HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 11/06/2555 ]
สุขภาพดีเริ่มต้นที่ "มื้อเช้า"

 วิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนเมือง ทั้งจากการทำงานและปัญหาการจราจร รวมถึงความเชื่อผิดๆ อาจทำให้หลายคนมองข้ามอาหารมื้อเช้าไปอย่างน่าเสียดาย หรือไม่ก็คิดว่า แค่กาแฟกับขนมสักชิ้น ก็เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นวันอันแสนวุ่นวาย
          ความจริงแล้ว "มื้อเช้า" ถือว่าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นมื้อแรกของวันที่ไม่เพียงเติมพลังงานให้ร่างกายและสมอง ให้พร้อมทำงานอย่างมี ประสิทธิภาพ ยังช่วยป้องกันโรคเบาหวาน หัวใจและโรคอ้วน ซึ่งสวนทางกับความเชื่อที่ว่า การงดกินอาหารเช้าจะช่วยลดน้ำหนักได้
          ทั้งนี้เพราะการงดอาหารเช้าจะทำให้ร่างกายลดระบบเผาผลาญลง สมองจะหลั่งสารเคมีที่ชื่อว่า นิวโรเพปไทด์ วาย (neuropeptide Y) ซึ่งจะส่งสัญญาณให้คุณกินโดยไม่รู้ตัว หรือกินจุบจิบทั้งวัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเป็นอาหารที่กินสะดวก เช่น อาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดยืนยันว่า ไม่ว่าหญิงหรือชายที่กินอาหารเช้าทุกวันจะอ้วนยากกว่าคนที่งดอาหารเช้า 
          เช่นเดียวกับนักวิจัยจากโรงเรียนแพทย์แมสซาชูเซตส์ที่พบว่า คนที่ไม่รับประทานอาหารเช้าบ่อยๆ มีแนวโน้มอ้วนได้มากกว่าคนที่กินอาหารเช้าเป็นประจำ ขณะที่ผู้หญิงที่กินอาหารเช้าที่มีแคลอรีมากกว่ามื้ออื่นๆ จะลดน้ำหนักลงได้ดีกว่า และ 78% ของคนที่ลดความอ้วนแล้วสามารถประคับประคองน้ำหนักให้คงที่ได้ เป็นพวกที่กินอาหารเช้าทุกวัน อย่างไรก็ตามคุณภาพและปริมาณอาหารเช้าก็มีความสำคัญ ถ้าจะให้ดีต่อสุขภาพควรกินอาหารให้ได้สารอาหารครบถ้วน ส่วนใครที่อยากลดน้ำหนักควรเลือกประเภทอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตน้อย หรือให้แคลอรีต่ำนั่นเอง
          ที่น่าสนใจคือทุกวันนี้ไม่เฉพาะคนทำงานเท่านั้นที่ปฏิเสธ “มื้อเช้า” แต่เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาหารมื้อนี้ ซึ่งมีผลต่อภาวะการเจริญเติบโต ค่าเฉลี่ยไอคิว รวมถึงปัญหาสุขภาพ
          รองศาสตราจารย์ ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการสำรวจด้านสุขภาพของเด็กวัยเรียนโดยกระทรวงสาธารณสุขปี 2554 พบว่า เด็กส่วนใหญ่มีพัฒนาการการเจริญเติบโตที่ไม่สมวัย โดยมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารไม่ครบ 3 มื้อ ร้อยละ 60 พร่องมื้อเช้า-กินขนมกรุบกรอบ ที่ให้พลังงานเกินมาตรฐานเกือบ 3 เท่า ก่อให้เกิดปัญหาหลักระดับชาติคือ "เด็กไทยมีความสูงต่ำกว่าเกณฑ์ มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และมีเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าระดับปกติ" 
          โดยจากผลการสำรวจปีล่าสุด พบว่าเด็กวัยเรียนอายุ 1-14 ปี จำนวน 520,000 คน หรือร้อยละ 4.4 ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์ และเด็กไทยจำนวน 1,080,000 คน หรือร้อยละ 9 มีปัญหาเรื่องความอ้วน มีแนวโน้มเสี่ยงป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่นๆ สูงกว่าเด็กปกติทั่วไป 
          ขณะที่ผลการสำรวจด้านเชาวน์ปัญญาพบว่าในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวของเด็กไทยไม่เพิ่มขึ้นเหมือนประเทศอื่นๆ มีเด็กถึงร้อยละ 50 ที่มีระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติคือ 80 ในขณะที่เกณฑ์มาตรฐานสากลของไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 90-110 จุด
          “พฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กยุคมิลเลเนียมหรือเด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2000 เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยรับประทานอาหารร่วมสำรับกับครอบครัว กลายเป็นต่างคนต่างไปตามภาวะที่เร่งรีบ ส่วนใหญ่พึ่งอาหารนอกบ้านหรือซื้ออาหารถุง อาหารว่างมักรับประทานขนมกรุบกรอบที่ไม่มีประโยชน์ จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 2554 พบว่า การบริโภคอาหารของเด็กไทยอายุ 6-14 ปี เกือบหนึ่งในสี่กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และเกือบหนึ่งในห้าดื่มน้ำหวานน้ำอัดลมทุกวัน 
          แล้วช่วงเช้าเป็นเวลาเร่งรีบที่ทุกคนในครอบครัวต่างต้องรีบเร่งเพื่อไปเรียนหรือไปทำงาน ดังนั้นจะเห็นว่ามีรายงานการละเลยอาหารเช้าโดยเฉพาะเด็กๆ วัยเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา ตื่นสาย หรือไม่มีอาหารเช้าเตรียมไว้ที่บ้าน จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมจึงรับประทานอาหารเช้าไม่สม่ำเสมอหรือไม่ได้รับประทานเลย ผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารเช้าของเด็กไทยยุคใหม่ พบว่า โดยเฉลี่ยร้อยละ 32-48 งดหรือบริโภคอาหารเช้าเป็นบางวัน และการละเลยอาหารเช้ามีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น โดยจากพฤติกรรมพร่องมื้อเช้าของเด็กวัยเรียนจะส่งผลในระยะยาวต่อการเรียนรู้และพัฒนาการในที่สุด”
          สำหรับแนวต้านภัยปัญหาสุขภาพดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร. ประไพศรี แนะนำว่า "การรับประทานอาหารเช้าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการเกิดปัญหาพัฒนาการ การเจริญเติบโตไม่สมวัยของเด็กวัยเรียนได้ เนื่องจากอาหารเช้าถือว่าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมต่าง ๆ หลังจากที่อดอาหารมาตลอดคืน โดยอาหารเช้าจะเป็นตัวกำหนดแบบแผนการบริโภคทั้งวัน อีกทั้งยังพบว่า เด็กที่กินอาหารเช้าทุกวันมีโอกาสน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าเด็กที่งดอาหารเช้า พร้อมทั้งยังสามารถป้องกันโรคเบาหวานในเด็กได้"
          ที่สำคัญเมื่อเด็กๆ รับประทานอาหารเช้าแบบไม่ถูกหลักโภชนาการเป็นประจำจะส่งผลให้อารมณ์เสียง่าย เครียด อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ เรียนรู้ช้า จนระดับไอคิวต่ำในที่สุด
          รศ.ดร.ประไพศรี แนะนำเคล็ดลับส่งเสริมสุขภาพสำหรับเด็กยุคใหม่ว่า อันดับแรกคุณแม่ต้องสร้างสรรค์เมนูที่มีประโยชน์และอร่อย ครบคุณค่าตามหลักโภชนาการ และต้องไม่ลืมว่า ‘ครอบครัว’ คือต้นแบบที่ดีที่สุดในการปลูกฝังนิสัยและสร้างแบบแผนการรับประทานอาหารเช้าที่มีประโยชน์ ครบถ้วนด้วยคุณค่าทางโภชนาการ 
          ดังนั้นการรับประทานมื้อเช้าร่วมกัน นอกจากจะทำให้สุขภาพกายแล้วยังเป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวด้วย
          เช้านี้กินอะไรดี
          ตอบแบบกำปั้นทุบดินคงต้องบอกว่ากินอาหารให้ครบ 5 หมู่ดีที่สุด แต่หากพูดให้เจาะจงมากขึ้น บางงานวิจัยระบุว่า คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ดีที่สุดสำหรับอาหารเช้า เพราะจะค่อยๆ ปลดปล่อยกลูโคสให้กับสมองโดยใช้เวลานานขึ้นในการย่อยและดูดซึม แนะนำให้เลือกธัญพืชไม่ขัดสีและผลไม้
          โปรตีน อาหารทะเลให้กรดอะมิโน เพื่อผลิตสารสื่อข่าวสมอง ไข่อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินบีและโคลีนช่วยการทำงานเกี่ยวกับความจำ แม้ไข่มีคอเลสเตอรอลสูง แต่ไข่วันละฟองในมื้ออาหารที่สมดุลนั้น ข้อมูลการวิจัยเปิดเผยว่าไม่เป็นผลเสีย อาหาร แคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต นมถั่วเหลือง หรือธัญพืชเสริมแคลเซียม น้ำส้มเสริมแคลเซียม ช่วยในการเผาผลาญไขมันและลดการสะสมไขมันในร่างกาย


pageview  1205453    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved