HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 30/04/2562 ]
แก้ หมอกควัน ด้วยพหุวิทยาการ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ "หมอกควันภาคเหนือ" ไม่ได้เป็นเพียงปัญหา เฉพาะพื้นที่อีกต่อไป ขณะเดียวกันด้วยความใหญ่ระดับภูมิภาค และ ส่งผลกระทบผูกพันในระยะยาวทำให้ความซับซ้อนของปัญหา โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการเป็นไปได้ยากกว่าที่คิด ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากหลายภาคส่วน โดยใช้งานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่รูปแบบการจัดการที่เหมาะสม
          รศ. ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "Survival skills for High Impact Researchers" ซึ่งจัดโดยโครงการการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ผ่าน Multi Mentoring System หรือกลุ่ม MMS5 ภาคเหนือ ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุน
          การวิจัย (สกว.) โดยมี ศ. ดร.เกตุ กรุดพันธ์ เป็นผู้ประสานงาน ร่วมกับศูนย์บริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ณ สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับ นักวิจัยรุ่นใหม่ก้าวสู่การเป็นนักวิจัยอาชีพ รวมถึงวางแผนการดำเนินงานของทีมพี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง
          ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการวิจัยพื้นฐานและการพัฒนานักวิจัย กล่าวว่า ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องหาวิธีการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนระบบให้เกิด ผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การสร้างนักวิจัยเป็นหน้าที่ของทุกคนทุกหน่วยงานที่จะต้องร่วมมือกันสร้างผลกระทบที่สำคัญของประเทศ "เราจะต้องร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จัดสรรงบประมาณให้ถูกที่ถูกเวลา  เพื่อตอบโจทย์ของประเทศให้ชัดเจน  ทั้งการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้าง ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม การสร้างองค์ความรู้พื้นฐานของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ  งบประมาณต้องตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ นักวิจัยต้องมีความคิดริเริ่มในการสร้างงานวิจัยใหม่ๆ ระดับประเทศ นวัตกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง"
          ด้านนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวระหว่างการเสวนา "วิกฤติหมอกควันพิษ ในภาคเหนือ: คำถามท้าทายการวิจัยพื้นฐานข้ามสาขา" ว่ามีหลายประเด็นที่ต้องการคำตอบ เช่น พยากรณ์การเกิดปัญหาในอนาคต มาตรการป้องกัน สาเหตุต่าง ๆ ทั้งการเผา การเป็นชุมชนเมือง การเกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม  โดยกรมควบคุมมลพิษเน้นการแก้ปัญหาในกรุงเทพมหานครเป็นส่วนใหญ่ แต่ในภาคเหนือยอมรับว่าข้อมูลที่มีอยู่ไม่ ทันสมัยผ่านมาสิบปีแล้ว จึงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ ทั้งนี้ จะเสนอวาระแห่งชาติเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น เช่น ลดปัญหายานพาหนะออกจากระบบ ทางเลือกใหม่ในการขนส่งอย่างรถไฟฟ้าจะดีหรือดีกว่าต่างประเทศหรือไม่ รวมถึงการเก็บข้อมูลด้านการเจ็บป่วยในระยะยาวจากปัญหาหมอกควัน มาตรฐานเครื่องมือราคาถูกที่เป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้ ตลอดจนผลกระทบข้ามชาติ
          ผศ. ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าเรามีต้นทุนฝุ่นในพื้นที่เยอะมาก แม้ฝนจะตกหนักแต่ค่าฝุ่นยังเกินมาตรฐาน ในบ้านเรามีงานวิจัยด้านมลพิษทางอากาศน้อยมากด้วยอุปสรรคหลายประการและใช้ งบลงทุนด้านเครื่องมือสูงมาก แม้จะมีงานวิจัยที่เผยแพร่สู่สาธารณะได้แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด การมีเครือข่ายมีความสำคัญมากโดยจะรวมนักวิจัยในประเทศอาเซียนและ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์จากองค์การนาซ่า ซึ่งตั้งเป้าจะสร้างงานที่จดสิทธิบัตรและใช้งานได้ แพร่หลาย เน้นโรงเรียนและเยาวชนให้มีองค์ความรู้ จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเพราะคิดว่าต้องเผชิญกับปัญหานี้ไปอีกนาน
          ขณะที่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา  ผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์ แห่งชาติ กล่าวว่า หมอกควันเป็น ส่วนหนึ่งของปัญหาและเกิดขึ้นนาน มากแล้ว ฮอตสปอตที่เกิดขึ้นจำนวนมากไม่สามารถระบุได้จริงว่ามีจำนวนเท่าใด ปริมาณแอโรซอลหรือละอองลอยมีเกิดจากสองแหล่ง คือ ละอองจากแหล่งธรรมชาตินอกเหนือจากเกสรดอกไม้  อาจจะเกิดจากต้นไม้บางชนิด เช่น  ต้นยาง ต้นสน ซึ่งให้ไอกลิ่นที่มีสารที่จะทำปฏิกิริยาเคมีกับสารอื่นในอากาศเกิดเป็นแอโรซอลได้เช่นกัน ซึ่งกรณีนี้ยัง ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนัก โดยมากจะกล่าวถึงแอโรซอลที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น เขม่าท่อไอเสียรถยนต์ ควันจาก การเผา จึงตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อปลูกยางในภาคเหนือมากขึ้นอาจจะมีส่วนทำให้เกิดแอโรซอลมากขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ หมอกควันเป็นปัญหาของทั้งโลกที่น่ากลัวมากโดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะ และกักลมทะเลที่พัดเข้ามา เช่น  ในสหรัฐอเมริกาหรือเม็กซิโก
          ศ. ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. ตั้งคำถามต่อปัญหานี้ว่าความรู้เกี่ยวกับวิกฤติมีอะไรบ้าง เป็นวิกฤติหมอกควันหรือวิกฤติความรู้ ปัญญาและความคิด ทั้งปัญหาวิถีชาวบ้าน ความรู้ เศรษฐกิจการเมืองในโลกไร้พรมแดน และ ความร่วมมือในระดับภูมิภาค นิเวศวิทยาการเมืองต้องวิพากษ์เพื่อเผยให้เห็นอำนาจที่อยู่เบื้องหลังวิกฤติของสภาวะแวดล้อม โดยพยายามผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยในการสร้างสรรค์เชิงสังคมและสภาพแวดล้อม ด้วยการแสวงหายุทธศาสตร์ที่จะก่อให้เกิดการกระจาย อำนาจทางสังคมอย่างเป็นธรรม และวิถีการผลิตบนพื้นฐานของสภาพแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมมากขึ้น เมื่อมองภาพเล็กเฉพาะภาคเหนือเป็นวิกฤติหมอกควันหรือวิกฤติการเกษตร สะท้อนเบื้องหลังคือกระบวนการจัดความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและสิทธิในทรัพยากรอยู่ในสภาวะที่ไร้ความเป็นธรรม เพราะการผูกขาดการจัดการป่าจะแฝงด้วยมิติทางการเมืองเสมอ ปัญหาของระบบการผลิตพืชอาหารและพลังงาน วิกฤติจึงเป็นเพียงวาทกรรมในการเมือง Demand management
          "ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ชาวบ้านถูกผลักให้เข้าไป ติดกับดักปัญหาสามสูง คือ ค่าเช่าสูง ความเสี่ยงสูง และการสูญเสียตัวตนสูง หรือเราจะมีชีวิตแขวนอยู่บนความเสี่ยงและการทำลายสิ่งแวดล้อม ปล่อยให้ ชาวบ้านไร้ตัวตนและกลายเป็นมนุษย์ล่องหนพร้อมกับถูกกล่าวหาว่าทำลายป่า วิกฤตินี้ต้องการความรู้ใหม่ ระบบ ธรรมาภิบาล ระบบการเกษตรที่ เหมาะสม และกลไกเชิงสถาบันเพื่อช่วยแก้ปัญหาการกล่าวโทษกันไปมา  ต้องผลักดันความร่วมมือในการสร้าง ธรรมาภิบาลทรัพยากรอย่างเหมาะสม เช่น สร้างข้อตกลงในการบริหาร จัดการป่า จำแนกระดับในการบริหารจัดการป่าแทนการรวมศูนย์ นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาระบบวนเกษตรรูปแบบ ต่างๆ เช่น การจัดการท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงการสร้างกลไกเชิงสถาบัน  เช่น จ่ายค่าธรรมเนียมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น"
          สรุปได้ว่าหมอกควันเป็นวิกฤติของ ปัญหาความรู้เกี่ยวกับเกษตรบนที่สูง เป็นวิกฤติของโครงสร้างการบริหารจัดการที่ไร้ธรรมาภิบาล และการไร้กลไกเชิงสถาบันที่ช่วยเสริมการแก้ปัญหาแต่เพียงด้านเทคโนโลยี นั่นคือสิ่งที่ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว.  กล่าวทิ้งท้าย


pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved