ม คือ คู่มือสำหรับผู้บริหาร คู่มือสำหรับคณะทำงาน และคู่มือกิจกรรมที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในองค์กร ซึ่งถือเป็นต้นฉบับสูตรสำเร็จเล่มแรกๆ ที่องค์กรอื่นๆ สามารถนำไปศึกษา และนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมได้ เพื่อให้ปลายทางภาคอุตสาหกรรมในบ้านเราจะได้เต็มไปด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมที่จะเดินหน้าสู่การทำงานแบบ เต็มศักยภาพต่อไปในอนาคต
          ผู้สนใจคู่มือสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ สอบถาม เพิ่มเติมได้ที่สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2441 5000 ต่อ 2317


pageview  1205848    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved