HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 23/02/2555 ]
บ.ยารับมือ
          หมอเผยลดภาระโรงพยาบาลต่อรองราคายาแต่ต้องไม่ล็อกสเปคยา
          แพทยสภา หนุน 3 กองทุนทำราคากลางยา-เครื่องมือแพทย์ ลดภาระ รพ.ต่อรองราคายา ย้ำต้องไม่ล็อกสเปค พรีม่าถกเครียด ปรับท่าทีรับ ยาราคาเดียว ขณะที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดข้อมูล ค้านรัฐบาลเก็บ 30 บาท เหตุไม่คุ้มค่า สร้างภาระและไม่เป็นธรรมกับคนจน พร้อมระบุผู้ป่วยร้อยละ 68 ไม่เห็นด้วยร่วมจ่าย 30 บาท เตรียมหอบข้อมูลค้านหารือ รมว.สาธารณสุข 
          จากการประกาศ จัดทำราคากลาง ยาและเครื่องมือแพทย์ ของ 3 กองทุนสุขภาพนั้นวานนี้ (22 ก.พ.) นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า กรณีที่ 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ จับมือร่วมกันเพื่อกำหนดราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์ ถือเป็นเรื่องที่ดี ส่งผลดีต่อโรงพยาบาล เพราะจะทำให้ราคายาและเครื่องมือแพทย์ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ถูกลง ช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลไปได้มาก 
          นอกจากนี้ การรวมตัวของ 3 กองทุนยังเป็นการช่วยโรงพยาบาลต่อรองราคากับทางบริษัทยา จากเดิมเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลต้องดำเนินการเอง แต่ทั้งนี้ การกำหนดราคายาควรอยู่ในกลุ่มยาราคาแพง และเป็นแค่กลุ่มยาเฉพาะที่เป็นปัญหาต่อการเข้าถึงเท่านั้น รวมไปถึงเครื่องมือแพทย์ที่ราคาแพง ส่วนที่จะกำหนดทั้งหมดทุกรายการนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะรายการยามีเป็นจำนวนมาก 
          ยังไม่ทราบในรายละเอียด แต่ถ้าเป็นแค่การกำหนดราคากลางนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยเพราะจะทำให้ได้ยาในราคาถูกลง เนื่องจากในการกำหนดราคา คงต้องมีการต่อรองกับทางบริษัทยามาแล้ว ทำให้การจัดซื้อยาโรงพยาบาลง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ใช่การล็อกสเปคว่าจะต้องใช้ยานั้นยานี้เท่านั้น เพราะจะกระทบการรักษาถือเป็นเรื่องไม่ถูก เลขาธิการแพทยสภากล่าว 
          พรีม่าแจ้ง บ.ยารับมือ 
          ผู้สื่อข่าวรายงานหลังจาก 3 กองทุนสุขภาพ ที่ประกอบด้วย กองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการร่วมกันตั้งราคายากลางเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะงบประมาณค่ายาส่งผลให้บริษัทยาต้องปรับตัว 
          ล่าสุดสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งต่อบริษัทยาที่เป็นสมาชิก เพื่อให้ข้อมูลต่อการปรับท่าทีต่อการปรับเงื่อนไขของ 3 กองทุนแม้จะเพียงแค่ 7 รายการแรกก็ตาม นอกจากนี้ เตรียมชี้แจงผู้สื่อข่าววันนี้ (23 ก.พ.) 
          วิจัยชี้ไม่ควรเก็บ 30 บาท 
          วันเดียวกัน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้นำเสนอข้อมูล การทบทวนงานวิจัย ทำไมจึงไม่ควรเก็บ 30 บาท โดย ดร.ภญ.อุษาวดี มาลีวงศ์ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาลประกาศนโยบายฟื้นโครงการจัดเก็บเงินสมทบ 30 บาท โดยกล่าวอ้างถึงความจำเป็น 2 ประการ คือ 1. การแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นของโรงพยาบาล 
          และ 2. การไม่เก็บเงินสมทบจำนวนดังก่อให้เกิดการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นนั้น จากการรวบรวมผลงานวิจัยหลายหน่วยงานและวิเคราะห์เพิ่มเติม พบว่าในประเด็นการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของโรงพยาบาลเป็นเรื่องจริง แต่เหตุผลไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป 
          ส่วนใหญ่เกิดจากค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 13, 10 และ 10 ของค่าใช้จ่ายโรงพยาบาล แต่ในปี 2553 ขยับไปอยู่ที่ร้อยละ 17, 14 และ 13 ขณะที่ค่าใช้จ่ายส่วนอื่น อย่างวัสดุทางการแพทย์ มีสัดส่วนที่ลดลง ส่วนค่าใช้จ่ายด้านยานั้น เพิ่มขึ้นแต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก 
          ผู้ป่วยบัตรทองส่วนใหญ่จน 
          ดร.ภญ.อุษาวดี กล่าวว่า ส่วนข้อค้นพบในประเด็นการสร้างพฤติกรรมการใช้บริการในโรงพยาบาลที่ไม่สมเหตุสมผลนั้น นอกจากการรวบรวมข้อมูลแล้ว ยังได้สำรวจเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 500 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ที่อยู่ในระบบบัตรทอง คือ คนจนที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำงานหาเช้ากินค่ำ การจะไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าฝากผู้อื่นดูแลบ้าน 
          ที่สำคัญ คือ การเสียรายได้จากการขาดงาน เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ครั้งละ 200 กว่าบาท ในขณะที่รายรับเฉลี่ยอยู่ที่ 181 บาทเท่านั้น จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในระบบส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ไปโรงพยาบาลและซื้อยากินเองมากกว่า ส่วนที่ต้องไปโรงพยาบาลจริงๆ คือ กลุ่มป่วยหนัก เด็ก และคนชรา 
          เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับประชาชนในระบบหลักบัตรทอง ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีสถานะยากจนที่สุดของประเทศ ซึ่งมีอยู่กว่า 40 ล้านคน แต่ต้องมาจ่าย 30 บาท เพื่อไปลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่ให้บริการคนทั้งประเทศ ดร.ภญ.อุษาวดี กล่าวและว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเก็บเงินสมทบ 30 บาท เพราะไม่เกิดประโยชน์ และเร่งสร้างความเสมอภาคกันทั้ง 3 กองทุน ทั้งนี้ หากทำได้จะเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ ที่ทำเพื่อคนจนที่เรียกร้องเรื่องนี้มานาน แต่ไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้มาก่อน 
          ผู้ป่วยค้านร่วมจ่าย 30 บาท 
          ด้าน น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับศูนย์ประสานงานระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร ได้ทำการสำรวจค่าใช้จ่ายการไปโรงพยาบาลของผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 10-15 ก.พ. 2555 จากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่เคยไปรับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทองใน 48 เขต จำนวน 589 คน อายุระหว่าง 1-90 ปี 
          ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ประกอบรับจ้างมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 40.4 รองลงมาค้าขาย ร้อยละ 27.2 ว่างงาน ร้อยละ 8.3 แม่บ้านพ่อบ้าน ร้อยละ 9.0 และผู้สูงอายุ 5.9 นอกจากนั้น ประกอบธุรกิจส่วนตัว นักเรียนนักศึกษา ลูกจ้างบริษัทและทำสวน โดยสถานพยาบาลที่ไปรับบริการนั้น พบว่าส่วนใหญ่ใช้บริการที่โรงพยาบาลร้อยละ 49.2 ศูนย์บริการสาธารณสุข 28.9 และคลินิกเอกชน 21.9 
          ขณะที่การเดินทางเพื่อไปยังสถานพยาบาลนั้น ร้อยละ 47 เดินทางด้วยรถแท็กซี่ ร้อยละ 38 ต้องมีญาติหรือบุคคลอื่นพาไป และร้อยละ 13.5 ต้องใช้เวลาทั้งวัน และเมื่อสอบถามถึงค่าใช้จ่ายเพื่อไปรับบริการต่อครั้ง ในส่วนผู้ป่วยนอก จะมีค่าเดินทางอยู่ที่ 113 บาท ค่าอาหาร-เครื่องดื่ม 59 บาท ค่าขาดรายได้ 181 บาท ส่วนผู้ป่วยใน ค่าเดินทางอยู่ที่ 157 บาท ค่าอาหาร-เครื่องดื่ม 101 บาท และค่าขาดรายได้ 461 บาท 
          ส่วนความเห็นต่อการร่วมจ่าย 30 บาทนั้น พบว่ากว่าครึ่งหรือร้อยละ 68 ไม่เห็นด้วย ในจำนวนนี้ร้อยละ 61.5 เห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย และอีกร้อยละ 6.3 เห็นว่าทำให้ผู้ที่ไม่มีเงินร่วมจ่ายไม่ได้รับการรักษา ขณะที่มีเพียงร้อยละ 32 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการจัดเก็บ ในจำนวนนี้ร้อยละ 24.1 เห็นว่าโรงพยาบาลจะให้บริการที่ดีขึ้น ร้อยละ 8 ระบุว่า จะได้ใช้บริการอย่างมีศักดิ์ศรี และมีเพียงแค่ร้อยละ 0.2 เท่านั้นที่ระบุว่าแบบใดก็ได้ 
          รวบรวมข้อมูลเสนอ วิทยา 
          น.ส.กชนุช กล่าวอีกว่า จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่า แม้จะไม่มีการจัดเก็บ 30 บาท แต่การเดินทางไปรับบริการแต่ละครั้ง ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงและสูญเสียรายได้ต่อวันจำนวนมาก ที่เป็นภาระต่อการเข้าถึงการรักษาของประชาชน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการไปใช้บริการพร่ำเพรื่อตามข้ออ้างเพื่อขอจัดเก็บ 30 บาท ทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ป่วยในการเข้าถึงบริการมากขึ้น 
          น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลการรวบรวมงานวิจัยและผลสำรวจเหล่านี้ ทางกลุ่มคนรักประกันสุขภาพจะนำไปเสนอต่อนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ทั้งนี้ เห็นว่านโยบาย 30 บาท เริ่มต้นโดยพรรคไทยรักไทย จึงต้องให้เครดิตเพราะเป็นนโยบายประชานิยมที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด และเมื่อพรรคเพื่อไทยเข้ามาสานต่อ จึงควรที่จะพัฒนานโยบายต่อยอด ไม่ใช่เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า

pageview  1205128    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved