HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 07/11/2555 ]
พัฒนาไม่หยุดยั้งมุ่งคว่ำมะเร็งเต้านม

  มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย คิดเป็นร้อยละ 47.8 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในผู้หญิงในปี 2553 โดยพบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 10,000 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 4,500 ราย
          ขณะที่เรามีข้อมูลของมะเร็งเต้านมโดยรวม แต่สถิติของมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายยังมีอยู่จำกัด ในประเทศตะวันตกพบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายในที่สุด
          สถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า อัตราการรอดชีวิตในปีที่ 5 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1, 2 และระยะที่ 3 ที่ไม่มีการแพร่กระจายไปยังบริเวณใกล้เคียงคือร้อยละ 93 เมื่อเปรียบเทียบกับ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามซึ่งอัตราการรอดชีวิตถึง 5 ปี มีเพียงร้อยละ 15%
          จึงเห็นได้ว่ายังมีความจำเป็นในการพัฒนาการรักษาใหม่ๆ ที่จะช่วยชะลอการลุกลามของโรคในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต
          รศ.พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ หัวหน้างานโรคมะเร็ง กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ และนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลามยังไม่สามารถรักษาให้หาย ขาดได้ แพทย์ทำได้เพียงรักษาผู้ป่วยโดยยับยั้งการลุกลามของโรคให้ช้าลง เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยาวนานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
          การรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม นั้น ส่วนใหญ่เป็นการให้ยาฉีดหรือยา รับประทานที่จะไปทั่วร่างกาย ยาที่ใช้ก็มีหลายกลุ่ม ได้แก่ ยาต้านฮอร์โมน ยาเคมี บำบัด และยาในกลุ่ม Targeted Therapy หรือยามุ่งเป้า ซึ่งออกฤทธิ์โดยตรงที่เซลล์มะเร็ง
          สำหรับการเลือกวิธีรักษาที่ เหมาะสมยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างในตัวผู้ป่วยเอง เช่น ผู้ป่วยอยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้วหรือไม่ การตรวจพบตัวรับสัญญาณบนผิวเซลล์มะเร็ง ซึ่งตัวรับสัญญาณบนผิวเซลล์มะเร็งเหล่านี้ ได้แก่ ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน, ตัวรับฮอร์โมน โปรเจสเตอโรนและตัวรับเฮอร์ทู
          ประมาณ 60-70% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด ตรวจพบเซลล์มะเร็งที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยกลุ่มนี้จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมน
          การรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนนั้นมี 2 แบบ คือการให้ยาที่ลดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน และการให้ยาต้านฮอร์โมนโดยยาจะไปแย่งจับกับตัวรับฮอร์โมนเอส โตรเจนบนผิวเซลล์มะเร็ง
          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนพบว่า มีจำนวนถึงร้อยละ 50 ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนในการรักษาขนานแรก หรือแม้จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนแล้วก็ยังอาจเกิดภาวะดื้อยาต้านฮอร์โมนหรือพบการลุกลามของโรคขึ้นในภายหลังได้
          ปัจจุบันมีการวิจัยคิดค้นวิธีการรักษาใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนายากลุ่มใหม่ที่จะยับยั้งกลไกที่ทำให้มะเร็งไม่ตอบสนองหรือดื้อต่อการรักษาด้วยฮอร์โมนจึงนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะพัฒนาการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามให้ได้ผลดีขึ้น
          นอกจากนี้ ยังมีการใช้ออกซิเจนบำบัด โดยการเพิ่มปริมาณออกซิเจนเข้าไปในร่างกาย มีผลทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดสูงขึ้นช่วยให้เลือดมีความสามารถในการทำลายเชื้อโรคมากขึ้น เพิ่มการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กลับมาปกติและเพิ่มความทนทานให้แก่ร่างกายต่อการใช้เคมีบำบัด
          การรักษาด้วยโอโซน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ด้วยการนำเลือดของผู้ป่วยผสมเข้ากับโอโซนหรือออกซิเจนจากภายนอก แล้วฉีดคืนสู่ร่างกายซึ่งโอโซนจะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนสำหรับการหายใจของเซลล์ ซึ่งมีผลต่อการจำกัดการลุกลามของเซลล์มะเร็ง
          จะเห็นได้ว่าแม้จะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ความพยายามในการค้นคว้าวิจัยของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนากระบวนการรักษานั้นไม่เคยหยุดยั้ง
          “อยากให้ผู้ป่วยทราบว่ามะเร็งเต้านมเป็นโรคที่มีวิธีการรักษาได้ในทุกระยะของโรค ทำให้ในปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่มีความหวังในการรักษาแม้ว่าจะเป็นระยะลุกลาม” รศ.พญ.สุดสวาท กล่าว


pageview  1205544    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved