HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 28/04/2563 ]
แนะห้าง-ร้านอาหาร ให้ลูกค้าดาวน์โหลด แอพ ติดตามตัว

  กรุงเทพธุรกิจ วงสัมมนาไทยสู้ภัยโควิด ฉายภาพหลังคลายล็อกดาวน์ ย้ำความสำคัญ แอพติดตามตัวช่วยคัดกรอง-วิเคราะห์ กลุ่มเสี่ยง ปลัดดีอีเอสชี้การพัฒนาต้องอยู่บนพื้นฐานพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ระบุ อำนาจบังคับให้ประชาชนโหลดติดตั้งเปลี่ยนจากรัฐเป็นเจ้าของสถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ตั้งเงื่อนไขให้ผู้เข้าใช้ พื้นที่ดาวน์โหลด หวังใช้เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย
          นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ "ThaiFightCovid Technical Forum Episode #3 : Relaxing the lockdown with Quarantine App" จัดโดยกลุ่มวิศวกรรวมใจต้านภัยโควิด (thaifightcovid.com) ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ทำให้หลายอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่สิ่งที่ดีหลังจากนี้คือ มีการพัฒนานวัตกรรมของคนไทยที่สามารถใช้งานกันเองในประเทศไทย เช่น ห้องแรงดันลบ ซอฟต์แวร์ติดตามตัวทั้งติดตามตัวผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง หุ่นยนต์ช่วยงานทางการแพทย์และการแทรคหาซื้อหน้ากากอนามัย
          "หลังผ่อนคลายการล็อกดาวน์แล้ว การใช้แอพพลิเคชั่นติดตามผู้คนนั้นจะต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าความจำเป็นคืออะไร เพราะรัฐบาลไม่สามารถบังคับทุกคนให้ทำการดาวน์โหลด และเมื่อจำนวนการดาวน์โหลดไม่มากพอก็จะไม่มีข้อมูลที่มีประโยชน์ในการนำมาวิเคราะห์ ดังนั้น หน่วยงานที่ดูแลจึงจำเป็นบอกวัตถุประสงค์และประโยชน์ที่จะได้รับอย่างชัดเจน"
          อีกทั้งข้อมูลบนแอพติดตามตัวฯ ส่วนใหญ่เป็น "ข้อมูลส่วนบุคคล" ผู้ใช้หลายคนอาจมีความกังวลถึงความปลอดภัยของข้อมูลตนเอง แต่เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แม้ว่า จะยังไม่มีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.2563 เพราะเกิดเหตุโควิดและยังไม่มีกฎหมายลูกรองรับ ทางกระทรวงดีอีเอสยังมีเวลาในการออกกฎหมายลูกภายใน 27 พ.ค.2564  เพราะฉะนั้น แอพพลิเคชั่นต้องมีความชัดเจนตรงจุดนี้ ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนา แอพพลิเคชั่นอีกหลายรายการที่เกี่ยวข้องกับการกักกันโรค (Quarantine) จึงน่าจะมีการรวบรวมไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลและมีการระบุให้ทุกคนใช้แอพฯที่ปลอดภัย อาทิ แอพพลิเคชั่นหมอชนะ
          "ในอนาคตหลังจากเหตุการณ์โควิด ส่วนตัวคิดว่าคนที่มีอำนาจในการให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นติดตามตัวไม่ใช่รัฐ แต่เป็นเจ้าของสถานที่ที่ประชาชนจะเข้าใช้บริการมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เจ้าของพื้นที่ เพื่อให้คัดกรองกลุ่มคนและระบุความเสี่ยงได้ชัดเจน ในการใช้ชีวิตประจำวันรูปแบบใหม่นี้"นางสาว อัจฉรินทร์ กล่าว
          ทั้งนี้ "หมอชนะ" หนึ่งในแอพพลิเคชั่นเฝ้าระวังภัยโควิด-19 ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย มุ่งประสิทธิผลในการคัดกรองความเสี่ยง โดยไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านการลงทะเบียนแบบไม่ระบุตัวตน ได้รับการระบุจากสำนักงาน ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ว่าเป็นแอพฯ ที่ประสบความสำเร็จช่วยลดความเสี่ยง ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดจากสถานที่ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง อาศัยเทคโนโลยีจีพีเอสและบลูทูธติดตามตำแหน่ง ส่งผลให้แพทย์สามารถจัดลำดับความเร่งด่วนและวางมาตรการในการรักษาหรือส่งตรวจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และเมื่อผ่านวิกฤตการณ์โควิด แล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกทำลายทิ้งทันที
          วางกรอบเฝ้าระวังกันระบาดซ้ำ
          ด้าน น.พ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ระบบการทำงานของกรมฯ ขณะนี้ยังไม่มีแอพพลิเคชั่น ที่สามารถรายงานเข้ามาอย่างสะดวก รวมถึง สถานประกอบการ เช่น บริษัท โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ต้องรายงานก็ยังไม่มีระบบแบบออนไลน์ ทำให้การพัฒนาฐานข้อมูล แบบเรียลไทม์และการวิเคราะห์แบบรวดเร็วทำได้ลำบาก สำหรับมาตรการการที่เกี่ยวข้องกับการกักกันโรค จึงจำเป็นต้องมีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูลหลัก ดังนี้
          1.ข้อจำกัดการเดินทางทั้งระหว่างประเทศ ระหว่างจังหวัดและพื้นที่ภายในจังหวัดเดียวกัน 2.ปิดกิจการ/สถานที่ที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ 3.ปิดกิจการ/สถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค 4.การประกาศห้ามออกจากเคหะสถานเป็นบางเวลา ตรงจุดนี้การนำเทคโนโลยีอย่างแอพพลิเคชั่นมาช่วยมอนิเตอร์ จะสามารถส่งเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนได้เป็นอย่างดี
          นอกจากนี้ หลังจากคลายล็อกดาวน์ควรมีมาตรการพื้นฐานสำคัญ เพื่อป้องกันการกลับมาระบาดซ้ำ ได้แก่ 1.การออกแบบยกระบบเฝ้าระวังโรคให้ตรวจคัดกรองผู้ป่วยได้เร็วขึ้น 2.การสร้างเสริมความรอบรู้ด้านการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อโควิด 3.การส่งเสริมอนามัยส่วนบุคคล 4.การเตรียมความพร้อมระบบการจัดการภาวะฉุกเฉิน 5.การจัดการกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงและผู้มีโรคประจำตัว 6.การสอบสวนโรคและการติดตามสัมผัส ตลอดจนการตรวจสอบเพื่อดูว่าบุคคลดังกล่าวมีการกักตัวจริงหรือไม่ อีกทั้งการเพิ่มมิติของระบบไบโอเซ็นเซอร์ อาทิ การวัดไข้อัตโนมัติ ด้วยไบโอเมทริกซ์แทนการกรอกของ ผู้วัดไข้เองก็เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจและแม่นยำมากกว่า ที่จะช่วยให้การเฝ้าระวังและกักกันโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น
          7.การจัดระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย 8.การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล 9.การเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล (Social distancing) จึงต้องมีแอพพลิเคชั่นเข้ามารองรับในการสำรวจว่า การเว้นระยะห่าง ระหว่างบุคคลของประเทศไทยอยู่ใน ระดับใด และอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง
          "ความท้าทายระยะยาวคือ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องมีการปรับสเกลให้เหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐานและตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างตรงจุด หากประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่มีการคลายล็อกดาวน์ ความร่วมมือในมาตรการที่ใช้จะต้องยืนในลักษณะที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ฉะนั้น ประเด็น เรื่องความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ประชาสังคมถือเป็นส่วนสำคัญ" น.พ.ธนรักษ์ กล่าว


pageview  1205124    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved