HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 16/10/2555 ]
หรือจะแค่ฝันไปตลอดชาติ

  การใช้รถใช้ถนนในบ้านเราเฉพาะอย่างยิ่งเมืองใหญ่อย่างกทม.มีปัญหาการจราจรอย่างมากเพราะรถมากกว่าถนนไม่ว่าจะรถยนต์รถมอเตอร์ไซค์ นำไปสู่สภาพการจราจรติดขัดยิ่งช่วงหน้าฝนตกถนนลื่น น้ำท่วมขังก็ยิ่งเพิ่มปัญหารถติดหนักยิ่งขึ้น นำไปสู่ผลกระทบต่อประชาชนและสังคมมหาศาลทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจไปจนถึงผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจอย่างมาก
          ปัญหาการจราจรที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสุขภาวะของประชาชนที่เป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในกทม.นำไปสู่การพูดถึงการแก้ปัญหาทางหนึ่งคือหันไปใช้รถจักรยานหรือรถถีบหรือไม่ก็เดินพูดกันมานานทีเดียว แต่ดูเหมือนจะได้แค่พูดไม่เกิดรูปธรรมการแก้ปัญหาได้จริงสักที
          เท่าที่สังเกตดูเหมือนว่าประชาชนนั้นขานรับอยู่แล้ว แต่ไม่อาจตัดสินใจปฏิบัติได้อย่างจริงจังถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐคือการจัดเส้นทางใช้รถถีบหรือทางเดินอย่างเป็นสัดส่วนมิเช่นนั้นก็อันตรายทั้งจากอุบัติเหตุหรือผิดกฎหมาย
          ดูเหมือนจะทำได้จริงจังแค่วันเดียวคือวัน "คาร์ฟรีเดย์โลก"
          เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการเดินและจักรยาน : บทเรียนรู้และประสบการณ์จากสหพันธ์ผู้ใช้และนักจักรยานแห่งยุโรป หรือEuropean Cyclists' Federation (ECF) เพื่อหาแนวทางร่วมกันเพื่อผลักดันการเดินและจักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย
          Dr.Bernhard Ensinkเลขาธิการสหพันธ์ผู้ใช้และนักจักรยานแห่งยุโรป (ECF)ได้ถ่ายทอดบทเรียนรู้และประสบการณ์จากEFCว่า การใช้จักรยานแทนรถยนต์ในยุโรปนั้นเป็นการมุ่งเน้นไปที่การใช้จักรยานและการเดินเพื่อสุขภาพที่ดี เนื่องจากชาวยุโรปจำนวนไม่น้อยขาดกิจกรรมทางกาย คือ การออกกำลังกายจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งทรวงอก มะเร็งทวารหนัก โรคเบาหวานโรคหัวใจ ซึ่งในแต่ละปี มีชาวยุโรปเสียชีวิตเกือบ 1,000,000 คน
          "การทำกิจกรรมทางกาย สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรค อาทิ ลดการเสี่ยงและการตายจากโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน ลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง ลดการตายก่อนวัยจากทุกสาเหตุ การเดินและใช้จักรยานนั้นจะยิ่งทำให้มลพิษน้อยลง แถมสุขภาพแข็งแรงด้วย"
          Dr.Bernhard บอกอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยุโรปเป็นเมืองจักรยาน คือ การมีโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ ถนนและการออกแบบผังเมืองอย่างเป็นระบบ โดยให้ความสำคัญต่อการเดินเท้าและการขี่จักรยานมากกว่าการใช้รถยนต์ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถเปลี่ยนมาใช้จักรยานมากขึ้นกว่ารถยนต์จะเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ ดีทั้งจากการลดรับมลพิษเข้าร่างกาย ทั้งการได้ออกกำลังกายและลดใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองด้วย
          ด้านศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยกล่าวว่า อยากให้เกิดการใช้จักรยานและการเดินได้จริงในประเทศไทย แต่เราคงไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ให้ประสบผลสำเร็จได้เพราะเป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ อย่างไรก็ตามการผลักดันรณรงค์การใช้จักรยานอย่างเดียวจะไม่เกิดผลแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากนักการเมืองผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อกำหนดเป็นนโยบายจากภาครัฐและท้องถิ่น ที่สำคัญคือเราต้องทำให้รัฐบาลเห็นว่า สิ่งที่เราคิดเป็นสิ่งที่ดีโดยจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ 1.ตัวเลขทางด้านการเงิน2.ความต้องการของประชาชน จึงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าสังคมในปัจจุบันไม่พร้อม เราอาจต้องเริ่มปลูกฝังในเยาวชนตั้งแต่เด็ก
          อีกท่านหนึ่งรศ.ดร.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมองว่า การใช้รถจักรยานบนท้องถนน ทุกวันนี้เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะมีความไม่ปลอดภัยจากรถยนต์ รถจักรยานยนต์ที่ขับเร็วอาจเฉี่ยวชน และอีกปัจจัย คือ ทางเท้าในกรุงเทพฯ ทุกแห่งหนเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางอย่างต้นไม้ ตู้โทรศัพท์ แผ่นป้ายโฆษณารถประจำทาง แผงลอย ดังนั้น คงเป็นเรื่องที่ภาครัฐและประชาชนต้องร่วมมือกัน
          รศ.ดร.วิโรจน์ บอกอีกว่า หากมีการปรับปรุงบริเวณทางเท้าให้กว้างขึ้น อย่างไม้พุ่มที่อยู่บนทางเท้า ถ้านำออกไปก็จะทำให้ทางเท้ากว้างและคนหันมาเดินมากขึ้น นอกจากนี้ควรมีการจัดการเสวนาให้ความรู้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการเดินและการใช้จักรยานมากขึ้น ดังนั้น อยากเห็นภาครัฐ เป็นตัวอย่างที่ดี ในการริเริ่มใช้การเดินและจักรยานด้วย
          นอกจากนี้รศ.ดร.วิโรจน์เปิดเผยงานวิจัยโครงการ"แนวทางการส่งเสริมการใช้จักรยานในเขตกรุงเทพมหานคร"โดยสุ่มจากจำนวนผู้สอบแบบสอบถาม 543 คนพบว่า มีกลุ่มตัวอย่างมีผู้ที่ใช้จักรยานในปัจจุบันจำนวน174คน หรือคิดเป็นร้อยละ32 และหากมีการพัฒนาส่งเสริมที่เหมาะสม จะมีผู้สนใจใช้มากขึ้นเป็น 333 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ส่วนเหตุผลหลักที่ตัดสินใจไม่ใช้จักรยาน เนื่องจากไม่มีจักรยานในครอบครองเหตุผลรองลงมา ได้แก่ ระยะทางเพื่อเดินทางไปทำกิจกรรมมีระยะทางไกล และคิดว่าเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ มีความล่าช้าในการเดินทาง และไม่สะดวกในการเข้าถึงที่หมาย และจากการสอบถามในกลุ่มผู้ที่ไม่ใช้จักรยานพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 92 สามารถขี่จักรยานได้
          การใช้จักรยานหรือการเดินไปทำงานแทนรถยนต์ แทนมอเตอร์ไซค์เป็นกิจวัตรประจำวันอย่างในหลายๆ ประเทศในยุโรปอาจเป็นเรื่องยากในสังคมไทย แต่คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเริ่ม
          อยากเห็นรัฐบาลหรือกทม.เอาจริงสักทีอย่าแค่ฝัน ประโยชน์ที่ได้น่าจะคุ้มเกินคาดคิด


pageview  1205854    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved