HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 12/07/2564 ]
แนะ ฉีดเข็ม 3 รอวัคซีนเจนฯ ใหม่ mRNA เพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น

 ขณะนี้ประเด็นเรื่องวัคซีนโควิด-19 เป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ โดยเฉพาะวัคซีนชนิด mRNA ที่หลายคน รอคอยทั้งไฟเซอร์ที่รัฐจัดหา และ วัคซีนทางเลือกอย่าง โมเดอร์นา ในหลายประเทศใช้เป็นวัคซีนหลัก เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐ อิสราเอล เยอรมนี แคนาดา รวมถึง ประเทศลาวก็มีการฉีดไฟเซอร์ ซึ่งได้รับจากโครงการ COVAX ร่วมกับวัคซีนตัวอื่นๆ
          กรุงเทพธุรกิจ  ประเทศไทย ขณะนี้ วัคซีนหลักๆ คือ วัคซีนชนิดเชื้อพาหะ (แอสตร้าเซนเนก้า) และ วัคซีนชนิดเชื้อตาย (ซิโนแวค) อย่างไรก็ตาม วัคซีน mRNA  วันที่ 7 ก.ค. ครม.ได้อนุมัติให้ กรมควบคุมโรค  (คร.) ลงนามในสัญญาซื้อ วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส และจะมีการลงนามในสัญญา สั่งซื้อภายในสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกัน ยังมีวัคซีน ที่สหรัฐ บริจาคไฟเซอร์ให้ประเทศไทย 1.5 ล้านโดส โดยมีการลงนามไปแล้ว ขณะเดียวกัน "วัคซีนโมเดอร์นา" ที่ดูจะมีความคืบหน้า และเป็นความหวังหนึ่งของคน ที่รอคอยวัคซีนทางเลือก คาดว่าระยะเวลาที่ได้รับน่าจะอยู่ที่ไตรมาส 4 ของปี
          สถานการณ์ผู้ติดเชื้อขณะนี้พบว่า มีตัวเลขเกินครึ่งหมื่นมาหลายวัน และ สายพันธุ์ "เดลตา" ซึ่งเริ่มจะยึดครองประเทศไทยที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น และดูท่า จะกระจายจากกทม. ปริมณฑล ไปยังต่างจังหวัด จนผู้เชี่ยวชาญมีความกังวลว่าจะส่งผลต่อ การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใหม่ 2 เท่าใน 2 สัปดาห์ และอาจทำให้ไทยมีผู้ป่วยรายใหม่แตะ หลักหมื่นในสัปดาห์หน้า
          วัคซีนที่ฉีดไปนั้นจะมีประสิทธิภาพอย่างไร ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. อธิบายว่าวัตถุประสงค์การฉีดวัคซีน คือ ไม่มีทางป้องกันได้ 100% แต่มี ประสิทธิภาพป้องกันป่วยรุนแรง จนต้องเข้ารพ. และป้องกันอัตราการตายได้สูงมากเกิน 90% ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามหาศาลสำหรับชีวิต และช่วยปกป้องระบบสาธารณสุขไม่ให้เกินกำลัง
          วัคซีนที่ใช้ปัจจุบันเทียบประสิทธิภาพเมื่อเจอโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา พบว่า สายพันธุ์เดลตากับผลต่อภูมิคุ้มกัน พบว่า ผู้ที่ฉีด "ไฟเซอร์" 2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันลดลง 2.5 เท่า ผู้ที่ฉีด "แอสตร้าเซนเนก้า" 2 เข็ม  มีภูมิคุ้มกันลดลง 4.3 เท่า ผู้ที่ฉีด "ซิโนแวค"  2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันลดลง 4.9 เท่า หากเปรียบเทียบ การกระตุ้นภูมิฯ พบว่า วัคซีนชนิด mRNA (ไฟเซอร์/โมเดอร์นา) กระตุ้นการสร้างภูมิได้สูงสุด ระดับพันถึงระดับหมื่น วัคซีนชนิดเชื้อพาหะ (แอสตร้าเซนเนก้า) กระตุ้น การสร้างภูมิได้หลักพันต้นๆ และวัคซีนชนิดเชื้อตาย (ซิโนแวค) กระตุ้นการสร้างภูมิ ได้หลักหลายร้อยปลายๆ
          ประสิทธิภาพการป้องกัน "เดลตา" ไฟเซอร์ ป้องกันลดลงจาก 93% เหลือ 88% และป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 96% แอสตร้าฯ ป้องกันลดลงจาก 66% เหลือ 60% และป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 92% ซิโนแวค แม้จะป้องกันเดลตาได้ไม่ดี แต่ป้องกัน การเจ็บป่วยรุนแรง ตาย ได้ผลมากกว่า 90%
          ที่ปรึกษา ศบค. แนะนำว่า ใครยัง ฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม แนะนำให้ฉีด ให้ครบก่อน ยังไม่ต้องกังวลเรื่องวัคซีนเข็มที่ 3 และหากรออีก 6 เดือน จะได้ mRNA รุ่นใหม่ ที่ป้องกันสายพันธุ์ "เดลตา" ได้ รวมถึงฤทธิ์ข้างเคียงอาจน้อยลง และปลอดภัยกว่า  อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทุกยี่ห้อยังไม่มี และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา เร็วสุดอาจ ได้วัคซีนรุ่นใหม่ปลายปีนี้ หรืออาจจะ ต้นปีหน้า 2565
          สอดคล้องกับ ผศ.นพ.วิชัย เตชะสาธิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ และผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการสถานการณ์ โควิด-19 รพ.บำรุงราษฎร์ ระบุว่า การฉีดวัคซีน ในไทย "แอสตร้าเซนเนก้า" เริ่มมีการฉีดจริงจังในเดือนมิ.ย. 64 ขณะที่การฉีดเข็มที่ 3 น่าจะอยู่ ระหว่าง 3-6 เดือนหลังจากฉีดครบสองเข็ม ด้วยจังหวะไทม์ไลน์ ยังไม่ต้องรับโมเดอร์นาตอนนี้ ขอให้รอเวอร์ชั่นใหม่ที่ครอบคลุมหลายสายพันธ์มากกว่า ดังนั้น คนที่รับ แอสตร้าเซนเนก้า ขอแนะนำให้ฉีดครบ 2 เข็ม ซึ่งฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์ หากได้รับ 2 เข็ม ก็ยังครอบคลุมสายพันธุ์เดลตาแม้จะติดเชื้อแต่ก็ไม่รุนแรง
          "ผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าควรฉีด ให้ครบ 2 เข็ม แล้วรอวัคซีนที่กำลังจะออก เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตกำลัง ดำเนินการผลิตอยู่ มีการพัฒนาให้ป้องกันหลายสายพันธุ์ ที่เรียกกันว่า Multi-variant vaccine คล้าย ๆ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีด เพียงตัวเดียว ป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ ซึ่งคาดว่า จะทำสำเร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2565 "  ล่าสุด รพ.บำรุงราษฎร์ เปิดจองโมเดอร์นา เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 64  กำหนดให้กลุ่มที่ไม่เคย ได้รับวัคซีนใดๆ จองได้ 2 เข็ม และ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย ซิโนแวคครบ 2 เข็ม  โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรการแพทย์ จองได้ 1 เข็ม เนื่องจากวัคซีนหมดอายุ นับตั้งแต่วันผลิตไปอีก 6 เดือน หักลบการขนส่ง กว่าที่โมเดอร์นาจะมาถึงราวไตรมาส 4
          โดยเบื้องต้นอาจจะพิจารณาผู้ป่วยของรพ. เป็นอันดับแรกเหมือนกับการลงทะเบียนกับ "หมอพร้อม" ที่ผู้ใช้บริการจองคิวไปฉีดวัคซีนใน รพ. ที่ตนเองรักษาประจำ เนื่องจากมีประวัติการรักษา รวมถึงต้องคำนึงถึงจำนวนวัคซีนที่จะได้รับ รวมถึง กลุ่มแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับวัคซีน ซิโนแวค เมื่อต้นปี และพนักงาน รวมถึง บุคคลทั่วไป และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย เพื่อเป็นการกระจายวัคซีนให้เข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลาย และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้กว้างขึ้น
          "ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา" นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. โพสผ่าน เฟซบุ๊คเกี่ยวกับการ การศึกษาชิ้นล่าสุด ที่แสดงผลการทดสอบอาสาสมัคร 229 คน ที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า เข็มแรก และไฟเซอร์เข็มสอง โดยห่างกัน 9-12 สัปดาห์ พบว่า ภูมิคุ้มกันที่ อาสาสมัครตรวจพบพุ่งสูงมาก มากกว่าไฟเซอร์ 2 เข็ม
          "ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับ ผลข้างเคียง ของวัคซีนชนิด mRNA ที่ทำให้เกิด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือ Myocarditis เขียนสรุปออกมาโดยทีมของ US CDC ลงในวารสาร JAMA มี หมอในฮ่องกงท่านหนึ่งสรุปตัวเลขที่รวบรวมได้ ดังนี้ 1. โอกาสเสี่ยงต่ำมาก ประมาณ 24 เคส ต่อ 1 ล้านคน 2. โดยส่วนใหญ่จะพบ ในผู้ชายอายุไม่สูงมาก หลังได้รับเข็มสองไปแล้ว และ 3. ส่วนใหญ่ มีอาการไม่รุนแรงอะไร รักษาตัว ไม่กี่วันก็กลับบ้านได้"
          "ใครยังฉีดวัคซีน ไม่ครบ 2 เข็ม แนะนำ ฉีดให้ครบก่อน ยังไม่ต้องกังวลเรื่องวัคซีนเข็มที่ 3"
          ศ.คลินิก เกียรติ
          คุณนพ.อุดม คชินทร
          ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่สัมพันธ์กับ mRNA vaccine
          กรุงเทพธุรกิจ   ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ค โดยให้ ความรู้เรื่อง "ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่สัมพันธ์กับ mRNA vaccine" ระบุว่า ถึงวันนี้ทุกคนคงยอมรับแล้วว่า mRNA vaccine จาก Pfizer x BioNTech และ Moderna มีประสิทธิภาพในการกระตุ้น ภูมิคุ้มกัน ป้องกันการป่วยหรือ ติดเชื้อ COVID รวมถึงมีข้อมูลการศึกษามากที่สุดในปัจจุบัน
          นอกจาก ปัญหาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) แล้ว AEFI (adverse event following immunization) ที่คนพูดถึงมากคือ "ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" (CDC รวมข้อมูลแล้วจัด myocarditis และ pericarditis )รายงานจาก ACIP ของ CDC เผยแพร่ใน MMWR ฉบับล่าสุด เมื่อ 2 วันก่อน รวบรวมข้อมูลจาก Vaccine Adverse Event Reporting System (VAERS) ของผู้ที่ได้รับวัคซีน ซึ่งทั้งประเทศ ได้รับไปแล้ว 296 ล้านโดส (ถึงวันที่ 11 มิ.ย.) เป็นกลุ่มคนอายุ 12-29 ปี รวม 52 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มแรก 30 ล้านโดส และ เข็มสอง 22 ล้านโดส
          ในข้อมูล VAERS มีผู้ที่เกิด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ทั้งสิ้น 1,226 ราย อายุเฉลี่ย 26 ปี แต่เนื่องจากการเก็บข้อมูลนี้รวมทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น หลังฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนก็ตาม ดังนั้น จะมีผู้ที่เกิด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ส่วนหนึ่งเกิดจากสาเหตุอื่นทั่วไป
          CDC ทำการ review ข้อมูลผู้ที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) หลังฉีดวัคซีนทุกรายที่อายุน้อยกว่า 30 ปี และเข้าเกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นแน่นอน 323 ราย มีอายุเฉลี่ย 19 ปี ชาย:หญิง มีสัดส่วน 9:1 เกิดอาการเฉลี่ย 2 วันหลังได้วัคซีน โดยเกือบทุกคนจะมีอาการ ภายใน 7 วัน อาการไม่รุนแรง และ เกือบทั้งหมดหายกลับบ้านได้ด้วยการรักษาตามอาการ หรือกินยาต้านการอักเสบ ไม่มีใครเสียชีวิต
          การจำแนกกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มที่มีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) สูงสุดคือผู้ชาย อายุระหว่าง 12-17 ปี รองลงมาคือ 18-24 ปี โดยพบสูงสุดในกลุ่มนี้คือราว 7 คน ใน 1 แสนคน เมื่อเทียบกับประโยชน์ในการ ป้องกันการติดเชื้อ/ป่วย/ป่วยหนัก/ เสียชีวิตแล้ว ความเสี่ยงต่อการเกิด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นน้อยกว่าประโยชน์ของวัคซีนมาก โดยสรุป ACIP CDC ยังคงแนะนำให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีน โดยยังคงรวบรวมข้อมูล AEFI และผลระยะยาวต่อไป
          ซิโนแวค 2 แอสตร้าฯ 1 กัน'เดลตา'ได้
          กรุงเทพธุรกิจ   "ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา" หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุผ่านเฟซบุ๊ค ถึงผลการศึกษาขั้นต้น วัคซีนที่มีในไทย สูตรไหนใช้ต่อกร Covid สายพันธุ์เดลตาได้ พบว่า ซิโนแวค 2 เข็ม แม้ระดับ Neutralize antibody ขึ้น 80-90% แม้ว่า จะวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อ สายพันธุ์อัลฟาได้บ้างแต่ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้
          แต่ในคนที่ได้แอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็มและมีระดับ Neutralize antibody ที่สูงเกิน 90% สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดีระดับหนึ่ง และ ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ B.1.1.7 เมื่อ wave3 ที่ผ่านมา เมื่อได้รับการกระตุ้นด้วย แอสตร้าเซนเนก้าเข็มเดียว ให้ระดับการป้องกันสายพันธุ์ เดลตาได้ เทียบเท่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
          ส่วนผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ B.1.1.7 อีกคน แม้ว่าจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อัลฟาที่สูงแต่กับ เดลตา กับมีน้อยมากวัคซีนสูตรผสม ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า ให้ระดับการป้องกันสายพันธุ์เดลตา ได้ดีกว่าซิโนแวค 2 เข็ม แต่ไม่เท่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
          สุดท้าย ที่ดูแนวโน้มดีสุด คือ ผู้ที่ได้ ซิโนแวค 2 เข็ม + แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ที่เป็นอาสาสมัครในการทดสอบ มีระดับภูมิคุ้มกัน Neutralize antibody สูง 99% รวมถึง ค่า IC50 ต่อสายพันธุ์ เดลตา ในระดับสูงสุด


pageview  1206089    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved