HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 25/03/2564 ]
ประจวบฯขอพื้นที่ ตชด.กักตัว หลังพบลอบเข้าเมืองติดโควิด

  กรุงเทพธุรกิจ   ศบค.พบติด "โควิด-19" รายใหม่ 69 ราย เฉพาะ กทม.43 ราย ไฟเขียว เที่ยวสมุทรสาครได้ ขณะที่ประจวบฯ ขอเปิดกองร้อย ตชด.กักคนลักลอบเข้าเมือง หลังพบติดเชื้อแล้ว 4 ราย หวั่นสงกรานต์การ์ดตก ยกบทเรียน 10 ประเทศ สธ.เผยไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 เกิน 1 แสนโดส แผนกระจาย วัคซีนล็อตสอง 8 แสนโดส  22 จังหวัด
          ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันที่ 24 มี.ค.2564 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดย พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แจ้งถึงจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 69 ราย แบ่งเป็นพบจากระบบเฝ้าระวัง และบริการ 44 ราย ในกรุงเทพมหานคร(กทม.) 30 ราย จ.ตาก 2 ราย นครปฐม 1 ราย นนทบุรี 1 ราย ปทุมธานี 2 ราย สมุทรปราการ 1 ราย สมุทรสาคร 6 ราย หนองบัวลำภู 1 ราย
          ในส่วนที่พบจากการคัดกรองเชิงรุก 17 ราย พบใน กทม.13 ราย ปทุมธานี 1 ราย สมุทรสาคร 3 ราย และผู้เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค(Quarantine) 8 ราย ผู้ป่วยสะสม 28,346 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 92 ราย เฉพาะระบาดรอบใหม่ผู้ติดเชื้อสะสม 24,109 ราย เสียชีวิตสะสม 32 ราย
          พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่ จ.สมุทรสาคร ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9 ราย  ตัวเลขเล็กลงอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากการทำงานหนักของทีมพื้นที่ และความร่วมมือของชาวสมุทรสาคร รวมถึงผู้ประกอบการสถานบริการ ตลาด ห้างร้านต่างๆ
          ถึงวันนี้สมุทรสาครกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะมีการเปิดเดินรถโดยสารวันแรก เมื่อขนส่งเปิดแล้วแสดงว่าสามารถเดินทางข้ามพื้นที่ได้ คนภายนอกก็สามารถเดินทางไปแวะไปท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ ซึ่งผู้ติดเชื้อในสมุทรสาครกระจายวงเล็กลงเรื่อยๆ รายงานผู้ติดเชื้อค่อนข้างกระจุกอยู่ที่ อ.เมืองและบางตำบลเท่านั้น หมายความว่าการติดเชื้อยังมีอยู่ แต่เป็นตัวเลขที่น้อยกว่า 1-2 % หมายความว่าระบบสาธารณสุขในพื้นที่ยังสามารถควบคุมป้องกันได้ ดังนั้นอยากให้เกิดความมั่นใจ
          ศูนย์กักบางเขนไม่พบติดเชื้อเพิ่ม
          พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า กรณีการเจอผู้ต้องกักที่หลบหนีเข้าเมืองในศูนย์กักบางเขนกว่า 300 รายนั้น สำนักงานตรวจคนเมือง(สตม.)และกรมควบุคมโรค ได้เข้าไปกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรค ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายจากการติดเชื้อในสถานที่ดังกล่าวไปยังพื้นที่นอก ศูนย์ รวมทั้งการดูแลบุคลากร เจ้าหน้าที่ ปฏิบัติงานให้ได้รับการตรวจหาเชื้อ ทุกราย ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ยังมีการตรวจหาเชื้ออยู่ แต่ตัวเลขวันนี้เป็น 0 ราย
          ประจวบฯเปิดตชด.ดูแลผู้ติดเชื้อ
          พญ.อภิสมัย กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า มีจุดผ่านแดนช่องทางธรรมชาติ 50 จุด ใน 8 อำเภอ มีแนวตะเข็บติดประเทศเมียนมา 280 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2564 พบว่ามีการทำผิดกฎหมาย ผู้ผ่านแดนเข้ามาแบบผิดกฎหมาย 33 คน นำไปควบคุมไว้ที่ สภ.เมืองและเรือนจำประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งการตรวจโควิด-19 ทันทีที่แนวชายแดน ผลตรวจเป็นลบ กระทั่งย้ายผู้ต้องกักมาที่สถานกักกันตรวจโควิดครั้งที่ 2 พบว่าจาก 33 คน พบติดโควิด 4 คน จึงมีการระดมตรวจพนักงาน 70 กว่าคน และเข้าสู่มาตรการกักตัวป้องกันการแพร่ระบาดด้วย
          คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ประจวบ คีรีขันธ์ เสนอขอให้มีการจัดสถานที่กักกันในพื้นที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) และมีการดูแลให้เกิดการกักตัวตามมาตรฐานสาธารณสุข 14 วัน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ทำผิดกฎหมาย ต้องมีการดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยด้วย มีการล้อมรั้วลวดหนาม เมื่อดูแลแล้วก็ต้องสั่งฟ้องตามกฎหมาย และผลักดันกลับประเทศ
          จี้สถานประกอบการทบทวนมาตรการ
          พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า คลัสเตอร์โรงงานทำขนมที่เขตบางขุนเทียน  17 ราย  จากการลงสอบสวนในพื้นที่ของกรมควบคุมโรค มีสิ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ คือ โรงงานนี้มีหน้าร้านมีคนผ่านเข้าออกตลอด มีการแบ่งเป็นแผนก และมีการวัดอุณหภูมิตามมาตรการ แต่ยังไม่ครบถ้วน และหละหลวม
          ส่วนที่พักคนงาน อาศัยรวมในอาคารพาณิชย์แห่งนี้ 70 คน และแบ่งเป็นห้องเช่า แต่มาตรการลงทะเบียน คัดกรองผ่านเข้าออกไม่มี มีทำในบางจุดเท่านั้น เมื่อมี 1 คนติดเชื้อก็แพร่ไปคนอื่นได้โดยง่าย จึงอยากให้ทบทวนในสถานประกอบการ ร้านค้า โรงงาน ตลาด พื้นที่ชุมชน เพราะไม่มีโอกาสรู้เลยใครเป็นผู้ติดเชื้อ หลายครั้งเจอไม่มีอาการ อาจเป็นคนที่ใช้ชีวิต เป็นปกติอยู่รอบตัว เพื่อนบ้าน หรือคนในครอบครัว
          กรณีโรงงานทำขนมนี้ ผู้ที่พบรายงานรายแรกเป็นผู้ที่เข้าไปรับการตรวจสุขภาพเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวจึงพบติดเชื้อรายแรก ทางกรมควบคุมโรคติดตามค้นหาเชิงรุก จึงไปตรวจพบที่โรงงานทำขนมนี้ สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการที่มีอยู่ และหลายคนกำลังอ่อนล้า กรณีนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่ายังลดมาตรการไม่ได้ เหนื่อยล้าจริง แต่ไม่สามารถผ่อนคลายเร็วเกินไป ถ้าสงกรานต์การ์ดตกอาจเป็นช่วงทำให้เกิดการติดเชื้อและแพร่ระบาดได้
          ไทยฉีดวัคซีนโควิดทะลุแสนโดส
          ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 24 มี.ค.64 เช่นกัน โดยนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)กล่าวว่า โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ดังนั้นวัคซีนจึงถือเป็นการใช้ในกรณีฉุกเฉิน ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนใช้ 2 ชนิด คือ 1.วัคซีนชนิดเชื้อตาย ของซิโนแวค และ2.วัคซีนชนิดไวรัล แว็กเตอร์ ของแอสตราเซเนก้า
          โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยตั้งแต่ 28 ก.พ.-23 มี.ค.2564 สะสมรวม 102,050 โดส รวม 96,188  ราย แยกเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 96,188 ราย และผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 5,862 ราย ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสจะได้รับเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นแบบกระดาษ และแบบดิจิทัล โดยจะมีรายละเอียด วันที่ฉีดเข็มที่ 1-2 สถานที่ฉีด และลายมือชื่อ ผู้รับรอง
          หากเป็นแบบดิจิทัล จะมีคิวอาร์โคดสแกนเพื่อยืนยันว่าเป็นสิ่งถูกต้อง ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขสำหรับใบรับรองการได้วัคซีนโควิด-19 สามารถนำไปยืนยันว่าบุคคลนั้นฉีดวัคซีนแล้ว ใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกัน หากต้องการเดินทางไปต่างประเทศ ใช้เป็นใบรับรองเริ่มต้น และไปขอสมุดเล่มเหลืองในผู้ที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ แต่เงื่อนไขการใช้สมุดเล่มเหลือง ต้องตกลงกับประเทศปลายทาง หรือตกลงหลายประเทศผ่านองค์การอนามัยโลก
          ประเทศไทยได้เตรียมระบบไว้รองรับแล้ว ในวันที่มีกฎกติกาเพิ่มเติมว่า คนเดินทางระหว่างประเทศต้องรับวัคซีนครบ ก็สามารถไปขอได้เลย ในสถานที่ที่กรมควบคุมโรคกำหนด
          แผนกระจายวัคซีน 8 แสนโดส
          นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า สำหรับการกระจายวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวคล็อต 2 จำนวน 8 แสนโดส แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.การควบคุมการแพร่ระบาดของโรค 3 แสนโดส 6 จังหวัด คือ สมุทรสาคร 1 แสนโดส กทม. 50,000 โดส อ.แม่สอด ตาก 75,000 โดส ปทุมธานี 25,000 โดส สมุทรปราการ 25,000 โดส และนนทบุรี 25,000 โดส
          2.ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 290,000 โดส 18 จังหวัด แยกเป็นจังหวัดท่องเที่ยว 240,000 โดส 8 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ จังหวัดละ 20,000 โดส ขอนแก่น กระบี่ พังงา จังหวัดละ 10,000 โดส อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 50,000 โดส และภูเก็ต 1 แสนโดส จังหวัดชายแดน 50,000 โดส 8 จังหวัด คือ สงขลา สระแก้ว จังหวัดละ 10,000 โดส เชียงราย มุกดาหาร ระนอง หนองคาย จันทบุรี นราธิวาส จังหวัดละ 5,000 โดส โดย22 จังหวัดนี้รวม 590,000 โดส
          โดยในจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนครั้งแรก ให้ฉีดบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยงก่อน และ 3.สำรองไว้อีก 210,000 โดส เพื่อให้กับบุคลากรสาธารณสุข


pageview  1205107    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved