HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 08/03/2562 ]
เมืองป่วย ถึงเวลาต้องเปลี่ยนขับเคลื่อนสร้าง เมืองสุขภาวะ

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็น "สานพลัง เปลี่ยนเมืองป่วย" เพื่อสร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการสนับสนุน สร้างสรรค์ ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงเมืองสภาพแวดล้อมทางกายภายและสังคมที่กำลังป่วย ทั้งในเรื่องของที่อยู่อาศัย อากาศ อาหาร และ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ก้าวสู่ การเป็น "เมืองสุขภาวะ" (Healthy Cities)
          กรุงเทพธุรกิจ   ภารนี สวัสดิรักษ์ รองประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพ แห่งชาติ พ.ศ.2561-2562 กล่าวว่า ปัจจัยกำหนด สุขภาพเมืองที่สำคัญมีอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ 1.พฤติกรรมของคนและสังคม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย เช่น ความเร่งรีบของวิถีชีวิตที่ก่อความเครียดจนสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น พฤติกรรมเนือยนิ่ง  ขาดการออกกำลังกาย และขาดความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างเพียงพอ
          2.กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การจัดการขยะ น้ำเสีย และฝุ่นควันจากการจราจร 3.สิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมทั้ง สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นและที่เกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติ เช่น การเผาไหม้ ทิศทางลม การจัดการที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว ฯลฯ โดยทั้งหมดสัมพันธ์กับอาการป่วยไข้ของเมืองทั้งสิ้น
          "ยุทธศาสตร์ชาติเรื่องสมาร์ท ซิตี้ จะต้อง ผนวกรวมเรื่องสุขภาวะด้วย และควรมี มาตรการที่สนับสนุนภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการจัดสรรพื้นที่เอื้อต่อสุขภาวะ เช่น ภาษีกรีน คือมาตรการทางภาษีที่จะเอื้อ สนับสนุนให้กับภาคเอกชนที่ส่งเสริมเมืองสุขภาวะ ไม่ใช่มีแต่มาตรการเก็บภาษีจาก คนก่อมลภาวะเท่านั้น" ภารนี กล่าว
          เมืองต้นแบบ 'นครสวรรค์'
          จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ เล่าว่า การพัฒนา เมืองนครสวรรค์ให้เป็นกรีน ซิตี้ (Green City)  มีเป้าหมายให้เป็นเมืองที่มีอากาศดี มีพื้นที่ ออกกำลังกาย พักผ่อนของคนในชุมชน เพื่อให้ คนนครสวรรค์มีสุขภาพดีและไม่ป่วย
          ปัจจุบันมีการจัดสรรพื้นที่ 265 ไร่ ทำเป็นอุทยานสวรรค์ที่มีต้นไม้เขียวขจีเป็นที่พักผ่อน มีการทำเขื่อนกั้นป้องกันน้ำท่วมรอบเมือง ระบบน้ำ มีน้ำประปาดื่มได้ผ่านการรับรองจากกรมอนามัย มีบ่อบำบัดน้ำเสีย 3.6 หมื่นคิว ที่จะต้องบำบัดก่อนปล่อยลงแม่น้ำเจ้าพระยาและนำมาใช้งานในอุทยานสวรรค์ มีบ่อขยะขนาด 266 ไร่ ที่ให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งในจังหวัดมาใช้บริการและมีการฝังกลบที่ถูกต้อง  เป็นต้น
          "การจะเปลี่ยนเมืองป่วยให้กลายเป็น เมืองที่มีสุขภาวะ สิ่งสำคัญคือจะต้องอาศัย ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งประชาชน ชุมชน และภาคเอกชน ให้มีส่วนในการร่วมแสดงความคิดเห็นและมีข้อเสนอในสิ่งที่ต้องการจะทำ โดยภาครัฐทำหน้าที่เพียงประคับประคอง ตรงส่วนไหน ที่ติดขัดก็เข้าไปช่วยแก้ปัญหา เพราะหากรัฐ สั่งการให้ทำแต่ชุมชนไม่อยากทำ ไม่อยากมี ส่วนร่วม ก็จะไม่มีทางสำเร็จ" จิตตเกษมณ์ กล่าว
          มิติของภาคเอกชน
          พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บอกว่า ทุกวันนี้เมืองขยายตัวเร็วมากและภาครัฐมีงบประมาณจำกัด จึงเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนและ ภาคธุรกิจที่จะเข้ามาช่วยกันพัฒนาเมือง อีกทางหนึ่ง โดยปัจจุบันมีการตั้งบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาในจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันราว 15 จังหวัด เช่น ขอนแก่นพัฒนาเมือง ภูเก็ตพัฒนาเมือง เชียงใหม่พัฒนาเมือง ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น
          โดยมีเป้าหมายสร้างเมืองที่มี สุขภาวะ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเมืองตามความต้องการและสภาพปัญหาของแต่ละท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง ที่เกิดจากการรวมตัวของนักธุรกิจในท้องถิ่น และได้ผลักดันโครงการ Phuket Smart City หรือบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง ที่มีแนวคิดต้องการพัฒนาให้ จ.ขอนแก่น หลุดพ้น  จากกับดักรายได้ปานกลาง และการรอคอยการพึ่งพาผู้อื่น
          "ภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสภาพเมืองป่วย ตัวอย่างเช่นหากคุณภาพของเมืองไม่ดี ไม่มีสุขภาวะ ผู้อยู่อาศัย ก็จะมีสุขภาพที่แย่ตามไปด้วย เงินที่หามาได้ก็ต้องหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล คนก็จะไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย เอกชนก็ขายสินค้าไม่ได้ ดังนั้น คุณภาพเมืองย่อมส่งผลต่อทุกๆ สมาชิกในเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง" พรนริศ กล่าว
          ขณะที่ นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เสนอว่า การจะทำให้เป็นเมือง สุขภาวะจะต้องทำให้เมืองเป็นเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ซึ่งในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีการลงทุนเพื่อให้คนในเมืองเคลื่อนที่ได้โดยไม่ใช้เครื่องยนต์ ตั้งแต่การปรับโครงสร้างให้เอื้อต่อการเดิน การปั่นจักรยานที่มีจุดจอดมากถึง 2,000 แห่ง มีจักรยานสาธารณะกว่า 2 หมื่นคัน
          ขณะที่กรุงเทพมหานครใช้พื้นที่ถนน 90% อุทิศให้รถยนต์ อีก 10% เหลือไว้เป็นทางเท้า การจะขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่มีการปกครองแบบพิเศษ จะต้องกระจายอำนาจลงไปในระดับเขต เพราะเป็นเมืองที่มี ขนาดใหญ่ถึง 1,500 ตารางกิโลเมตร มี 50 เขต ใหญ่เกินไปที่จะดำเนินงาน สิ่งใด อีกทั้งแต่ละเขตก็มีความ แตกต่างกันตามบริบท การจะพัฒนาแต่ละเขตจึงต้องให้พื้นที่มีส่วนกำหนดเอง ไม่ใช่สั่งการจากกรุงเทพมหานคร จะทำให้ในพื้นที่เขตร่วมมือกันพัฒนาเมืองของตนเองขึ้นได้อย่างพลิก ฝ่ามือจริงๆ
          "เมืองมีผลต่อคน ดูสภาพเมืองจะทำให้รู้ได้ว่าคนที่อาศัยอยู่ใน เมืองนั้นจะมีชีวิตอย่างไร เมืองคู่ กันกับโรคภัยไข้เจ็บ เมืองเป็นสนามเด็กเล่นของเชื้อโรค และเมืองทำให้เกิดความเครียด จึงต้องทำให้เมืองมีลักษณะเป็นเมืองเดินได้ เมือง เดินดี เพราะไม่มีวันแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศได้ หากไม่นำรถ ออกไป ไม่มีทางแก้ปัญหารถได้ หาก บ้านยังอยู่ไกลที่ทำงานและระบบขนส่งมวลชนไม่ดี เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องร่วมกันส่งเสียงให้เห็นถึงความคาดหวังในความต้องการที่จะมีเมืองที่ดีในการอยู่อาศัย หากยังเงียบก็จะไม่ได้รับการแก้ไข" นิรมล กล่าว
          ทั้งนี้ในภาพรวมต่างเห็นตรงกันว่าการจะขับเคลื่อนเปลี่ยนเมือง ป่วยให้เป็นเมืองสุขภาวะนั้น จะต้องอาศัยปัจจัยสำคัญใน 2 เรื่อง ได้แก่ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการเมือง และการกระจายอำนาจ อย่างแท้จริงไปให้ท้องถิ่นหรือเมือง นั้นๆ


pageview  1204947    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved