HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 04/07/2555 ]
โรคสะเก็ดเงินในไทยหมอผิวหนังระบุยังน่าเป็นห่วง

 ด้วยสถานการณ์ของโรคสะเก็ดเงินในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง ทั้งที่ไม่ใช่โรคติดต่อ เนื่องจากประชาชนยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน
          พล.ต.นพ.กฤษฎา ดวงอุไร นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินประมาณ 0.5-1% ของประชากร หรือ 3-5 แสนคนทั่วประเทศ แบ่งเป็นอาการรุนแรง 20% และไม่รุนแรง 80% เนื่องจากมีความรู้ ความเข้าใจในสาเหตุ และการรักษาโรคนี้มากขึ้น ทั้งนี้ โรคนี้จะถ่ายทอดทางพันธุกรรม ถ้าหากพ่อ หรือแม่เป็น ลูกจะมีโอกาสเป็น มากขึ้น ความผิดปกติเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไปกระตุ้นผิวหนังให้ผลัดเซลล์ เร็วขึ้น และที่เรียกว่าสะเก็ดเงิน เป็นเพราะ ผื่นมีสะเก็ดลอกจำนวนมากสีขาว แต่เดิมเรียกว่า ‘เรื้อนกวาง’ เนื่อง จากไม่ใช่โรคติดต่อเหมือนโรคเรื้อน จึงเปลี่ยนชื่อจากเรื้อนกวางมาเป็นสะเก็ดเงิน เพราะเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ แต่ถ่ายทอด ทางพันธุกรรม ซึ่งสังคมยังไม่เข้าใจ ทำให้ตั้งข้อรังเกียจ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความไม่มั่นใจ ไม่กล้าสู้หน้าผู้คนในสังคม
          ลักษณะของโรคสะเก็ดเงิน จะมีลักษณะเป็นผื่นแดงนูนหนา มีขุยสะเก็ดเป็นแผ่นๆ บนผื่น และมักเกิดบริเวณที่เสียดสี เช่น ข้อศอก เข่า หลัง หรือบนหนังศีรษะ แนวไรผม ถ้ามีผื่นบริเวณนี้ก็สันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคนี้ แต่ไม่ค่อยพบผื่นบริเวณใบหน้า หากผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินดูแลไม่ถูกต้อง ผื่นอาจลามไปทั้งตัว ต้องใช้การรักษาหลายอย่าง และสามารถเป็นได้ทุกเชื้อชาติ ไม่เลือกเพศอายุ แม้เป็นกรรมพันธุ์ ก็จะมีอาการ เมื่อมีสิ่งแวดล้อมมากระตุ้น ถ้าอายุมากขึ้น จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น
          ด้านรศ.พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน กรรมการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ผื่นที่รักษาหายแล้ว จะไม่เกิดแผลเป็น แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ อาการทางข้อ ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญ อาจทำให้ข้อเสียรูป บิดเบี้ยว หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องทำการรักษาควบคู่ไปกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้ออาการอักเสบที่ข้อ อาจคล้ายๆ รูมา ตอยด์ แต่เมื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบค่าทางแล็บที่บ่งชี้ภาวะรูมาตอยด์ ข้อที่ไม่ได้รับการรักษาอาจจะถูกทำลาย ผิดรูป และมีอาการปวด จากข้อมูลในปัจจุบันบ่งชี้ว่า คนที่อ้วนมีพุง เป็นโรคเบาหวาน น้ำหนักตัวมาก จะทำให้โรคสะเก็ดเงินเป็นมากขึ้น
          สำหรับการรักษาของโรคสะเก็ดเงินในปัจจุบัน จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป จะรักษาตามความรุนแรงของโรค ทั้งที่ผิว หนังและข้อ ซึ่งขณะนี้มียาที่มีประสิทธิภาพดีได้มาตรฐานมาใช้กันมากขึ้น เชื่อว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาแนวทางการรักษาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ขั้นตอนในการรักษา ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นโรค เช่น การเกา การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ รักษาสุขภาพกายและใจให้สมดุล ระวังน้ำหนักไม่ให้อ้วน
          แนวทางการรักษาจะแบ่งเป็น ยาทาภายนอก การฉายรังสียูวีเอ และยูวีบี ยาชนิดรับประทาน และยาฉีดชีวภาพ โดยการรักษาด้วยยาทาประเภทยา สเตียรอยด์เป็นที่นิยมใช้มากที่สุด ซึ่งมีทั้งประโยชน์และโทษ จึงควรใช้อย่างถูกต้อง ถ้าเป็นผื่นที่ใบหน้าไม่ควรใช้ยา สเตียรอยด์ที่มีความแรงมาก และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน นอกจากยาทาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยอาจใช้ยาทาอื่น ได้แก่ น้ำมันดิน วิตามินดี หรือยาตำรับผสม ระหว่างยาดังกล่าวข้างต้น
          นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยแสง แดดเทียมที่ช่วงคลื่นแสงยูวีบี และยูวีเอโดยตู้ฉายแสงแดดเทียมมีบริการตามโรงพยาบาลรัฐบาล เช่น รามาฯ ศิริราช จุฬาฯ พระมงกุฎฯ เป็นต้น และถ้าการฉายแสงไม่ได้ผล ก็จะได้รับยากิน หรือฉีดยาชีวภาพ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ในการพิจารณา
          ส่วนสะเก็ดเงินที่บริเวณหนังศีรษะ บางครั้งไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เนื่อง จากคิดว่าเป็นเพียงแค่รังแค ที่หลุดร่วงจากหนังศีรษะ จนทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะมักเห็นได้ ตามไรผม บริเวณหน้าผาก หลังหู อาจมีอาการคัน อาการแดงมาก
          อย่างไรก็ตาม ภาวะสะเก็ดเงินอาจไม่ได้เป็นตลอดเวลา อาจเกิดขึ้น และคงอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วอาจหายไป และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น ควรใช้ยาให้ถูกต้อง และเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา หากผู้ป่วยรายใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ทางเว็บไซต์ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย www.dst.or.th


pageview  1205896    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved