HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 03/07/2562 ]
ตุ่มน้ำพองใส โรคหายากที่ต้องดูแล

เพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) หรือโรคตุ่มน้ำพองใส อีกหนึ่งโรคหายากที่พบเพียง 1 ใน 4 แสนคน  กลายเป็นที่สนใจของคนไทยเมื่อ นักแสดงชื่อดัง เมฆ-วินัย ไกรบุตร  ออกมาเปิดเผยว่า ตนเองกำลังป่วยด้วยโรคนี้ โดยมีอาการแสบ ร้อน คันไปทั่ว ตุ่มขึ้นทุกที่ทั่วร่างกาย แม้กระทั่งในปาก ทำให้ทานอะไรแทบไม่ได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดูแลรักษา
          หลายคนอาจสงสัยว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากอะไร สามารถป้องกันหรือรักษา ได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคดังกล่าว สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า โรคตุ่มน้ำพองใสไม่ใช่โรคติดต่อสามารถสัมผัสและอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยได้ตามปกติ แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาอย่าง ต่อเนื่อง ดูแลแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น
          นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าโรคเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphig oid) เป็นโรคในกลุ่ม ตุ่มน้ำพองทางผิวหนังที่พบบ่อยและมีอาการคล้ายคลึงกับ โรคเพมฟิกัส ที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการทำลายโปรตีนที่ยึดผิวหนังในชั้นหนังกำพร้า และหนังแท้ไว้ด้วยกัน ผิวหนังจึงแยกตัวจากกันโดยง่าย เกิดเป็นตุ่มพองตามร่างกาย
          แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ลักษณะเด่นของโรคนี้  ที่ต่างจากเพมฟิกัส คือ 1.ตุ่มพองจะเต่งตึง แตกได้ยาก เนื่องจากการแยกตัวของผิว อยู่ในตำแหน่งที่ลึกกว่าเพมฟิกัส 2.มักพบตุ่มน้ำพองมากในตำแหน่งท้องส่วนล่าง แขนขาด้านใน บริเวณข้อพับ และส่วนน้อยที่จะมีแผลในปาก 3.พบโรคนี้ได้บ่อยใน คนสูงอายุ ทั้งสองโรคนี้แยกกันได้จากอาการและการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม
          ยาที่ใช้รักษาหลัก คือ ยาทาสเตียรอยด์ จะใช้เป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยที่มีตุ่มน้ำเฉพาะที่ กรณีที่ตุ่มน้ำกระจายทั่วร่างกาย การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ ชนิดรับประทาน หรือร่วมกับยากด ภูมิต้านทาน จะช่วยควบคุมโรคได้ โดยหากเปรียบเทียบกับโรคเพมฟิกัสแล้ว โรคเพมฟิกอยด์จะใช้ยากดภูมิในขนาดที่น้อยกว่า และตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่าเพมฟิกัส
          ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ อาจจะมีตุ่มน้ำขึ้นเป็นๆ หายๆ ในระยะเวลา 2-3 ปี และสามารถหายเป็นปกติได้ และในปัจจุบันมีการรักษาด้วยยาฉีดที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อภูมิต้านทานที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งพบว่า สามารถควบคุมโรคได้ดี มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายากดภูมิต้านทานชนิด รับประทาน
          คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อ เป็นโรค ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด ใช้แปรงขนอ่อนทำ ความสะอาดลิ้นและฟัน ไม่แกะเกาผื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ผู้ป่วย ที่มีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด  งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว  ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้น การหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก  หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ  ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ
          ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องมารักษาต่อเนื่อง  มาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ทานยาต่อเนื่อง อย่าลดหรือเพิ่มยาเอง ดูแลแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น


pageview  1205015    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved