HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 21/06/2555 ]
โรครุมเร้าวัยทำงาน "เครียด-ไม่ออกกำลังกาย"โรคหัวใจพุ่งปีละ1.7หมื่นราย

 พบ 1 ใน 10 ป่วยโรคเรื้อรัง "หัวใจ-ความดัน เบาหวาน"
          กระทรวงสาธารณสุขสำรวจพบวัยแรงงานไทยแบกโรค เหตุสภาพแวดล้อมทำงานไม่เหมาะสม ขณะที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในที่ทำงานเผย ค่าเฉลี่ยใช้เวลาทำงานสูงคนละ 53,000 ชั่วโมง ขณะที่แรงงานเกษตรกรรมมีอัตราป่วยจากสารเคมีสูงปีละ 2,000 ราย
          สถานการณ์คนวัยทำงานของไทยน่าห่วงหลังพบ 1 ใน 10 คนแบกโรคเรื้อรัง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง ผลสำรวจสุขภาพคนวัยทำงาน ที่จัดร่วมกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่าในกลุ่มของวัยทำงานอายุ 15-59 ปี ที่เป็นกำลังหลักของครอบครัว
          นอกจากนี้ คนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ จำนวนเกือบ 40 ล้านคน หรือราว 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงาน 8-9 ชั่วโมง โดยตลอดอายุทำงานใช้เวลาเฉลี่ย 53,000 ชั่วโมง ดังนั้น สถานที่ทำงานจึงมีอิทธิพลต่อชีวิตและสุขภาพคนวัยนี้อย่างมาก เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สองของคนทำงาน
          อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจสุขภาพแรงงานไทยล่าสุดในปี 2552 พบว่า กว่า 1 ใน 10 ของวัยแรงงาน ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ที่พบสูงสุด 3 อันดับแรก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ 32 รองลงมาโรคเบาหวานร้อยละ 21 และโรคทางเดินหายใจเรื้อรังเช่นภูมิแพ้ร้อยละ 19 และพบว่ากว่า 1 ใน 4 ของการบาดเจ็บเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเป็นรถจักรยานยนต์ร้อยละ 27
          นอกจากนี้ ยังพบปัญหาอื่นๆ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด ตลอดจนปัญหาสุขภาพอันเกิดจากการทำงาน เช่น วัตถุหรือสิ่งของบาด ทิ่มแทงอวัยวะต่างๆ  ซึ่งล้วนแต่สามารถป้องกันได้ทั้งสิ้น 
          ทั่วโลกป่วยจากงาน 160 ล้านคน
          ด้าน นพ.ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ขณะนี้ ประชากรโลกที่อยู่ในวัยทำงาน มีความเสี่ยงต่อเกิดปัญหาสุขภาพและความไม่ปลอดภัยจากการทำงานประมาณ 1,900 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานเด็ก 170 ล้านคน และในทุกๆ ปีจะมีวัยทำงานเจ็บป่วยจากการทำงานมากกว่า 160 ล้านคน โดยร้อยละ 51 เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืดและมะเร็ง  ร้อยละ 8 บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ และอีกร้อยละ 8 เกิดความเครียดจากการทำงาน 
          ประชากรไทยสู่วัยสูงอายุ
          ขณะที่ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การพัฒนาสุขภาพของกลุ่มวัยทำงานมีความสำคัญต่อความมั่นคงของสถาบันครอบครัว เนื่องจากโครงสร้างประชากรไทยในอนาคต จะมีประชากรกลุ่มวัยเด็กและสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวัยที่ต้องพึ่งพิงวัยทำงาน ในปี 2553 วัยแรงงาน 100 คน เฉลี่ยต้องดูแลวัยพึ่งพิง 48 คน และจะเพิ่มเป็น 60 คนในอีก 15 ปีข้างหน้าจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ล่าสุดประเทศไทยมีผู้ที่ทำงานในระบบอุตสาหกรรมต่างๆ ประมาณ 15 ล้านคน  มีสถานประกอบการทั่วประเทศ 389,953 แห่ง
          สาวโรงงานป่วย 2 แสนคน/ปี
          นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงาน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรงงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมและกลุ่มแรงงานในภาคเกษตรกรรม โดยในกลุ่มแรงงานโรงงานอุตสาหกรรม จากข้อมูลสำนักงานกองทุนทดแทน สำนักงานประกันสังคม ได้มีการรายงานผู้ป่วยและบาดเจ็บอยู่ที่ 200,000 รายต่อปี หรือร้อยละ 12
          ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 เกิดจากอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน โดยเฉพาะเครื่องจักรอุตสาหกรรม อาทิเช่น แขนขาด นิ้วถูกตัด เป็นต้น อีกร้อยละ 8 เกิดจากภาวะโรคที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 3,000-4,000 ราย มีความผิดปกติทางการกล้ามเนื้อ หรืออาการแพ้จากเสรีเคมี โรคปอดที่เกิดจากฝุ่นผง และยังมีปัญหาทางด้านการได้ยิน
          เกษตรกรป่วยสารเคมี 2,000 คน/ปี
          ส่วนกลุ่มเกษตรกร จากข้อมูลสำนักระบาดพบว่า การเจ็บป่วยอันดับแรกส่วนใหญ่เกิดจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรู โดยมีรายงานจำนวน 1,000-2,000 รายต่อปี โดยตัวเลขผู้ป่วยนี้เชื่อว่าเป็นการรายงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเชื่อว่ามีเกษตรกรจำนวน ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยไม่มาโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมผู้ป่วยที่ได้รับสารเคมีสะสมจนเป็นมะเร็งที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ และแม้ว่าแพทย์จะตรวจพบเป็นมะเร็งแต่ก็ไม่กล้ายืนยันว่าเกิดจากสารเคมีศัตรูพืช ส่วนการเจ็บป่วยอันดับต่อมาเกิดจากการได้รับบาดเจ็บจากการทำเกษตรกรรม หรือถูกสัตว์มีพิษกัด รวมไปถึงปัญหากล้ามเนื้อ กระดูก
          "แรงงานที่เจ็บป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ล้วนแต่เป็นตัวเลขการรายงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริงทั้งหมด เนื่องจากหลายโรคต้องใช้ระยะเวลาจึงจะมีอาการปรากฏ อย่างกรณีของโรคเยื่อหุ้มปอด นอกจากนี้ ยังมีระบบการติดตามผู้ป่วยไม่ต่อเนื่อง การย้ายงานของแรงงานเอง" ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
          นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้มีความพยาบาลในการคัดกรองโรค โดยในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมทางกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเองก็มีกฎหมายบังคับ กำหนดให้นายจ้างต้องดูแลสุขภาพของแรงงาน การดูแลเรื่องความปลอดภัยจากการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ต้องมีการตรวจสุขภาพแรงงานในทุกปี แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมา มีบางโรงงานที่ไม่ปฏิบัติ
          ชี้แรงงานไทยไม่สนใจสุขภาพ
          ขณะที่ในส่วนภาคการเกษตร ทางกลุ่มงานอาชีวเวชศาสตร์ได้มีการดำเนินนโยบายการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานภาคการเกษตรเช่นกัน โดยประสานไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้มีการเจาะเลือดเพื่อเก็บตัวอย่างตรวจ ซึ่งพบว่ามีถึงร้อยละ 30 ที่พบสารเคมีตกค้างในเลือด พร้อมกันนี้ ยังให้มีการตรวจสุขภาพ
          นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่สนใจดูแลสุขภาพตนเองน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่หาเช้ากินค่ำ ต้องหารายได้เพื่อใช้สำหรับดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ทำให้ต้องทำงานที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่มีรายได้ ซึ่งหากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นการทำงานเหล่านี้ก็จะลดลง
          คนไทยป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น
          ส่วนกรณีนายธราวุธ นพจินดา ผู้สื่อข่าวสายกีฬาเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันการเสียชีวิตนั้น  นพ.สุขุม กาญจนพิมาย รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า โรคดังกล่าวถือเป็นโรคทางพันธุกรรม แม้จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วยคนในครอบครัวก็สามารถเป็นโรคดังกล่าวได้ และจากการตรวจสอบประวัติพบว่าพี่ชายของนายธราวุธก็เสียชีวิตด้วยโรคเดียวกัน
          ส่วนคนไทยเป็นโรคหัวใจเยอะ ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้ชายอายุ 40 ปี ขึ้นไป ผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือหลังหมดประจำเดือน โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 17,000 ราย ประมาณครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ทั้งนี้ เป็นเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก นิยมรับประทานอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ น้ำหนักตัวเกิน ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ทำงานหนักและพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าปกติ 3-4 เท่า
          แนะจัดที่ทำงานให้สะอาด-น่าอยู่
          อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิเช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เน้นเป้าหมายหลัก 3 เรื่อง คือ ไม่ให้วัยทำงานเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง ป่วยจากการทำงาน และบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ  โดยจะมีการให้ความรู้การบริโภคอาหารที่สมดุล รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ส่งเสริมการออกกำลังกาย การจัดการความเครียด
          และจัดสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้สะอาด ปลอดภัย น่าทำงาน  โดยในปีแรกนี้ตั้งเป้าเชิญชวนสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ อย่างน้อยจังหวัดละ 1  แห่ง สถานประกอบการโดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท ฮอนด้า ออโต้โมบิล ประเทศไทย จำกัด และบริษัท แคนนอน ไฮ-เทค (ประเทศไทย) จำกัด
          เกษตรกรมีอัตราป่วยจากสารเคมีสูง ปีละ2,000ราย


pageview  1205760    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved