HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 15/07/2564 ]
สภากาชาดดีล โมเดอร์นา ล้านโดส สธ. ลุยขยายเวลาส่งมอบแอสตร้า

 สธ.ขยายสัญญาส่งมอบแอสตร้า ถึง พ.ค.65 ยันปรับสูตรไม่ส่งผลต่อปริมาณ พร้อม ชง ศบค.เคาะแนวทางฉีดวัคซีนสลับ  ด้านสภากาชาด เผยดีลโมเดอร์นา 1 ล้านโดส เข้ามาพร้อมโควตาเอกชน ล็อต 5 ล้านโดส รอ อภ.เซ็น เผยฉีดประชาชนฟรี ส่วนหมอบุญมั่นใจซื้อไฟเซอร์สำเร็จ "นายกฯ"ขอให้เชื่อมั่นวัคซีนที่มี พร้อมจัดหาเพิ่ม
          ความเคลื่อนไหวหลังจากกระทรวงสาธารณสุข ปรับแผนคุมการส่งออกวัคซีน และเพิ่มกรอบจัดหา ทั้งจำนวนและชนิดที่เปิดกว้างขึ้น มีความคืบหน้า การจัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 61 ล้านโดส ต้องเลื่อนไปเดือน พ.ค.ปี2565
          นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน แห่งชาติ ชี้แจงว่า ได้รับจดหมายจากแอสตร้าเซนเนก้า ว่า จะส่งมอบได้ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตซึ่งอยู่ใน ระดับ 15-16 ล้านโดสต่อเดือน เพราะเป็นช่วงแรก ของการผลิต จะอยู่ที่ราว 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ทางสยามไบโอไซเอนซ์ และแอสตร้าฯก็หาทาง เพิ่มกำลังการผลิต และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้รับฟัง สถานการณ์ร่วมกัน และรับทราบข้อจำกัดต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนให้ได้เพิ่มเติม
          โดยการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชากรไทย ในปี 2565 ประกอบด้วย การจัดหาวัคซีนในกรอบ 120 ล้านโดส โดยเร่งรัดเจรจาการจัดหาวัคซีน โดยพิจารณา ดำเนินการกับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง ที่จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่มากรกลายพันธุ์ นอกเหนือจากไวรัลเวคเตอร์ เช่น วัคซีนเชื้อตาย และ mRNA โดยให้มีเป้าหมายการส่งมอบได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2565
          กรณีจำกัดการส่งออกได้หรือไม่นั้น ผู้อำนวยการ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ของรัฐบาล เพราะเป็นการตัดสินใจร่วมกัน เป็นการ เข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน เพราะการผลิตวัคซีนเป็น การผลิตและใช้ไปไม่ได้มีสต็อก และในสถานการณ์ที่มีความต้องการวัคซีนทั่วโลก ในประเทศอื่นๆ ก็ประสบภาวะขาดแคลนอยู่ มีบางประเทศ เท่านั้นที่มีวัคซีนอยู่แล้วคือประเทศที่มีการจองซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ปีที่แล้ว
          นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรม ควบคุมโรค กล่าวในการเสวนาวิชาการวัคซีนโควิด-19  สำหรับสื่อมวลชนถึงการบริหารจัดการวัคซีน ของไทยว่า ประเทศไทยสั่งวัคซีนมา 2 ตัว โดยก่อนหน้าที่มีการระบาดของโควิด ได้มีการพิจารณา วัคซีนที่เหมาะสม โดยไทยเจอโควิดปี 2563 แต่ควบคุมการระบาดได้ดี ตอนที่จองก็ใช้ได้ดี ในประเทศไทย ทั้งการเก็บรักษา และมีโอกาส ผลิตในไทย คือ ไวรัล เวกเตอร์ คือ แอสตร้าฯ ซึ่งจองไว้ 61 ล้านโดส
          แต่เมื่อมีการระบาดเพิ่ม ได้จองวัคซีนซิโนแวค ชนิดเชื้อตาย เพราะเป็นวัคซีนที่นำเข้าไปเร็วที่สุด ส่วนไฟเซอร์ โมเดอร์นา ไม่สามารถซื้อได้ ณ เวลานั้น เพราะต้องจองหลายเดือน จึงได้ซิโนแวคมาในเดือน ก.พ. และนำมาฉีดในการควบคุมการระบาด ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ได้รับไปก่อนหน้านั้น  เรียกว่า ซิโนแวคมาเสริมในขณะที่รอวัคซีน อื่นๆ ส่วนแอสตร้า มาเรื่อยๆ อย่างเดือนมิ.ย.ได้ 6 ล้านโดส รวมๆวัคซีน 2 ตัวตกเดือนละ 10 ล้านโดส และฉีดได้เฉลี่ยวันละ 3 แสนโดส บางวันเกิน 3 แสนโดส
          ส่วนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส จะยังมา ไม่ทันปี2564 หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า เหลืออีก 5 เดือนเศษ หากสถานการณ์ระบาดไม่รุนแรงก็จะทยอยฉีดไปถึงสิ้นปี แต่เดือน ม.ค. รัฐบาลพิจารณาสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ จึงมอบให้กรมควบคุมโรคอีก 35 ล้านโดส โดยรวม 61 ล้านโดส
          "ด้วยความที่บริษัทอยู่ในไทย ผลิตในไทย แต่มีออเดอร์จากต่างประเทศ ซึ่งบริษัทก็พยายามให้ได้มากที่สุด โดยเราจอง 1 ใน 3  ของกำลังผลิตแต่ก็ได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังเพิ่มผลผลิต บอกไม่ได้ว่าจะส่งทัน หรือส่งไม่ทันในปีนี้ เพราะมีความพยายามเทคโนโลยีการผลิตก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นไปได้ก็คงจะได้วัคซีนมากที่สุดตามโควตาที่จองไว้"
          ขยายเวลาส่งมอบแอสตร้าพ.ค.65
          นพ.โสภณ กล่าวว่า การส่งมอบมี ไทม์ไลน์กว้างๆ หมายความว่า หากบริษัทจะส่ง เกินไปปีหน้าก็สามารถดำเนินการได้ เพราะสัญญากำหนดไว้ก่อนมีวัคซีนจริง ดังนั้น ในเรื่อง ระยะเวลาแต่ละเดือนจึงไม่ได้บอกว่าจะส่งเท่าไหร่ ที่เห็น คือ 6 ล้านในเดือน มิ.ย. และ 10 ล้านในเดือน ก.ค. ถึง พ.ย. และจบท้าย 5 ล้านโดสเดือน ธ.ค. ตรงนั้นเป็นศักยภาพการฉีดวัคซีนในประเทศไทย เพราะเคยประมาณการณ์ หากเราต้องการเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน 70% หรือ 50 ล้านคน หรือ 100 ล้านโดสจะฉีดได้ทันหรือไม่ ซึ่งประมาณการณ์เบื้องต้นว่า หากใช้โรงพยาบาลทุกแห่งของ สธ. และรัฐส่วนอื่นๆ ประมาณ 1,000 แห่ง โดยรพ. ละ 500 คนต่อวัน ก็ได้ประมาณ 5 แสนโดส ต่อวัน คูณ 20 วันทำการก็ประมาณ 10 ล้านโดสต่อเดือน จึงเป็นที่มาของกำลังการฉีดและนำไปช่วยวางแผน
          "เท่าที่ดูแผนการส่งมอบวัคซีนของบริษัท บวกกับวัคซีนจากญี่ปุ่น 1 ล้านโดส ในเดือนนี้ จะมีมากกว่าเดือนที่ผ่านมา แม้จะปรับสูตรการฉีดซิโนแวคตามด้วยแอสตร้า เดิมเราฉีด แอสตร้าเป็นเข็มที่ 1 ทั้งหมด จะมีส่วนหนึ่งที่เข็ม 1 มาใช้ซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้า  เมื่อคำนวณตัวเลขการเตรียมวัคซีนแอสตร้า เพิ่มเข็มที่ 2 บวกกับของผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง หากวัคซีน 10 ล้านโดส จะมากกว่าเดือนที่แล้วจะดำเนินการได้ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนต่อไปมากกว่า"
          ชงศบค.เคาะฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อวันนี้
          ทั้งนี้ การใช้วัคซีนสลับชนิดคณะกรรมการ ได้พิจารณา 2 สูตรคือสูตรแรก เป็นการฉีด ซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สอง ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ส่วนสูตร 2 เหมือนเดิมคือแอสตร้าฯตามด้วยแอสตร้าฯ ซึ่งจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  ฉีดแอสตร้าฯ ไปแล้วเข็มแรก จะได้รับวัคซีน แอสตร้าฯ เข็มที่สอง เนื่องจากไม่มีคำแนะนำสลับ
          โดยในวันนี้ (16 ก.ค.) จะนำเรื่องนี้เข้า ที่ประชุม ศบค. หากนายกรัฐมนตรีและศบค. เห็นชอบก็จะแจ้งอย่างเป็นทางการต่อไป โดยจะเริ่มในต้นสัปดาห์หน้า ส่วนโรงพยาบาลที่ดำเนินการไปแล้วก็ถือว่าดำเนินการได้ตามแนวทางที่เคยได้ให้แนวทางไว้
          วันเดียวกัน นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวยอมรับในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า ในสัญญากับแอสตร้าฯ เน้นการพูดคุยเจรจา ระบุแค่จำนวน ไม่ได้ระบุระยะเวลาการจัดส่ง แอสตร้าฯ จะยืดเวลาส่งมอบไปจนถึงเดือน พ.ค. ปีหน้า แต่หากทางบริษัทสามารถผลิตได้จำนวนมากขึ้นก็จะส่งมาให้ก่อน ตอนนี้แอสตร้าฯ ระบุว่าจะจัดส่งให้ไทย 40% ของกำลังการผลิต ซึ่งขณะนี้ผลิตได้ 15 ล้านโดสต่อเดือน และในอนาคตอาจจะผลิตได้มากกว่านี้
          นายสาธิตกล่าวถึงคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีมติอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ กำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนด้วยว่า เป็นข้อเสนอของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แต่ได้มีการให้สถาบันวัคซีนฯ และกรมควบคุมโรค ไปเจรจากับทางบริษัทแอสตร้าฯก่อน เพราะแต่ละฝ่าย มีข้อจำกัด เน้นการเจรจาให้ได้ดีที่สุด ในส่วนจะมีการบังคับใช้ข้อกฎหมายหรือไม่นั้น ในส่วนนี้ถ้าใช้จะต้องเป็นสถานการณ์ ที่เหมาะสมเท่านั้น
          สภากาชาดดีลโมเดอร์นาล้านโดสฉีดฟรี
          น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 เปิดเผยว่า นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย ได้ชี้แจง ต่อ กมธ. ได้เจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโมเดอร์นาเสร็จสิ้นแล้ว 1 ล้านโดส เหลือเซ็นสัญญา ซึ่งเป็นขั้นตอนขององค์การเภสัชกรรม เป้าหมายวัคซีนดังกล่าวจะฉีดให้กับประชาชนฟรี คาดว่าน่าจะเข้ามาพร้อมกับล็อต 5 ล้านโดส ที่โรงพยาบาลเอกชนมีคำสั่งซื้อไปก่อนหน้า
          'หมอบุญ'มั่นใจเซ็นสัญญาไฟเซอร์
          วานนี้ (15 ก.ค.) นพ.บุญ วนาสิน ประธาน กรรมการบริษัท กลุ่ม ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) กล่าวแสดงความมั่นใจในการเซ็นสัญญา ซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดสกับไบออนเทค เยอรมนี กระบวนการที่แจ้งไว้ยังเหมือนเดิม กำหนดนำเข้าตามที่ระบุไว้ คือเดือน ก.ค.2564
          ส่วนกระแสข่าวที่อ้างว่าข้อเท็จจริงไม่มีคำสั่งซื้อหรือการตอบรับจากต้นทางนั้น เป็นเรื่องปกติที่มีการปฎิเสธจากผู้ขาย เพราะเป็นเรื่องทางกฎหมาย ห้ามเปิดเผยข้อมูลการเจรจาระหว่างกัน จนกว่าจะมีการเซ็นสัญญา ประกอบกับสัญญาที่จะเซ็นสัญญากันมีมากถึง 40 หน้า และมีฝ่ายกฎหมายพิจารณาจึงอาจต้องใช้เวลา
          นายกฯขอเชื่อมั่น-มีแผนซื้อmRNA
          นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าวัคซีนที่รัฐบาลเร่งจัดหาให้เป็นวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกเพื่อให้บริการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนทั้ง 3 ยี่ห้อ  เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนหลัก ส่วนซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกนั้น มีประสิทธิภาพสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดอาการรุนแรงของผู้ติดเชื้อ
          ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้มีแผนการนำเข้าวัคซีนต่างเทคโนโลยี คือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ซึ่งเป็นเทคโนโลยี mRNA และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งเป็นไวรัล เว็กเตอร์ เช่นเดียวกับ แอสตร้าเซนเนก้า โดยนายกฯเห็นว่า วัคซีนยังคง เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับระบาดของโควิดไปอีกอย่างน้อยใน 1-2 ปีข้างหน้า


pageview  1206088    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved