HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 21/06/2555 ]
บทเรียนแผนตอบโต้ฉุกเฉินสารเคมี"มาบตาพุด"

 กว่าหนึ่งเดือนเต็มกับอุบัติเหตุครั้งประวัติศาสตร์ กรณีเกิดเหตุระเบิด และเพลิงไหม้โรงงานบีเอสทีอิลาสโตเมอร์ส ในเครือบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ (BST) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเหตุการณ์นี้คร่าชีวิตคนงานทั้งสิ้น 11 ราย มีผู้สูดดมก๊าซพิษ และได้รับบาดเจ็บจ-ากการระเบิดสูงถึง 141 ราย
          แม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว แต่สำหรับชาวชุมชนมาบตาพุด ที่ต้องอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงจากโรงงานจำนวนมาก  อุบัติภัยทางเคมีครั้งรุนแรงนี้ยังคงเป็นฝันร้าย โดยเฉพาะมลพิษที่ปะปนออกมาในระหว่างการระเบิด แม้ผลตรวจคุณภาพอากาศ น้ำ และ ดิน โดย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า 6 ชุมชน เช่น ชุมชนตากวน ชุมชนซอยโสภณ ชุมชนมาบตาพุด ชุมชนบ้านบน ชุมชนอิสลาม ชุมชนห้วยโป่ง ไม่มีสารมลพิษเกินค่ามาตรฐานก็ตาม
          แต่ในข้อเท็จจริง คงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ยังคงชี้ให้เห็น"จุดอ่อน" ในการวางแผนรองรับอุบัติภัยสารเคมีในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งพบว่ายังขาดความพร้อมในการจัดการอุบัติภัยทางเคมี รวมทั้งยังขาดการป้องกัน รับมือที่ดีพอ ทั้งนี้จะเห็นได้จากความโกลาหล นับแต่เกิดเหตุระเบิดมีควันสีดำทะมึนพวยพุ่งขึ้นท้องฟ้า การไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทันเวลา หรือแม้แต่การวิเคราะห์กลุ่มสารเคมีที่ระเบิด จนทำให้เกิดความสับสนขึ้น
          ในโอกาสการเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 17-19 มิ.ย. นี้ที่จังหวัดชลบุรี ที่ผ่านมา ได้หยิบประเด็นปัญหาและซักซ้อมแผนฉุกเฉินจากเหตุระเบิดของบีเอสที และการผลักดันให้มาบตาพุด เป็นต้นแบบโรงงานสีเขียว อีกครั้ง
          "กรุงเทพธุรกิจ"  ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายสุเมธา วิเชียรเพชร  ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะหัวหน้าชุดภาคสนาม พร้อมกับลูกทีมอีก 4-5 ชีวิตที่เข้าดำเนินการตรวจสอบสารมลพิษจากโรงงานแห่งนี้
          ในมุมมองของเห็นต่างจากคนนอกที่มักจะมองว่าเหตุการณ์ระเบิดในโรงงานบีเอสที ถือเป็นความล้มเหลว เพราะค่อนข้างโกลาหล และไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น  แม้แต่โรงพยาบาลเองก็ไม่รู้ว่าผู้ป่วยโดนสารเคมีอะไรมา ทำให้การรักษาผู้ป่วยไม่สามารถทำได้ทันที เพราะขาดรู้ข้อมูลสารเคมีที่แน่ชัด
          ข่าวที่ออกไปทีแรกว่าสารเคมีคือตัวโทลูอีน  ระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ และสารตัวนี้เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ทำให้คนตื่นตกใจกลัวมากขึ้น  แต่เมื่อเราได้วิเคราะห์จากจุดเกิดเหตุทำให้พบว่าสารมลพิษที่เกิดขึ้นในระหว่างระเบิดถ้าเป็นสารโทลูอีน ซึ่งอยู่ในกลุ่มสารทำละลายล้างทำความสะอาด จะไม่ทำให้เกิดควันดำได้แน่นอน แต่ต้องเป็นควันขาว แต่โรงงานบีเอสที ผลิตพวกยางสังเคราะห์ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำให้มีควันดำ จึงมีมลพิษที่น่าห่วง 2 ตัวคือ บิวทาไดอีน และ สไตรีน อยู่ในกลุ่มที่เป็นสารก่อมะเร็ง แต่กรณีโทลูอีน จะมีพิษแบบเฉียบพลันถ้าสูดดมไปมาก ก็จะวิงเวียนศีรษะ แสบตา อาเจียน งุนงง หมดสติ แต่ต้องได้รับในปริมาณมากๆ
          กว่าโรงพยาบาลจะรู้ว่าผู้บาดเจ็บรับสารพิษชนิดไหนมาก็กินเวลามาเกือบ 1 ชั่ว โมง  แต่โชคดีที่คนที่เข้ารับรักษาส่วนใหญ่ไม่ได้สูดดมก๊าซพิษจนหมดสติ ขณะที่ผู้เสียชีวิตทั้ง 11 รายก็มาจากแรงระเบิด และความร้อนจากไฟไหม้
          "หลังเกิดเหตุยอมรับว่าวันแรกเราไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ตัวโรงงานที่เกิดเหตุระเบิดเนื่องจากต้องรอทีมพิสูจน์หลักฐานเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุเสียก่อน  แต่การตรวจสอบสารมลพิษรอบๆ โรงงานและชุมชน ก็ไม่พบว่ามีสารตัวไหนเกินค่ามาตรฐาน
          หากให้ถอดบทเรียน สุเมธา บอกว่า พบจุดอ่อนมาจากการบริหารจัดการของทีมคนงานที่เข้าปฏิบัติงานซ่อมบำรุง  ซึ่งอาจขาดความชำนาญ และไม่ได้ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยในระหว่างปฏิบัติงาน
          จากข้อมูลที่บันทึกในวันเกิดเหตุระบุว่าเมื่อเวลา 14.30 น. ได้เกิดเหตุระเบิดถังทรงกระบอกสูงขนาด 7.4  คิวทำให้เกิดเพลิงไหม้ในกระบวนการผลิต   ซึ่งถ้าเป็นถังโทลูอีนเต็มถังจริงจะไม่มีการระเบิด แต่ต้องเป็นถังเปล่าๆ และมีไอระเหย  การเกิดระเบิดมาจากการสันดาปของเชื้อเพลิงภายในถัง  ซึ่งในระบบความปลอดภัยในโรงงาน ถ้ามีสารไวไฟจะห้าม ทั้งพกโทรศัพท์  ห้ามการสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด เพราะว่าทำให้เกิดประกายไฟได้ หรือแม้สันดาปภายในถังที่ในถังอับ ก็เกิดการระเบิดได้
          "ในรายงานการสอบสวน บริษัทอยู่ระหว่างการหยุด และมีการล้างถังสารเคมี โดยใช้สารโทลูอีล้างถังดังกล่าว แต่ระหว่างล้างพบว่าแมคคานิคอลซีล เกิดความเสียหาย จึงเรียกทีมซ่อมบำรุงมาตรวจสอบ แต่เข้าไปแล้วทำให้เกิดระเบิดขึ้น  ซึ่งเขาวิเคราะห์ว่าทีมคนงาน น่าจะพาความร้อน และประกายไฟเข้าไปในบริเวณถัง"
          เขาบอกว่า  โดยปกติ ก่อนจะไปซ่อมต้องมีการตรวจวัดด้วยเครื่องมือเครื่องแอลอีแอลมิเตอร์ เป็นเครื่องวัดความไวไฟ ถ้ามีค่าความร้อนสูงตามหลักมากกว่า 10% จะมีความเสี่ยงทำให้เกิดความร้อนและระเบิดขึ้นได้ เพราะมีทั้งเชื้อเพลิง อากาศ และรอเพียงความร้อนประกายไฟ ก็มีความเสี่ยงระเบิดขึ้นได้  ตรงนี้มันอาจจะเป็นจุดอ่อนต้องทีมตำรวจวิทยาการ ที่ตรวจพิสูจน์หาสาเหตุ
          สรุปว่า ความปลอดภัยในการทำงานอยู่ที่ " คน" ว่าได้ทำตามที่เขากำหนดไว้ในขั้นตอนความปลอดภัยหรือไม่ อย่างตัวเขาเองหากจะไปกู้สารเคมี กรณีถังสาร เคมีรั่วไหล ถึงจะมีชุดป้องกันอยู่ไว้แล้ว  แต่หากรู้ว่าประกายไฟก็ไม่เข้าทันทีแต่จะใช้เครื่องมือวัดความร้อนก่อนว่ามีปัจจัยทำให้เกิดการสันดาปและระเบิดได้หรือไม่ นี่เป็นกฎสำคัญ
          อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการจัดการอุบัติภัย อยู่ในระดับที่ว่าดี  เพราะถ้าไม่ดี สารบิวทาไดอีน มิกซ์ซีโฟร์ ถ้าคลุมไม่ดีก็จะระเบิดตามมาการที่เขาควบคุมไม่ให้ลุกลามได้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว
          กระนั้นก็ตาม สุเมธา วิเคราะห์ว่า หลายกรณีในการทำตามขั้นตอนแผนตอบโต้ฉุกเฉินสารเคมี ซึ่งมีไว้หมดแล้วกล่าวคือ ป้องกัน รับมือ และเยียวยา  ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับคือแผนของโรงงาน และนิคม แผนระดับท้องถิ่นและจังหวัด  และแผนของชุมชน  ซึ่งในทางปฏิบัติไม่ค่อยเกิดปัญหาในการปฏิบัติ แต่จะมีช่องว่างจากการประสานระหว่างเกิดเหตุมากกว่า เช่น  บางทีระดับจังหวัดมีการเปลี่ยนตัวคนรับผิดชอบ โทรไปหัวหน้าชุมชนไม่รับโทรศัพท์ เป็นต้น ทำให้การสั่งอพยพหรือการย้ายคนล่าช้าเป็นต้น
          นอกจากนี้ เขาบอกอีกว่า  เวลาปกติถ้าเกิดเหตุการณ์อุบัติภัยทางเคมีขึ้นในโรงงาน การแจ้ง และคนรับแจ้งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะคนรับแจ้งต้องมีความรู้ สามารถซักถามข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เช่น เกิดอะไรขึ้น  เป็นไฟไหม้ หรือเกิดการระเบิด รั่วไหล  โรงงานผลิตสารเคมีอะไร  อุบัติเหตุคาดว่าจะเกิดตรงหน่วยไหน บริเวณถังสารเคมี  การระบายจากปล่อง รวมทั้งต้องถามว่ามีผู้บาดเจ็บหรือไม่  เพื่อเตรียมประสานทางโรงพยาบาล เตรียมรักษาให้ถูกอาการ  โดยผู้รับแจ้งต้องซักข้อมูลให้ได้ข้อมูลมากที่สุด พอที่จะใช้ในการประสานงานตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมี เพราะนี้เป็นด่านแรก
          ส่วนข้อเสนอในอนาคต สุเมธา บอกว่า ในอนาคตควรต้องมีการแจ้งข้อมูลการครอบครองเคมี ภัณฑ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อจะได้วางแผนทั้งในรองรับความเสี่ยงต่อชุมชนในรัศมีรอบโรงงาน และการรักษาของโรงพยาบาล โดยในต่างประเทศเขากำหนดสารเคมีที่มีพิษแบบเฉียบพลันไว้  340 รายการ เพื่อให้รู้ว่าถ้าเกิดเหตุแล้วคุณต้องรีบแก้ ไม่งั้นจะตายได้ทันที  เช่น ที่เรารู้จักกันดีอย่างกลุ่มก๊าซพิษ เช่น  แอมโมเนีย คลอรีน  ไวนิลคลอไรด์ ซึ่งมีกรณีคลอรีนรั่วที่ไต้หวันตายทันที 70 ศพ  ส่วนของเหลวเป็นพิษ  อคิโลไนไตรฟีนอล  อโครลีน (แก๊สน้ำตา) ที่โรงงานต่างๆ ควรต้องประเมินความเสี่ยง  และแจ้งปริมาณการครอบครองในปริมาณที่กำหนด ต้องแจ้งให้ส่วนราชการทราบด้วย
          "กว่าโรงพยาบาลจะรู้ว่าผู้บาดเจ็บรับสารพิษชนิดไหนมาก็กินเวลาเกือบ1 ชั่วโมง "


pageview  1205740    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved