HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 14/06/2555 ]
เทคโนโลยีใหม่แก้ไขโรคนิ้วล็อก

โรคนิ้วล็อก (Trigger Finger) รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นโรคปลอกหุ้มเอ็นอักเสบหรือการอักเสบของพังผืด หรือเส้นเอ็นอักเสบ ทั้งนี้ สาเหตุเกิดจากการใช้มือทำงานในท่ากำมือและแบอย่างแรงซ้ำๆ บ่อยๆ พบบ่อยในแม่บ้าน ผู้ชอบเล่นกอล์ฟ เทนนิส เป็นต้น โรคนิ้วล็อกจะพบในผู้หญิงราวร้อยละ 60 ในผู้ชายร้อยละ 40 แต่จะพบได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่
          นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วัฒนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ร.พ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย อธิบายว่า อาการนิ้วล็อก แบ่งตามระดับของความรุนแรง ดังนี้ ระดับที่ 1 นิ้วไม่มีการล็อก แต่นิ้วมือจะรู้สึกฝืด เวลาเหยียดหรืองอนิ้วมือในตอนเช้าหรือในอากาศเย็นๆ ระดับที่ 2 นิ้วมือจะงอและเหยียดมีเสียงดัง แต่ยังคงเคลื่อนไหวได้ตามปกติ เริ่มมีอาการปวดที่โคนนิ้ว ระดับที่ 3 นิ้วมือเวลางอหรือเหยียดจะมีเสียงดัง และล็อก ต้องใช้มือด้านตรงข้ามมาเหยียดออก และจะมีอาการปวด และระดับที่ 4 นิ้วมือจะล็อก และทำให้นิ้วเหยียดออกหรืองอไม่ได้เลย
          สำหรับการรักษานิ้วล็อก แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 การรักษาโดยการฉีดยา เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นตั้งแต่ระดับที่ 1-3 จะแนะนำให้ฉีดยาสเตอรอยด์เฉพาะที่ จะได้ผลดี และหายกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไป ในรายงานบางแห่งได้ผลดีและหายถึงกว่าร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 30-40 อาการล็อกจะกลับมาเป็นอีกได้ ในกลุ่มที่กลับมาเป็นใหม่นี้ จะให้มีการฉีดยาสเตอรอยด์ซ้ำได้ 2-3 ครั้ง โอกาสที่จะดีขึ้น และหายจะมีบ้างแต่น้อยมาก แพทย์ออร์โธปิดิกส์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดรักษาจะดีกว่า เพราะการฉีดยาสเตอรอยด์เฉพาะที่ซ้ำๆ หลายครั้งจะไม่ทำให้อาการดีขึ้น
          และวิธีที่ 2 การรักษาโดยการผ่าตัด จะแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดในห้องผ่าตัด ในกรณีที่นิ้วล็อกได้รับการฉีดยาสเตอรอยด์เฉพาะที่มีอาการดีขึ้นชั่วระยะหนึ่ง แล้วยังคงมีอาการล็อกอยู่ การทำผ่าตัดโดยวิธีนี้จะทำในห้องผ่าตัด ใหญ่ ต้องฉีดยาชา มีแผลผ่าตัดและมีไหมเย็บด้วย
          นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีการรักษาโดยการเจาะ (Percutaneous release) เป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ทำในกรณีที่ฉีดยาสเตอรอยด์เฉพาะที่ได้ผลดีชั่วระยะหนึ่งแล้วยังคงมีอาการล็อกอยู่ ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าวิธีแรกและกลับไปทำงานได้เร็วกว่าวิธีการรักษาโดยวิธีเจาะนี้ เริ่มทำกันมาในปี ค.ศ.1958 โดย Lortioir จากนั้นก็มีแพทย์หลายท่านที่รายงานได้ผลดี เช่น Eastwood, Bain, Pope and Wolfe โดยมีการใช้เข็มฉีดยาเบอร์ 18, 19 หรือ 21 เข้าไปตัดปลอกเอ็นที่รัดออก Ha และพวกดัดแปลงเครื่องมือในการรักษาโดยวิธีเจาะเช่นกัน ส่วนใหญ่จะทำได้รวดเร็วง่ายและปลอดภัยกว่าวิธีแรกมาก
          โดยได้มีการนำเครื่องมือขูดหินปูนของทันตแพทย์ มาดัดแปลงมาทำการรักษานิ้วล็อก ได้ผลดีมาก เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ข้อดีของการรักษาโดยวิธีนี้คือ
          1. สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด ใช้เวลาในการรักษาไม่เกิน 10 นาที
          2. เสียค่าใช้จ่ายน้อย
          3. ปลอดภัย มีโรคแทรกซ้อน น้อย ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้เร็วกว่าวิธีการผ่าตัดในห้องผ่าตัดแพทย์ที่จะรักษาโดยวิธีเจาะ (Percutaneous release) จะต้องเป็นแพทย์ที่มีการฝึกฝน อบรม จนมีประสบการณ์สูง จะทำให้ผลการรักษาดีมาก


pageview  1205933    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved