HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 30/03/2564 ]
AI ตัวช่วยทำเด็กหลอดแก้ว แก้ปัญหาการมีบุตรยาก

  กรุงเทพธุรกิจ   สถานการณ์ ประชากรในปัจจุบันประเทศไทยเป็น 1 ใน 23 ประเทศ ที่มีงานวิจัยระบุว่า อีก 80 ปี ข้างหน้า จำนวนประชากรจะลดลงจาก 71 ล้านคน เหลือเพียง 35 ล้านคน สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลง ทางสังคม ค่านิยมอยู่เป็นโสด ผู้หญิงมี ความสามารถและการศึกษาที่สูงขึ้น ต้องการสร้างฐานะ และชะลอการสร้างครอบครัว
          ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) พบว่า สถิติอัตราการเจริญพันธุ์รวม ของประเทศไทยลดลงเหลือเพียง 1.5 คน ซึ่งเป็นอัตราเทียบเคียงกับประเทศญี่ปุ่น และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งอัตราที่เหมาะสม ควรจะอยู่ที่ 2.1 คน ส่งผลให้อนาคตประเทศไทยจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานและก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวจากการที่กลุ่มคนวัยทำงานตัดสินใจมีบุตรในช่วงอายุ ที่มากขึ้น ประกอบกับความเครียดจากการทำงาน ทำให้คู่สมรสหลายคู่หันมาพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ หากไม่ทำอะไรอีก 10 ปีข้างหน้า อัตราการเจริญพันธุ์อาจจะเหลือเพียง 1.3 คน
          "ผศ.นพ.พิทักษ์ เลาห์เกริกเกียรติ" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศิริราชและประธานกรรมการบริหารเจเนซิส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ (GFC) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการมีบุตรยาก ของคนไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจาก รอความพร้อมด้านการเงิน หน้าที่การงาน ส่งผลให้แต่งงานช้าลง โดยความต้องการมีบุตรอายุเฉลี่ยที่ 35-40 ปี ซึ่ง 85% ของคู่สมรส จะสามารถมีบุตรได้ภายใน 1 ปีหลังการแต่งงาน และ 95% ของคู่สมรสจะมีบุตรได้ภายใน 2 ปี ขึ้นไป ความสมบูรณ์ของไข่จะมีน้อยลงคุณภาพไข่ไม่ดี
          "ส่วนผู้หญิงที่อายุเกิน 48 ปี ไม่ควรท้องด้วยวิธีธรรมชาติ เนื่องจากเป็นช่วงที่สุขภาพและความพร้อมของร่างกายไม่สมบูรณ์เต็มที่เหมือนช่วงวัยหนุ่มสาว ส่งผลให้เด็กที่เกิดมีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมได้ ดังนั้น การนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะวิธีทำเด็กหลอดแก้วและตรวจความสมบูรณ์ของโครโมโซม Next Generation Sequencing (NGS)"
          "ผู้หญิงที่อายุ 30 ขึ้นไปจำนวนไข่และคุณภาพไม่ค่อยดี กระทั่ง 35 ปี ลดลงอย่างเด่นชัด รวมถึงความผิดปกติทางด้านพันธุกรรมและหลายโรค ที่ทำให้คู่สมรสไม่ตั้งครรภ์ มีบุตรยาก แท้งบุตรหรือภาวะดาวน์ซินโดรม รวมถึงเมื่ออายุมากจะมีโรคต่างๆ เช่น ซีส ทำให้มีผลต่อการมีบุตร ที่ผ่านมา พบว่าหลายคนอายุ 32-33 ปี  แต่มาพบแพทย์ด้วยปัญหาไม่มีประจำเดือน อยากมีลูก แต่ฮอร์โมนที่ทำให้มีไข่ไม่มีแล้ว ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุทั้งสิ่งแวดล้อม สารเคมี อาหาร อาจส่งผลต่อสุขภาวะทางร่างกายและรังไข่" ผศ.นพ.พิทักษ์ กล่าว
          นำมาซึ่งการก่อตั้ง GFC  เพื่อแก้ปัญหา การเพิ่มประชากรของไทย สร้างเด็กที่มีคุณภาพ เติมเต็มชีวิตของครอบครัว โดยรวบรวม ผู้เชี่ยวชาญทั้งเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ดูแล ผู้มีบุตรยาก นักวิทยาศาสตร์ สูติแพทย์และ นักธุรกิจ รวมถึงพยาบาล เพื่อเติมเต็มความฝัน ของผู้มีบุตรยากมากกว่า 4 ปี ปัจจุบัน อัตราความสำเร็จอยู่ที่ 70% โดยเป็นลูกค้าชาวไทย 90% และกลุ่มสามีหรือภรรยาเป็นคนไทยกับคนต่างชาติ10% ในปี 2562 การให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศราว 4,500 ล้านบาท
          ด้าน "พญ.ปรวัน ตั้งธรรม" แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์  ของ GFC  และผู้ก่อตั้งเพจ มีลูกยาก ปรึกษาหมอมิ้งค์ กล่าวเสริมว่า คนที่เข้ามาปรึกษา มีบุตรยากมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สำหรับผู้หญิง ปัญหาจะเป็นไปตามกายภาพตั้งแต่รังไข่ ท่อนำไข่ ไข่น้อยตามอายุที่เพิ่มขึ้น ท่อรังไข่อุดตัน เนื้องอกในมดลูก ฯลฯ
          ส่วนผู้ชาย เป็นปัญหาน้ำเชื้อเป็นหลัก คือน้ำเชื้อน้อยลง น้ำเชื้อไม่สมบูรณ์ ฯลฯ ส่วนใหญ่แนะนำให้มาพบแพทย์ทั้งสองคนเพื่อประเมินทั้งสองฝ่าย โดยตรวจภายใน ผู้หญิง และตรวจเลือด ส่วนผู้ชายตรวจน้ำเชื้อ จะสามารถรู้ข้อมูลทั้งหมด พอได้ข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนร่วมกันถึงแนวทางรักษาเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้มากที่สุด
          ทั้งนี้ เทคโนโลยี มาตรฐานในแล็ปของ GFC มีมาตรฐาน แต่การเพิ่มโอกาสสำเร็จ คือ การหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย ปัจจุบันมีเทคโนโลยีชื่อ Eeva  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเลือกตัวอ่อนใหม่ล่าสุดที่ GFC Clinic นำมาใช้เป็นแห่งแรก ซึ่งมีใช้ในต่างประเทศมาแล้ว กว่า 5 ปี เทคโนโลยีดังกล่าว สามารถเลือกตัวอ่อนได้มีประสิทธิภาพและแม่นยำ เนื่องจากมีการนำระบบ AI มาใช้ในการตรวจจับการเติบโตของตัวอ่อน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคัดเลือกตัวอ่อนที่ดีที่สุดในการนำมาฝังตัว
          ซึ่งเมื่อทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการตรวจ NGS จะสามารถเพิ่มอัตราการ ตั้งครรภ์สูงถึง 73% เมื่อเทียบกับมาตรฐาน ที่อื่นซึ่งมีอัตราตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 30-50% สำหรับจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ การเป็น ตู้เลี้ยงตัวอ่อนแยกของแต่ละเคส โดยตู้เลี้ยง 1 ตู้สำหรับ1 คนไข้ ไม่ใส่รวมปะปนกัน เพื่อลดการรบกวน พร้อมควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม ผู้หญิงซึ่งเป็นสาวโสดอายุยี่สิบปีปลายๆ ถึงสามสิบ ซึ่งมีแพลนที่จะทำการฝากไข่ สามารถเข้ามาปรึกษาได้ หรือบางคู่ที่แต่งงานแต่ไม่พร้อมมีบุตร สามารถฝากไข่ และตัวอ่อนได้เช่นกัน
          พญ.ปรวัน กล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนการฝากไข่ จะเริ่มจากฉีดยากระตุ้นไข่ประมาณ 10-12 วัน และเก็บไข่ในห้องผ่าตัดเล็กเพื่อดูดไข่ออกมาจากช่องท้อง ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที เพื่อแช่แข็งเก็บไว้ในอนาคตโดยตามมาตรฐานสามารถอยู่ได้ประมาณ 5 ปี หากนานกว่าคุณภาพอาจจะเสื่อมลง
          "ตามหลักการฝากไข่ยิ่งเร็วยิ่งดี แต่หากเจอบ่อยที่สุด จะอยู่ในช่วง 30-35 ปี พอฝากไข่เรียบร้อยหากอยากจะมีลูก อันดับแรกต้องแต่งงานก่อน และต้องมีทะเบียนสมรสถึงจะสามารถละลายไข่ออกมาผสมได้ เมื่อเอกสารเรียบร้อยต้องมาแจ้งทางคลินิกเพื่อละลายไข่ออกมาและให้สามีเก็บน้ำเชื้อ เข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ปัจจุบันคนนิยมมาฝากเยอะขึ้นเพราะเริ่มเข้าใจ"
          อย่างไรก็ตามปัจจุบันกฎหมายไทยกำหนดว่า จะทำเด็กหลอดแก้วด้วยการละลายไข่ ต้องมีการจดทะเบียนสมรส และมีกฏหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับบริจาคไข่ อุ้มบุญ ตรวจโครโมโซมตัวอ่อน  เพื่อให้การดำเนินการ อยู่บนพื้นฐานในหลักการที่ถูกต้อง


pageview  1205134    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved