HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 12/06/2555 ]
"ปลูกผัก"ได้มากกว่าสุขภาพดี

 คนไทยไม่น้อยทีเดียวที่ยังไม่ได้ลงมือคิดลงมือทำแบบตั้งสมาธิกับโดยวิถีผ่านคำสองคำ"พอเพียง" ถ้าตั้งสมาธิคิดและทำจะรู้และเห็นทันทีว่านี่คือประตูสู่ความสุขอย่างยั่งยืนจริงๆ
          เหมือนคนที่คิดแล้วลงมือทำ จากนั้นนำผลมาแบ่งปันถ่ายทอดสู่กันผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์วิถีแห่งความพอเพียงประตูสู่สุขกายสุขใจอย่างยั่งยืน โดยวิถีง่ายๆ เพียงทางเดียวสบายๆ คือใช้พื้นที่เล็กๆ น้อยๆ ปลูกผักที่คนปลูกได้ผักบริสุทธิ์ทานนำไปสู่การมีสุขภาพกายที่ดีผ่านงานสัมมนาวิชาการและมหกรรมเกษตรในเมือง "ปลูกเมือง ปลูกชีวิต"หลายหน่วยงานอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนและภาคีอีกมากมายจัดขึ้นที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนรถไฟ)
          เริ่มที่คุณญาดา จำนงทอง พยาบาลโรงพยาบาลอ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี ที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจของการ
          ปลูกผัก ที่นำมาเป็นกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยโรคจิตเวชก่อนได้รับความนิยมแพร่หลายกระจายตัวเป็นกิจกรรมยอดฮิตของโรงหมอแห่งนี้ว่า การปลูกผักเพียงไม่กี่สัปดาห์จากการถ่ายทอดของทางโรงพยาบาลทำให้คนไข้จิตเวชรายหนึ่งที่มีความเกลียดพ่อ-แม่อย่างฝังใจได้รับการบำบัด จนวันนี้ได้บอกรักแม่ของเขาในกิจกรรมครอบครัวบำบัด หรือแม้แต่ขอขนมที่โรงพยาบาลแจกระหว่างจัดกิจกรรม เพื่อเอาไปฝากแม่ แล้วคนไข้จิตเวชกว่า 60-70% หลังจากได้รับการบำบัดแล้ว ทางโรงพยาบาลเริ่มสร้างแรงจูงใจให้ปลูกผักในกระเช้าปีใหม่ วันนี้ผลออกมานอกจากคนไข้ไม่เครียด มีกิจกรรมทำเกิดความภาคภูมิใจตัวเองแล้วยังเป็นที่ยอมรับ
          อีกหลายคนบนเวทีเสวนาได้ถ่ายทอด"ความสุขที่ได้มากกว่าการปลูกผักจนถึงสุขภาพดี" อย่างคุณคฑา มหากายี เจ้าของโรงแรมขนาดย่อมกะทัดรัดกับพนักงานกว่า 30 คนเล่าว่าได้ร่วมกันปลูกผักอยู่ชั้นดาดฟ้าของโรงแรมนอกจากจะได้ผักแล้ว การปลูกผักยังแทนการสร้างหลังคา เสียเงินมหาศาล แต่ปลูกผักกับได้ความร่มเย็น โดยเฉพาะพนักงานอีกหลายคนที่เป็นเด็กจบใหม่จิตใจอยู่กับวัตถุนิยม
          "ต้นผักได้สอนพวกเค้าให้เรียนรู้ชีวิตจริงๆ มีภูมิคุ้มกันทำให้เขารู้ว่า ทุกสิ่งในชีวิตไม่จำเป็นต้องซื้อด้วยเงินทั้งหมด บางครั้งก็สามารถทำขึ้นได้เองเช่นเดียวกับลูกของผมอายุ 4 ขวบ เราปลูกผักให้เขาเห็น เค้าก็เข้ามาช่วย แม้กระบวนความคิดภายในผมอาจไม่ทราบว่า จะบ่มเพาะความดีของเค้าอย่างไรในอนาคต แต่ที่ลูกผมได้อย่างเห็นได้ชัดคือรู้จักอดทนรอ เพราะผักต้องใช้เวลาในการปลูกกว่าจะงอกงาม"
          อีกหนึ่งตัวอย่างที่นำเรื่องการปลูกผักในชุมชนเมือง มาผสมผสานกับการรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ที่มีคุณพีรธร เสนีย์วงศ์ประธานโครงการสวนผักคนเมืองของชุมชนนี้ เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะย้ายมาอยู่ที่อ่อนนุช อยู่ใต้ชุมชนแออัดแถวมักกะสัน ก็มีอาชีพเก็บเศษขยะขาย แต่เมื่อถูกเวนคืนที่ดิน ต้องย้ายมาอยู่ที่นี่ จึงจัดตั้ง "สหกร" ซึ่งไม่มีตัว "ณ์" เพราะเป็นการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ
          "ต่อมาเมื่อมีการแลกเปลี่ยนสินค้า มีเนื้อที่เหลือในชุมชน จึงนำมาร่วมกันปลูกผักในชุมชนหากใครสนใจให้นำขยะมาแลกเท่านั้น เป็นการต่อยอดโครงการเดิม เช่นทำน้ำหมักจากขยะมาปลูกผักบำรุงดิน ฯลฯ ใช้เงินเป็นตัวเลือกสุดท้าย
          สิ่งที่ได้คือชุมชนที่มีคนมาจากร้อยพ่อพันแม่แรกๆ มีการทะเลาะเบาะแว้ง แต่ผักสมานสามัคคีเพราะร่วมกิจกรรมปลูกผักกัน ต่างรู้จักกันช่วยเหลือกันเกื้อกูลกัน เรื่องทะเลาะเบาะแว้งหมดไปชุมชนสงบ ทุกคนก็มีความสุข "
          คุณระวีนันท์ ชุลีเกียรติ ประธานนิติบุคคลของคอนโดมิเนียมย่านทาวน์อินทาวน์ ดัดแปลงชั้นดาดฟ้ามาปลูกผัก รวบรวมสมาชิกจากความสมัครใจแรกเริ่มก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เริ่มจากกลุ่มที่เห็นด้วยจากไม่เป็นอะไรเลย ก็ค่อยๆ ทำ ถามจากผู้รู้
          "ทุกวันนี้ปลูกกะเพรา โหระพามะเขือ ให้ทุกคนในคอนโดทานฟรี ติดประกาศให้ทราบเลยเก็บผักไปได้ สังเกตว่าคนที่หยิบบ่อยๆ ก็เริ่มไปชักชวนให้มาร่วมกันรดน้ำผัก มาทำกิจกรรมร่วมกันที่สุดสามัคคีกัน ชุมชนชาวคอนโดมีสุขอย่างเห็นได้ชัด"
          เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้าใครจะลองตั้งสมาธิคิดนิดหนึ่งว่าผลแห่งความสุขที่ได้จากการลงมือทำตั้งแต่คนเดียวไปจนถึงร่วมกิจกรรมกันมาจากคำสองคำ "พอเพียง" นั่นเอง คือเพราะไม่โลภไม่เห็นแก่ตัว แบ่งปัน เอื้อเฟื้อกันเพียงเพราะแค่กิจกรรมเล็กๆที่ทำร่วมกันอย่างใช้พื้นที่เล็กๆข้างซอกบ้าน ที่ว่างของชุมชนมาปลูกผักก็มีผักอนามัยกินที่เสริมสร้างสุขภาพกาย จนนำไปสู่สุขใจคือสามัคคีกันนั่นเองสุข
          นั่นคือปรากฏการณ์หนึ่งที่น่ามหัศจรรย์เกิดขึ้นขณะที่ผักกำลังเติบงอกงาม ณ พื้นที่ว่างเพียงเล็กๆ แห่งสังคมชุมชนกลายเป็นประตูก้าวสู่ทั้งสุขทางกาย ความสามัคคีก็กำลังงอกงามในใจของทุกคนในชุมชนที่ร่วมกันปลูกตั้งแต่ครอบครัวคนในบ้าน ข้างบ้าน ข้างห้อง คนผ่านไปมา
          ปลูกผักแต่ได้มากกว่าผักที่กินแล้วสุขภาพดีแต่ได้สุขภาพใจให้ชุมชนให้ทุกคนโดยไม่ต้องซื้อหาเลยอีกด้วย 
 


pageview  1205447    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved