HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 25/06/2555 ]
เมื่อร่างกายกระซิบ"ความหิว"

 กรใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ของคนยุคนี้ ทำให้มองข้ามหรือละเลยสิ่งเล็กน้อยที่มีความสำคัญต่อสุขภาพไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่ง "เรื่องเล็กๆ" ที่ถูกเพิกเฉยหรือไม่สนใจมากที่สุดก็คือ สัญญาณความหิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการควบคุมน้ำหนัก ทำให้เรื่องเล็กๆ กลายเป็น 'เรื่องใหญ่' และเป็นดาบสองคมอย่างไม่มีใครคาดคิด เพราะมันทำให้ร่างกายสับสนและแยกแยะไม่ออกว่า 'ความหิว' ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้น เป็นความหิว ที่ร่างกายต้องการอาหารจริงๆ หรือหิวเพราะแค่อยากกินกันแน่
          ซูซาน โบเวอร์แมน โภชนากรและที่ปรึกษาของบริษัท เฮอร์บาไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้ข้อมูลว่า โดยปกติร่างกายจะส่งสัญญาณให้เรารู้อยู่ตลอดเวลาว่าเมื่อไหร่ที่เริ่มขาดพลังงานหรือสารอาหารที่จำเป็น เช่น หากปากของเราแห้งแสดงว่าร่างกายเริ่มขาดน้ำ หากรู้สึกอ่อนเพลียจนเปลือกตาเริ่มหนักแสดงว่าร่างกายต้องการพักผ่อน ซึ่งปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า "ร่างกายสื่อสารกับเราอยู่ตลอดเวลา" แต่ด้วยการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบในทุกช่วงเวลาทำให้เราไม่เคยฟังหรือสังเกต "สัญญาณ" ที่ร่างกายส่งผ่านออกมา
          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'สัญญาณของความหิว' ที่มักทำให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ทั้งการกินจุบจิบ กินแบบไม่รู้ตัวและบางครั้งก็อาศัยเวลาบนหน้าปัดนาฬิกาเป็นตัวกำหนดความหิว ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้เป็นการสร้างภาระ ให้แก่ร่างกายและก่อให้เกิดโรคอ้วนในที่สุด ดังนั้นหากไม่ต้องการเพิ่มน้ำหนักหรือเข้าคอร์สลดน้ำหนักโดยไม่ตั้งใจ ก็ต้องฟังสัญญาณของความหิวของตัวเราเอง เพราะในแต่ละคนจะแสดงปฏิกิริยาของความหิวแตกต่างกันออกไป และเพื่อให้แน่ใจว่าความหิวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความหิวที่เกิดจากความต้องการของร่างกายจริงๆ หรือความอยากกิน มีวิธีสังเกตง่ายๆ ดังนี้  ข้อแรกคือ เมื่อขาดพลังงานร่างกายก็จะเริ่มส่งสัญญาณความหิว กล่าวคือ เมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะขาดพลังงาน เนื่องจากน้ำตาลในเลือดมีปริมาณต่ำลง ก่อนการ รับประทานอาหารมื้อถัดไป มันจะส่งสัญญาณ ให้เรารู้ผ่านปฏิกิริยาต่างๆ เช่น รู้สึกวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลียและหน้ามืด แต่สัญญาณเตือนชั้นดี ที่สร้างความมั่นใจว่าร่างกายขาดพลังงานจริงๆ คือ เสียงท้องร้อง ข้อต่อมาคือ ต้องรู้จัก เช็คระดับ สัญญาณ 'หิวจริง' หรือ 'อิ่ม' เพราะทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมั่นใจว่าในแต่ละมื้อ นั้นเรากินอิ่มแล้วจริงๆ หรือว่าต้องกิน ต่อไปอีก เนื่องจากพฤติกรรมการกินของคนในปัจจุบันจะหยุดกินอาหารก็ต่อเมื่อกินหมดจนเกลี้ยงจาน หรือเมื่อรู้สึกอิ่มจนแน่นท้อง
          และเพื่อป้องกันพฤติกรรมเหล่านั้น จึงควรเช็คระดับความหิวจากร่างกายของเราโดยฟังสัญญาณจากร่างกายแล้วจดบันทึกอาการของความหิวทั้งก่อนและหลังกินเสร็จในทุกมื้อ โดยใช้เกณฑ์การให้คะแนนความหิว หรืออิ่ม ตั้งแต่ 1 ที่เป็นระดับของความหิวมากถึง 10 ซึ่งหมายถึงอิ่มแน่นจนเริ่มไม่สบายตัว การจดบันทึกจะช่วยทำให้เราประเมินได้ว่าจริงๆ แล้ว ควรหยุดกินเมื่อไหร่กันแน่ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าอิ่มและหยุดกินอาหารได้แล้วก็มักจะแน่นท้องทรมานไปแล้ว
          ส่วนวิธีการเช็คระดับสัญญาณนั้น สามารถทำได้โดยเริ่มกินเมื่อระดับความหิวอยู่ที่ระดับ 3 ถึง 4 ซึ่งกระเพาะอาหารของเราจะร้องเบาๆ นั่นเป็นสัญญาณบอกว่า ควรเริ่มกินได้แล้วและควรหยุดเมื่อระดับความหิวอยู่ที่ระดับ 5 หรือ 6 นั่นหมายถึงร่างกายกำลังอิ่มในระดับที่เรียกว่าพอดี แต่หากปล่อยให้ความหิวไต่ระดับไปถึง 1 หรือ 2 คือ 'หิวจัด' จนตาลายคนส่วนใหญ่มักจะเบรกแตกและกินทุกอย่างที่ขวางหน้าจนถึงระดับความอิ่มที่ 9 หรือ 10 ผลคือ อิ่มแน่นจนทรมานทีเดียว
          ข้อสุดท้าย คือ 'อิ่ม' อร่อยอย่างมีคุณภาพ เมื่อฝึกแยกแยะและวิเคราะห์ระดับความหิวและความอิ่มแล้ว ให้จำไว้ว่า 'กินแค่พออิ่ม' ซึ่งเทคนิคการกินให้อิ่มอย่างง่ายๆ คือ ฟังสัญญาณและสังเกตปฏิกิริยาจากร่างกายของเรานั่นเอง เช่น มีอัตราการเคี้ยวและความเร็วในการกินอาหารจะช้าลง และที่สำคัญควรใส่ใจเรื่องคุณค่าของสารอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละมื้อร่วมด้วย
          อย่างไรก็ตาม เราสามารถฝึกทักษะเพื่อการรับรู้และตอบสนองต่อความหิวและความอิ่มจากร่างกายได้อย่างง่ายๆ โดยใช้เวลา 3-4 วัน ในการฝึกและสังเกต ในช่วงแรกอาจเริ่มจากการบันทึกรายการอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละมื้อ และลองสังเกตระดับความหิวทั้งก่อนและ หลังการกินอาหารว่าอยู่ในระดับไหน เพราะร่างกายของเรามีความฉลาดในการแยกว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการหรือไม่ต้องการ  การฝึกฟังเสียงสัญญาณจากภายในร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอย่างน้อยก่อนจะส่งอาหารเข้าปาก เราควรมั่นใจว่าหิว จริงๆ ไม่ใช่แค่อยากกิน เพราะไม่อย่างนั้นคงต้องเข้าโปรแกรมลดน้ำหนักกันยาว


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved