HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 12/05/2563 ]
ศบค.คลายล็อก 15กิจการ พบติดเชื้อใหม่4รายไม่เกี่ยวผู้ป่วย - สธ.เตรียม2พันเตียงรับระบาดรอบสอง

  สมช.ชี้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องมั่นใจปลอดภัย
          กรุงเทพธุรกิจ ศบค.แถลงผู้ป่วยโควิดใหม่ 6 ราย เฉพาะภูเก็ต 4 รายน่าห่วง ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้า เผย 15 พ.ค. เคาะผ่อนปรนกิจการระยะ 2 ใน 3 กลุ่ม 15 กิจการ/กิจกรรม รวมคลินิกความงาม-นวดเท้า-ย้อมผม ใช้แอพฯติดตามลูกค้า ขณะที่กรมการแพทย์เตรียม 2 พันเตียง รองรับหากระบาดระลอก 2 สมช.เผยเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลัง 31 พ.ค. ต้องมั่นใจปลอดภัย ขณะที่ห้างเตรียมแผนเข้มคัดกรอง-ปลอดภัยก่อนเปิดให้บริการ
          สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นเป็นลำดับ นำไปสู่การพิจารณาผ่อนปรนคลายล็อกระยะที่ 2 ขณะเดียวกันยังคงมีผู้ป่วยใหม่บางพื้นที่ติดเชื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ นำไปสู่ความกังวลการแพร่ระบาดรอบใหม่ วานนี้ (11 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงพบผู้ป่วยรายใหม่6 ราย โดยรายแรกเป็นเด็กชาย อายุ 6 ปี มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโดยไข้คุณพ่อในจ.นราธิวาส รายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 19 ปี มีประวัติไปสถานที่ชุมชน ในจ.ภูเก็ต เริ่มป่วยด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ ถ่ายเหลว หายใจเหนื่อยในวันที่ 5 พ.ค.
          รายที่ 3 เป็นชายไทย อายุ 29 ปี อาชีพตำรวจ เริ่มป่วยด้วยอาการ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ ในวันที่ 2 พ.ค. รายที่ 4 เป็นหญิงไทย อายุ 23 ปี อาชีพพนักงานบริษัท พบลูกค้าเป็นบางโอกาส เริ่มป่วยด้วยอาการไข้ หายใจเหนื่อย เมื่อวันที่ 2 พ.ค. รายที่ 5 เป็น หญิงไทย อายุ 29 ปี พนักงานขายของในร้านค้า เริ่มป่วยด้วยอาการไข้ หายใจเหนื่อย ปวดกล้ามเนื้อในวันที่ 7 พ.ค. โดยรายที่ 2-5 พบที่จ.ภูเก็ตถือเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้
          รายที่ 6 ชายไทย อายุ 22 ปี เป็นผู้ป่วยที่พบจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก โดยเป็น ผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันที่กลับมาจากประเทศมาเลเซีย เริ่มป่วยด้วยอาการมีน้ำมูก และเสมหะในวันที่ 1 พ.ค. ภาพรวมประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม3,015 ราย รักษาหายแล้ว 2,796 ราย ยังรักษาโรงพยาบาล 163 ราย เสียชีวิตสะสม 56 ราย
          ถกผ่อนปรนกิจ15กิจการ/กิจกรรม
          สำหรับกิจการ/กิจกรรมที่จะได้รับการผ่อนปรนให้เปิดดำเนินการได้ในระยะที่ 2 นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังเป็นเพียงร่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากจะต้องมีการประชุมหารือร่วมกันของหลายฝ่ายอีกหลายรอบและจะพิจารณารอบสุดท้ายในการประชุม ศบค.วันที่ 15 พ.ค.นี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มประกอบด้วย
          1.กลุ่มกิจการ/กิจกรรม ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน แบ่งเป็น ก.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร และร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวานไอศกรีมในอาคารสำนักงาน ข.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ยกเว้น โรงภาพยนตร์ ฟิตเนส โบว์ลิ่ง สวนสนุก สวนน้ำ ศูนย์ประชุม และศูนย์พระเครื่อง สนามพระ พระบูชา ค.ร้านค้าปลีก ค้าส่งอื่นๆ และง.ร้านเสริมสวย ในส่วนของการย้อมผม ดัดผม หรือกิจกรรมอื่นๆที่ใช้เวลาให้บริการไม่เกิน 2 ชั่วโมง และร้านทำเล็บ
          2.กลุ่มกิจกรรม ด้านการออกกำลังกาย หรือการดูแลสุขภาพ ก.คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ควบคุมน้ำหนัก ข.สนามกีฬา เฉพาะกีฬากลางแจ้ง และตามกติกาสากลเป็นทีมไม่มีผู้ชม ค.สวนดอกไม้ สวนพฤษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แกลลอรี่ ห้องสมุดสาธารณะ(เข้าเป็นรายคน) ง.สถานประกอบการนวดแผนไทยเฉพาะนวดเท้า
          และ3.กลุ่มอื่นๆ เช่น การประชุม ณ สถานที่ภายในหรือภายนอกองค์กร ลักษณะบรรยายร่วมกับวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ (จำกัดคนตามพื้นที่) และทีมถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โฆษณา ถ่ายแบบ ทำคลิป (จำนวนไม่เกิน 5 คน )
          ทั้งนี้ ในข้อกำหนดที่จะมีการนำ แอพพลิเคชั่นมาดำเนินการกรณีที่ประชาชนไปใช้บริการในกิจการใด โดยแอพฯจะเป็นเหมือนการให้ผู้ใช้บริการกิจการนั้นๆเข้าไปเช็คอินว่าเคยมาใช้บริการที่นั้นที่นี้ เพื่อให้ติดตามตัวได้อย่างรวดเร็วหากในกิจการนั้นพบมีผู้ป่วยติดโควิด-19ขึ้นในภายหลัง เช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้นำมาใช้
          "อย่างกรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ก็สามารถระบุได้อย่างชัดเจนอย่างรวดเร็วว่ามีผู้เข้าไปในสถานบันเทิงนั้น 1,570 คนที่จะต้องมีการเฝ้าระวังการติดต่อไป เพราะเป็นผู้มีประวัติไปในสถานที่เดียวกับผู้ติดเชื้อ" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          เตรียม2พันเตียงรองรับระบาดใหม่
          นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 10 พ.ค.63 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีเตียงรองรับผู้ป่วยราว 2,263 เตียงในสถานพยาบาล 114 แห่ง จากทุกสังกัดทั้งโรงเรียนแพทย์ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม โรงพยาบาล ตำรวจ และเอกชน รวมถึง มีการเตรียมการหอผู้ป่วยเฉพาะกิจหรือฮอสพิเทลอีกกว่า 500 เตียง เชื่อว่าจะเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยหากเกิดการระบาดในระลอกที่ 2
          สำหรับยอดผู้ป่วยโควิด-19สะสมที่เข้ารับการรักษาแยกตามสังกัด เอกชน 897 ราย คิดเป็น 42.8% โรงเรียนแพทย์ 529 ราย คิดเป็น 25.2 % กรมการแพทย์ 224 ราย คิดเป็น 10.7 % กรมควบคุมโรค 214 ราย คิดเป็น 10.2% กรุงเทพมหานคร 147 ราย คิดเป็น 7 % กรมสุขภาพจิต 2 ราย คิดเป็น 0.1% กระทรวงกลาโหม 46 ราย คิดเป็น 2.2 % และโรงพยาบาลตำรวจ 38 รายคิดเป็น 1.8%
          เฉพาะสถานพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ดูแลผู้ป่วยสะสมรวม 223 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลราชวิถี 69 ราย โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 30 ราย โรงพยาบาลเลิดสิน 36 ราย สถาบันโรคทรวงอก 31 ราย สถาบันประสาท 25 ราย โรงพยาบาลสงฆ์ 1 ราย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 8 ราย โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี 23 ราย และฮอสพิเทลโรงพยาบาลราชวิถี 169 ราย ผู้ป่วยอายุน้อยสุด 5 เดือน มากสุด 80 ปี เฉลี่ย 37.8 ปี จำนวนวันที่นอนโรงพยาบาล ต่ำสุด 2 วัน สูงสุด 37 วัน เฉลี่ย 12.2 วัน
          สมช.เผยเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องปลอดภัย
          วานนี้ (11พ.ค.)พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยถึงกรณีให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ รวมถึงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องผลกระทบเกิดจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใน 2 ช่วง  คือ ระยะที่ 1 เพื่อดูมาตรการผ่อนปรน ในระยะที่สอง และระยะที่ 2 คือปลายเดือน พ.ค. โดยสอบถามเรื่องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยังคงไว้ ว่า ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะ 2 หน่วยงานดังกล่าว แต่ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ทั้งของรัฐ และเอกชน จัดทำเช่นกัน
          โดยยืนยันว่า ความคิดเห็นที่ได้จากการสำรวจความต้องการของประชาชนเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ต้องนำมาพิจารณาในที่ประชุม ศบค.แต่ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยกเลิกเคอร์ฟิว เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย สุขภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง รวมถึงความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม เช่นเดียวกับเคอร์ฟิว
          "หากยังมีเคอร์ฟิว หรือยกเลิก จะมีผลอะไร ตามมา ต้องคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นหลัก ในขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และประชาชน ก็เป็นสิ่งมองข้ามไม่ได้"
          ส่วน มีแนวโน้มว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิ้นเดือน พ.ค.หรือไม่ พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า "ใช่ แต่ต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆ ด้าน มาประกอบกัน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมาประเมินกัน ที่สำคัญต้องดูความร่วมมือ ของประชาชน และสถานประกอบการ รวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อ ยังสามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่รองรับได้หรือไม่" พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว
          ห้างเข้มคัดกรอง-ปลอดภัยก่อนเปิด
          นางณัฐธีรา จิราธิวัฒน์ บุญศรีกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในเครือกลุ่มเซ็นทรัลรีเทล กล่าวว่าห้างเซ็นทรัล 23 สาขาทั่วประเทศเตรียมความพร้อมเปิดบริการอีกครั้งหากรัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมต่างๆ พร้อมเตรียมมาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของลูกค้า และพนักงาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการมาใช้บริการหรือปฏิบัติงาน ในแนวคิด"ห้างเซ็นทรัล สะอาด ปลอดภัย อุ่นใจ เสมือนอยู่บ้าน"
          กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์เจ้าของและ ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และพันธมิตรร่วมทุนไอคอนสยาม วางยุทธศาสตร์สุขอนามัยและความปลอดภัยด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ นำ"นวัตกรรม"เข้ามาผสานในการดำเนินยุทธศาสตร์เช่น หุ่นยนต์อัจฉริยะที่ ติดตั้งกล้องตรวจจับความร้อนและวัดอุณหภูมิช่วยคัดกรอง นำเทคโนโลยีทำความสะอาดอย่างล้ำลึกด้วยการใช้รังสี UV-C ฆ่าเชื้อในทุกพื้นที่ จัดทำการ Tracking ข้อมูลสุขภาพของพนักงานผ่านแอพพลิเคชั่นหรือ คิวอาร์โค้ด
          ส่วนเดอะมอลล์กรุ๊ป ระบุว่า ได้เตรียมพร้อม เปิดให้บริการศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าตามมาตรการปลดล็อกดาวน์ด้วย "100มาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุด" ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและทุกภาคส่วน


pageview  1205147    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved