HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 12/07/2564 ]
จัด ระบบดูแลผู้ป่วยโควิดในชุมชน ทางออกวิกฤติ รพ. เตียงเต็ม

  ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ยอดผู้ติดเชื้อใหม่สูงเกิน หลักครึ่งหมื่นรายต่อวัน ย่อมส่งผลต่อบริการโรงพยาบาล จนเกิน ศักยภาพจำนวนเตียงที่จำกัด และบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแล เฉพาะข้อมูลสายด่วน สปสช. 1330 ล่าสุดมีผู้ป่วยรอเตียงสะสมกว่า 2,000 คน
          จากข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 100 คน 80% เป็นผู้ป่วยมีอาการ ไม่มากเป็นกลุ่มสีเขียว 15% มีอาการป่วยเป็นกลุ่มสีเหลือง และร้อยละ  5 มีอาการหนักเป็นกลุ่มสีแดง นำมาสู่การจัดระบบบริการใหม่ ทั้งการ ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้าน (Home Isolation) และการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน (Community Isolation) เพื่อทำให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือและสีแดงเข้าถึงบริการที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
          ระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้าน กรมการแพทย์ มีมาตรการชัดเจน โดยผู้ป่วยต้องลงทะเบียนกับ รพ. เพื่อดูแลและติดตามโดยตรง เน้นผู้ป่วยที่มีศักยภาพกักตัวที่บ้านได้ แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่รอเตียงและไม่มีศักยภาพกักตัวที่บ้าน การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน (Community Isolation) จึงเป็นทางออก โดย 23 ชุมชน เชื่อมโยงระบบบริการกับโรงพยาบาลปิยะเวช ความร่วมมือองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน และการสนับสนุนของ สปสช. นำร่อง Community Isolation ที่เป็นต้นแบบ
          "พญ.นิตยา ภานุภาค" ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมเอชไอวี (IHRI)เล่าที่มาว่า เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เรามีการจัดตั้งทีม Community Support Workforce โดยทีมงานจาก IHRI และเครือข่ายภาคประชาชน เช่น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นต้น ทำหน้าที่รับเคสโควิดในชุมชน ช่วยประเมินเบื้องต้น ประสานหาที่ตรวจคัดกรองและหาเตียง เห็นแนวโน้มจำนวนเคสที่เพิ่มมากขึ้น รพ. ไม่น่ารับไหว เราจึงทำระบบดูแลผู้ป่วยโดยชุมชนด้วยกันเอง และสำรองเตียงใน รพ. ให้ผู้ป่วยอาการปานกลางและหนัก
          ขณะเดียวกัน ได้ประสานชุมชนที่มีโควิดระบาดเพื่อขยายแนวทาง โดยอบรมแกนนำชุมชน 23 แห่ง เกี่ยวกับความรู้ดูแลผู้ป่วยโควิดเบื้องต้น พร้อมจัดตั้ง "ทีมคอมโควิดชุมชน" ทำงานร่วมกับ "ทีมคอมโควิดIHRI" ทันที พบผู้ป่วยใหม่ จะมีการส่งอุปกรณ์วัดอุณหภูมิ วัดออกซิเจนให้ พร้อมมอนิเตอร์วันละ 2 ครั้งระหว่างรอเตียง
          การที่กรมการแพทย์เดินหน้าระบบ Home Isolation และ Community Isolation เป็นสิ่งที่ตรงกับแนวทางที่เราทำอยู่ ซึ่งมีชุมชนที่พร้อมทำอยู่แล้ว และตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยินดีสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งค่าอาหาร 3 มื้อ จะทำให้เกิดการดูแลผู้ป่วยโควิดในชุมชนอย่างเต็มที่ นำมาสู่การจัดระบบ Community Isolation ใน 23 ชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลปิยะเวทในการดูแล
          "สิ่งที่ต้องเน้นย้ำ คือมาตรการการดูแลต้องไม่ต่ำกว่า Hospital เพื่อสร้างความมั่นใจต่อระบบให้กับประชาชน ทันทีที่ผู้ป่วยที่ดูแลในชุมชนขยับไปสีเหลือ ต้องได้รับการส่งต่อที่รวดเร็ว รวมถึงต้องมีการคัดกรองที่มั่นใจในระดับอาการผู้ป่วย เช่น การเอกซเรย์ปอด การวัดค่าออกซิเจน เป็นต้น"
          "นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี" เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. พร้อมสนับสนุนการจัดระบบ Home Isolation และ Community Isolation อย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโควิดได้รับการดูแลโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ยังมีผู้ป่วยที่รอคิวเตียงอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมา นอกจากการเพิ่มรายการบริการเพื่อสนับสนุนแล้ว ยังได้เร่งประสาน แกนนำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. และเครือข่ายประชาชน ในการขยายจัดตั้ง Community Isolation การประสานความร่วมมือกับฟู้ด เดลิเวอรี่ เพื่อส่งอาหารให้ผู้ป่วยโควิด
          "สิ่งสำคัญที่สุด การทำระบบนี้ได้ต้องเกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชนด้วยกัน เท่าที่ทราบมีหลายชุมชนที่สนใจร่วมจัดตั้ง ส่วนงบประมาณในบัตรทองไม่เป็นปัญหา เรายินดีสนับสนุน เพื่อให้ เกิดการใช้ทุกกลไกที่มีอยู่ขณะนี้ มาสนับสนุนให้ประเทศผ่านวิกฤติ ครั้งนี้ไปได้" เลขาธิการ สปสช. กล่าว


pageview  1206089    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved