HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 18/06/2563 ]
สุขภาพจิตช่วง โควิด-19 บุคลากรฯ-คนไทย เครียดพุ่ง

 ผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทยรอบที่6 ช่วงโควิด-19 ระบาด พบบุคลากรทางการ แพทย์-ประชาชน เครียดระดับมาก-ภาวะหมดไฟ-ซึมเศร้า-คิดทำร้ายตัวเองเพิ่มขึ้น รวมทั้ง กังวลกลัวติดเชื้อและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่เชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขและจังหวัดของตนเองถึง 99%
          กรุงเทพธุรกิจ  เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่า จากการประเมินสุขภาพจิตประชาชนในช่วงการระบาดโควิด-19 เป็นระยะ รวม 6 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดครั้งที่ 6 สำรวจวันที่ 26-30 พ.ค.2563 ทั้งในกลุ่มประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ โดยสำรวจใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ความเครียด พบว่า บุคลากรทางการ แพทย์มีความเครียดระดับมากเพิ่มขึ้น โดยเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 5 ซึ่งอยู่ที่ 4.8% เป็น 7.9% เช่นเดียวกับกลุ่มประชาชนเครียดระดับมากเพิ่มจาก 2.7% เป็น 4.2%
          2.ภาวะหมดไฟ พบว่าเพิ่มมากขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม โดยในส่วนของบุคลากรสาธารณสุข แม้ว่าการระบาดจะลดลง แต่ภาระงานยังเพิ่มขึ้นจากผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคอื่นๆ กลับเข้ามาเหมือนเดิม ส่วนประชาชนทั่วไปก็มีภาวะหมดไฟเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะความพยายามในการต่อสู้กับความยากลำบากทำให้เกิดความเหนื่อยล้าหมดไฟได้
          ซึ่งการสำรวจข้อนี้จะแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1.ด้านความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง หมดหวัง สูญเสียพลังงานทางจิตใจ บุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจาก 5% เป็น 6.5% ส่วนประชาชนเพิ่มจาก 3.3% เป็น 3.6% 2.ด้านการมองความสามารถในการทำงานลดลง ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจาก 3.1% เป็น 4.7% ประชาชนเพิ่มจาก 2.2% เป็น 3.2% และ3.ด้านการมองความสัมพันธ์ในที่ทำงานในทางลบ ระแวงง่ายขึ้น รู้สึกเหินห่างจากคนอื่น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจาก 4.1% เป็น 4.9% และประชาชนเพิ่มจาก 1.7% เป็น 2.6%
          3.ภาวะซึมเศร้า บุคลากรสาธารณสุข เพิ่มจาก 1.4% เป็น 3 % ประชาชน ซึมเศร้าเพิ่มจาก 0.9% เป็น 1.6 % และ4.ความคิดทำร้ายตัวเอง มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยบุคลากรการแพทย์ เพิ่มจาก 0.6% เป็น 1.3% ขณะที่ประชาชนเพิ่มจาก 0.7% เป็น 0.9% ทั้งนี้แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มากแต่ต้องระวัง และประเมินสถานการณ์ต่อไป เพราะภาวะซึมเศร้าเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง
          นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจเรื่อง ผลกระทบ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความกังวลด้านข่าวสาร และความเชื่อมั่นของคนไทย พบว่า ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนกลัวติดเชื้อและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น การรับรู้ ข่าวสารเกี่ยวกับโควิด ทั้ง 2 กลุ่มกังวล มากขึ้น แม้การระบาดจะลดลง เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อในสถานที่แยกกักอยู่ ด้านความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขและจังหวัดของตนเองนั้นประชาชนยังมีความเชื่อมั่นถึง 99% นับเป็นกำลังใจให้คนทำงานมากที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ
          "ขอย้ำว่าภาวะอารมณ์ของคนมีการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกัน แม้ภายนอกอาจจะดูเหมือนว่าปกติดีก็ตาม ดังนั้นขอให้ประชาชนช่วยกันสังเกตอารมณ์ตัวเอง สังเกตคนรอบข้าง คนในครอบครัวว่ามีปัญหาความเครียด ความกังวลอย่างไรหรือไม่ สังเกตง่ายๆ คือมีอาการซึมลงหรือไม่ นอนไม่หลับ ใช้สารเสพติด ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่มากขึ้นหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้กับตัวเอง หรือคนรอบข้าง ขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1323 เพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้น หากไม่ดีขึ้น จะได้ส่งต่อเข้ารับการรักษาต่อไป" นพ.จุมภฎ กล่าว
          นพ.จุมภฎ กล่าวอีกว่า แผนการดูแลสุขภาพจิต จะดู 3 ด้าน คือพลังใจ อึด ฮึด สู้ ระดับบุคคล 2.การทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง จับมือผ่านปัญหา และ 3.ทำให้ชุมชนสร้าง ความรู้สึกปลอดภัย มีหวังว่าจะผ่านความ ยากลำบากไปด้วยกัน ไม่กีดกันแบ่งแยก ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้ามีการระบาดรอบ 2 เราสามารถใช้แนวทางเดิมนี้ได้
          ก่อนหน้านี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต  อธิบายว่า ปัญหาความ เครียด วิตกกังวล จากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประชาชนในขณะนี้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั่วโลก และเมื่อเทียบกันแล้วความรุนแรงของผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับยังนับว่าน้อยกว่าอีกหลายๆ ประเทศมาก ดังที่ปรากฏแล้วว่าอัตราการติดเชื้อรายใหม่ ของเราลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่อัตราการเสียชีวิต จากโรคโควิด-19 ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป จึงทำให้เกิดภาพการขอกลับประเทศของ คนไทยในต่างแดนก็มีจำนวนมาก
          ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีจนเป็นที่ยอมรับ เพราะประเทศไทยมีจุดแข็ง หลายด้าน เช่น ประเทศเรามีระบบการควบคุม โรคที่ดีในระดับแนวหน้าของโลก, มีอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ผ่านการ พัฒนาอย่างต่อเนื่องมากว่า 40 ปี และประเทศเรามีจิตอาสาที่ประเทศอื่นไม่มีที่พร้อมดูแลช่วยเหลือกันและกันในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมทั้งมีระบบการเกษตร และธรรมชาติที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานได้
          ดังนั้นในสถานการณ์นี้ขอเพียงคนไทย ดึงพลัง "อึด ฮึด สู้" ที่มีอยู่ในตัวเองของทุกคน ออกมาใช้ ก็จะสามารถผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ แต่หากใครรู้สึกพลังหมด เครียดไปต่อไม่ไหว และมีสัญญาณที่บ่งบอก 3 ด้าน คือ ด้านร่างกาย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ตื่นเต้นตกใจง่าย ปวดศีรษะ ความดันสูง ด้านอารมณ์ หงุดหงิดง่าย มีความเครียด รู้สึกโกรธ ฉุนเฉียว ท้อแท้ ซึมเศร้า ด้านพฤติกรรม มีความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้างลดน้อยลง มีความก้าวร้าวมากขึ้น อดทนต่อสิ่งกระตุ้นได้น้อยลง ขออย่าเก็บไว้คนเดียวให้หาคนปรึกษา หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323
          การใช้พลัง "อึด ฮึด สู้" (Resilience) เพื่อสร้างกำลังใจที่เข้มแข็ง และต่อสู้เอาชนะอุปสรรค ที่ทำให้เราผ่านพ้นความทุกข์ไปได้ มีแนวทางคือ พลัง "อึด" คือ การทนต่อแรง กดดัน สามารถสร้างได้ด้วยการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ควบคุมอารมณ์ได้ดี รู้จักปรับอารมณ์ปรับความคิด คิดในเชิงบวกไม่ท้อถอยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต พลัง "ฮึด" คือพลังที่เมื่อเจอแรงกดดัน หรือเจอสถานการณ์ลำบาก แล้วสามารถมีแรงใจที่จะลุกขึ้นมาใหม่ สามารถสร้างได้จากการเพิ่มศรัทธาในชีวิต
          โดยมองว่าชีวิตยังมีความหวัง ถ้าเรารู้สึกไม่ไหวให้หาคนที่เราไว้ใจช่วย และที่สำคัญคือต้องมีกำลังใจ ซึ่งแต่ละคนสร้างและหาได้ ทั้งสร้างกำลังใจด้วยตัวเอง กำลังใจจากครอบครัว และ กำลังใจจากสังคมซึ่งประเทศไทยมีให้กันตลอดเวลา พลัง "สู้" เป็นพลังเสริมจากพลังฮึด เป็นพลังเอาชนะอุปสรรคต่างๆ สามารถสร้างได้ด้วยการปรับเป้าหมาย ปรับการกระทำ ปรับพฤติกรรม ให้หาทำอะไรในสิ่งที่พอทำได้ให้ทำไปก่อน อย่างไปคาดหวังมากจนเกินไป ที่สำคัญควรปรับเป้าหมายชีวิตให้เล็กลง เพื่อให้ยืนอยู่และผ่านพ้นวิกฤติสถานการณ์ไปได้
          ทั้งนี้จากหลายเหตุการณ์วิกฤติ ที่ผ่านมา คนไทยสามารถดึงพลังนี้ออกมาใช้ ทำให้สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ และสามารถจัดการกับความเครียดได้เป็นอย่างดี จึงเชื่อมั่นว่าหลังจากวิกฤติ โควิด-19 ครั้งนี้ คนไทยก็จะสามารถจับมือ ก้าวผ่านเพื่อสู่สังคมที่ดีกว่าไปพร้อมกันในอีกไม่ช้า


pageview  1205081    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved