HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 22/04/2563 ]
ลดวูบอีกติดเชื้อแค่ 19 มาตรการอยู่บ้านเพื่อชาติได้ผลน่าพอใจ

ครม.ไฟเขียวลดค่าไฟฟ้า3ด.ช่วยปชช.
          ความคืบหน้าการแพร่ระบาดและการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของไทยเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 19 คน ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบเดือน แต่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ป่วยสะสมรวม 2,811 ราย กลับบ้านแล้ว 2,108 ราย เหลือรักษา 655 ราย
          ในหลวงโปรดเกล้าฯถุงพระราชทานกทม.-นนท์
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงห่วงใย ทรงให้ความสำคัญ และทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในชุมชนจังหวัดปริมณฑล ในโอกาสนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนในชุมชนกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทุบรี
          โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ได้เชิญถุงพระราชทานจำนวน 3,792 ถุงไปมอบแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีรวม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางกรวย จำนวน 1,525 ครัวเรือน อำเภอบางบัวทอง จำนวน 1,135 ครัวเรือน และอำเภอไทรน้อย จำนวน 1,132 ครัวเรือน อาทิ ชุมชนวัดสิงห์, ชุมชนวัดอุบลวนาราม (วัดบัว), ชุมชนปากคลองห้าร้อยริมคลองพระพิมล, ชุมชนวัดบางไผ่ และชุมชนเทศบาลไทรน้อย กับเชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ เขตสวนหลวง, เขตราชเทวี, เขตคลองสาน, เขตคลองสามวา, เขตธนบุรี, เขตสะพานสูง, เขตตลิ่งชัน และเขตวัฒนา อาทิ ชุมชนครัวเหนือ, ชุมชนหลังสวนสมเด็จย่า, ชุมชนวัดอินทราราม ,ชุมชนแออัดริมทางรถไฟตลิ่งชัน และชุมชนมาชิน เป็นต้น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำงานโรงงาน, เกษตรกร, ค้าขายในชุมชน, รับจ้างรายวันทั่วไป, ขับรถแท็กซี่, ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง, เก็บของเก่าขาย มีรายได้ไม่แน่นอน ส่งผลกระทบกับการดำรงชีพจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19)
          16วันโปรดเกล้าฯไปแล้วเกือบ2แสนถุง
          รวมตั้งแต่วันที่ 5–20 เมษายน 2563 ได้เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครไปแล้วกว่า 136,413 ถุง และชุมชนในจังหวัดปริมณฑลอีกราว 30,813 ถุง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ยังความปลื้มปีติแก่ประชาชนที่ได้รับพระมหากรุณา และต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เป็นล้นพ้น ที่ทรงห่วงใย และทรงไม่ทอดทิ้งประชาชนทุกหมู่เหล่า
          ไทยยิ้มติดเชื้อ19คนต่ำสุดในรอบเดือน
          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวประจำวันว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่จำนวน 19 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย กลับบ้าน 109 ราย ยอดสะสมรวม 2,811 ราย กลับบ้านแล้ว 2,108 ราย เสียชีวิตรวม 48 ราย ยังรักษา 655 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตเป็นชายไทยอายุ 50 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ มีโรคประจำตัวคือเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ยังควบคุมได้ไม่ดี สูบบุหรี่ ประวัติเสี่ยง คือรับส่งผู้โดยสาร ไปดูมวยที่สนามมวยลุมพินี เริ่มมีอาการป่วย คือ หายใจลำบาก ไข้ต่ำ มีอาการไอ 18 มี.ค. เข้ารับการตรวจ รพ.แห่งหนึ่งใน กทม. ได้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงเข้ารับการรักษาอีกครั้งวันที่ 23 มี.ค. ด้วยอาการไข้สูง 39.5 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยามตัว หายใจลำบาก เสมหะเพิ่มขึ้น จึงส่งตรวจหาเชื้อและยืนยันโควิด-19 อาการค่อยๆ แย่ลงและเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.
          อยู่บ้านหยุดเชื้อใช้ได้ผล
          “จาก 27 รายลงมาเหลือ 19 ราย ก็ยังต้อเกาะตัวเลขอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ยังยืนยันว่า ผลจากวันนี้มาจากช่วง 14 วันที่แล้วที่ร่วมกันทำอย่างดี คือ อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ผลตรงนี้มาจากความร่วมมือร่วมใจกัน ส่วนคนรักษาอยู่ 655 ราย ทำให้เตียงในโรงพยาบาลว่างมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดี โรคอื่นก็ลดลงไปด้วย เช่นโรคไข้หวัดใหญ่ก็น้อยลง จากการที่เราหันมาดูแลสุขภาพกัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 19 ราย แบ่งเป็น 1. ผู้ป่วยสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 10 ราย มาจาก กทม. 7 ราย 2. ไปสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 2 ราย 3. อาชีพเสี่ยง 1 ราย 4.พิธีทางศาสนา 1 ราย 5. ค้นหาเชิงรุก 4 ราย จากยะลา 2 ราย และตรวจก่อนทำหัตถการ 2 ราย และ 5. กลับจากต่างประเทศอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ 1 ราย คือ กลับจากสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ กทม.
          กทม.ครองสถิติผู้ป่วยสูงสุด
          สำหรับจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดยังเป็น กทม. 1,447 ราย ผู้ป่วยจากสถานที่กักตัวของรัฐในกทม.มี 3 ราย ขณะที่สตูลมีผู้ป่วย 19 รายมาจากในสถานที่กักตัวของรัฐทั้งหมด แต่การติดเชื้อในจังหวัดเป็นศูนย์ จึงต้องปรับลงมาอยู่ในกลุ่ม 9 จังหวัดที่ไม่มีการรายงานรักษาผู้ป่วยเลย จึงเป็น 10 จังหวัด คือ กำแพงเพชร, ชัยนาท, ตราด, น่าน, บึงกาฬ, พิจิตร, ระนอง, สิงห์บุรี, อ่างทอง และสตูล
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จังหวัดที่มีผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 7 วัน มี 11 จังหวัด ได้แก่ กทม., นนทบุรี, ภูเก็ต, ชลบุรี, ยะลา, ปัตตานี, สงขลา, กระบี่, นราธิวาส, ขอนแก่น และ ชุมพร ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยรายงานในช่วง 14 วันเพิ่มอีก 1 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี ส่งผลให้มียอดรวมเป็น 36 จังหวัด ก็ขอให้ตัวเลขเช่นนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับ กทม.และนนทบุรี เริ่มลดน้อยลง ส่วนต่างจังหวัดยังคงทรงๆ ยังบอกไม่ได้ว่าจะเพิ่มหรือลดลง สำหรับผู้ป่วยรายสัปดาห์พบว่าผู้ป่วยลดลงทุกปัจจัยเสี่ยง แต่กลุ่มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์นี้ คือ คนกลับมาจากต่างประเทศ ไปสถานที่ชุมชนตลาดนัด ถึงต้องขอให้อยู่ห่าง ไปไหนมาไหนขอให้ใส่หน้ากากผ้า หรือไปรับของบริจาคก็ต้องพยายามป้องกันตนเอง เราเห็นกลุ่มก้อนนี้เกิดขึ้นมา
          “กลุ่มที่กักตัวในสถานที่ของรัฐรวม 71 รายแล้ว แต่เราทำ 100% คนกลับมาจากต่างประเทศต้องอยู่ในสถานที่รัฐจัดให้ 14 วัน ซึ่งกลุ่มกลับมาจากต่างประเทศอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐในช่วง 2 สัปดาห์มีผู้ป่วยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า คือ 71 ราย อาชีพเสี่ยงอันดับ 3 39 คน ไปสถานที่ชุมชนตลาดนัดอันดับสี่ 24 คน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
          นายกฯยันส่งจ.ม.ถึงเศรษฐีไม่ได้ขอเงิน
          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดีขึ้น สถิติผู้ติดเชื้อลดลง แต่ต้องดูต่อไป อย่าเพิ่งผลีผลามผ่อนผันมาตรการขอให้รอฟังข้อมูลสาธารณสุขด้วย ไม่อยากตัดสินใจด้วยแรงกดดัน แต่ต้องดูข้อเท็จจริง ดูข้อมูลจากสาธารณสุข หากผ่อนคลายเร็วเกินไปสิ่งที่ทำมาทั้งหมดจะล้มเหลว
          ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงจดหมายเปิดผนึกถึงเศรษฐี ยืนยันว่า ไม่ได้ไปกู้เงินหรือยืมเงิน แต่เพื่อสอดประสานการทำงานรัฐบาลที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ เป็นการส่งโดยเปิดเผย ไม่มีผลประโยชน์ ต้องการระดมความคิดเห็น
          28เม.ย.พิจารณาพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
          ส่วนเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการพิจารณาในวันอังคารที่ 28 เมษายน ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับความร่วมมือและสถิติจากสาธารณสุขเป็นหลัก ขณะที่การผ่อนปรนให้มีการใช้ดุลพินิจ เช่น เรื่องขนส่งสินค้าของประชาชน ให้กระทรวงมหาดไทยดูแล แต่มีการผ่อนปรนอยู่แล้ว อาจยังไม่เข้าใจกัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีอยู่ ยังไม่น่าพอใจ ถ้าร่วมมือกันมาก การผ่อนปรนก็จะมากขึ้นในอนาคต
          ไทยระวังเข้มแรงงานข้ามชาติ
          โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่าประเด็นแรงงานต่างชาติไม่ใช่มีแค่สิงคโปร์ แต่ไทยก็มีเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข ต้องเข้าไปดูแล โดยกรมอนามัย และหน่วยงานท้องถิ่นทั้งหลาย ต้อแสกนพื้นที่ทั้งหมด ว่าแรงงานด้าวอยู่กันอย่างไร เน้นย้ำ ให้มีระยะห่างทางสังคม และส่งเสริมการมีพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ทำหน้าที่คล้าย อสม. โดยการอบรมให้ความรู้ และให้พวกเขาได้ดูแลซึ่งกันและกันในหลายจังหวัด
          คาดหวังว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากสิงคโปร์ น่าจะเป็นมาตากรควบคุม ป้องกัน ในประเทศไทย สองประเด็นนี้สำคัญมาก ต้องป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรค และหากเกิดแล้วต้องควบคุม รวมถึงดูแลพี่น้องแรงงานชาวต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เป็นโรค และเราก็จะปลอดภัยด้วย
          ย้ำผ่อนปรนไม่ใช่ยกเลิก
          นายแพทย์ ทวีศิลป์ ระบุว่า ติดเชื้อเกิดขึ้นมาประเทศไทย สามารถคุมได้ดีระดับหนึ่ง เนื่องจากการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ถือเป็นผลดี แต่การที่เราเรียนรู้ว่า การผ่อนปรน ยกเลิกมาตรการ ผลจะเป็นเอย่างไร ก็ให้เรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่าสิงคโปร มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ขณะที่อังกฤษ ถึงแม้วันนี้จะเพิ่มต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์ แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีท่าทีผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์
          ล่าสุด มีการพูดคุยร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) อีโอซี ซึ่ง อธิบดีกรมควบคุมโรค ขอให้เข้าใจตรงกัน คือ 1) ผ่อนปรน ไม่ได้เลิก 2) การผ่อนปรน ต้องมองตรงกันในภาพใหญ่ ที่ต้องป้องกันและควบคุมโรค ครอบคลุมทั้งประเทศ และ 3) ต้องมีศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ โดยเฉพาะในระดับจังหวัดที่ให้ความร่วมมือ
          หลังจากนั้น ทางการไทยจะมีการตัดสินใจ โดยใช้ข้อมูลเชิงสถิติ รวมถึงนักวิชาการ รวมกับภาคธุรกิจ ช่วยกันคิดหาทางออก อย่างที่บอกสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ปากท้องก็สำคัญ เราต้องไล่เรียงลำดับขึ้นมา ชีวิตต้องอยู่ได้ก่อน เศรษฐกิจ และสังคมจะตามมา เป็นกติกาที่เราใช้ร่วมกันเราถึงมีวันนี้
          “วันนี้เราอยู่ในตัวเลขสองหลัก เราต้องช่วยกันให้จำนวนผู้ป่วยใหม่ ต่ำกว่า 10 ให้ได้ ในระยะเวลาอีก 14 วันเป็นอย่างน้อย เราจะได้เห็นว่าสถาการณ์เป็นอย่างไร เราอาจจะเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ซีลประเทศได้อย่างดี” โฆษก ศบค. กล่าว
          นิสสันปิดสนง.ทั่วโลก
          บริษัทนิสสัน มอเตอร์ เปิดเผยในวันนี้ว่า บริษัทจะปิดทำการสำนักงานใหญ่ทั่วโลกเป็นการชั่วคราว รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ในญี่ปุ่นไปจนถึงต้นเดือน พ.ค.เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
          นิสสัน  ระบุในแถลงการณ์ว่า จะปิดทำการสำนักงานใหญ่ทั่วโลกระหว่างวันที่ 25 เม.ย.-10 พ.ค. โดยจะส่งผลกระทบต่อพนักงานทั้งสิ้น 15,000 ราย
          ทั้งนี้ นิสสันได้ปิดการผลิตส่วนใหญ่แล้วทั่วโลกอันเนื่องมาจากโรคระบาด โดยโรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งของนิสสันในญี่ปุ่นได้ปิดทำการมาตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ขณะที่อุปสงค์รถยนต์ทรุดตัวลงอย่างหนักท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19
          1มหาเศรษฐีพร้อมช่วยรัฐ
          นพ.ปราเสริฐ ประสาททองโอสถ อดีตประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ประธานกรรม การบริหาร และกรรมการบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด ในฐานะผู้สร้างความมั่งคั่งจากการเป็นเจ้าของ ผู้ก่อตั้งสายการบิน บางกอก แอร์เวย์ส และผู้ถือหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ในเครือ กรุงเทพดุสิตเวชการ ที่มีโรงพยาบาลในสังกัดราว 43 แห่ง ซึ่งร่ำรวยเป็นอันดับ 11 ตามการจัดอันดับโดยนิตยสาร ฟอร์บส์ ล่าสุด เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 84,900 ล้านบาท ออกมาเปิดเผยตนพร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลในการร่วมกันฝ่าวิกฤติโควิด-19 ในเมืองไทย
          หมอเสริฐ กล่าวว่า ตนในฐานะที่มีความพร้อมด้านการบิน และการแพทย์ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่แพทยสภา และกระทรวงสาธารณสุข ในการนำเครื่องบินไปรับส่งบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก เพื่อเดินทางไปรักษาคนไข้ติดเชื้อในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะที่ภูเก็ต และส่วนอื่นๆของประเทศ พร้อมกับเข้าไปช่วยให้การศึกษาแก่ผู้คนในการระมัดระวังการติดเชื้อไวรัสจนประสบความสำเร็จในหลายจังหวัด
          "เรื่องที่นายกรัฐมนตรีร้องขอมา ผมคิดว่าปัญหาที่ประเทศไทยเราจะต้องพบเจออีกต่อจากโควิด-19 คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ ผมจึงอยากจะช่วยรัฐบาลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะที่จังหวัดสุโขทัย"
          หมอเสริฐ กล่าวว่า เหตุที่ต้องเป็นจังหวัดสุโขทัย เพราะใต้ดินมีน้ำจำนวนมาก ที่สามารถนำมาใช้เพื่อการเกษตรกรรมได้ เดิมทีสุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียง ใช้น้ำจากแก่งเสือเต้นซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เมื่อรัฐบาลไม่ให้ใช้แก่งเสือเต้น น้ำที่หลากมาในยามฤดูฝนก็จะไหลผ่านเมืองลงทะเลไปไม่สามารถเก็บกักมาใช้ทำประโยช์ได้เลยในหน้าแล้ง ไปดูตอนนี้ก็ได้ว่า แม่น้ำยมสามารถเดินข้ามไปอีกฝั่งได้ เพราะน้ำแล้งแห้งขอดไปหมด
          “ผมอยากจะช่วยออกเงิน ให้รัฐส่งผู้แทนจังหวัดมา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และไม่ทำให้เจ้าของที่ดินเดิมเดือดร้อน พร้อมทหารช่าง รวมถึงอาจจะจ้างทหารที่เกษียณราชการแล้ว แต่ยังมีกำลังวังชาอยู่ มาช่วยกันขุดบ่อน้ำเล็ก ๆ ให้ชาวบ้าน มีน้ำไว้ใช้ ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราอาจใช้เวลาขุดบ่อน้ำให้ชาวบ้านไว้เลี้ยงปลา และทำนาปรังได้ภายในเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น” หมอเสริฐกล่าว
          นายกชี้ไม่เคยแจ้งเปิดห้าง
          เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวยืนยันว่า ยังไม่มีการพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่จะมีการประชุมกันในอังคาร ที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา
          ทุกอย่างอยู่ที่ความร่วมมือ ยืนยันว่ารัฐบาลได้ดูแลประชาชนอย่างครอบคลุม อย่ามองแค่เรื่องเงินเยียวยา ทั้งนี้ จะไม่ผลีผลามผ่อนปรนจะต้องพิจารณาและดูถึงสถิติต่างๆ รวมทั้งจะต้องระมัดระวังให้มากที่สุด แต่จะไม่ทำเพราะแรงกดดัน เข้าใจดีว่าทุกคนได้รับความเดือดร้อน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสุขภาพของประชาชน
          ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้พูดว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ หรือเปิดห้างสรรพสินค้าในวันที่ 1 พ.ค. ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือภาคเอกชนที่ต้องการผ่อนปรน ก็ให้จัดทำแผนรับมือเสนอเข้ามายังภาครัฐเพื่อพิจารณา และได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานความมั่นคงไปดูแลในเรื่องการขนส่งที่มีเสียงเรียกร้องของประชาชนพี่ประสบปัญหาส่งสินค้าข้ามพื้นที่หรือจังหวัดไม่ได้
          เพจดังไทยเอาอยู่เพราะร่วมมือ
          เพจ Infectious ง่ายนิเดียว ซึ่งเป็นเพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ปาราสิต, Emerging disease, ยาต้านจุลชีพ และ เอชไอวี ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกกี่ยวกับ 10 เหตุผล ที่ทำให้ประเทศไทย มีเคสผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ทะลุหลักหมื่น หลักแสน แบบต่างประเทศ โดยยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วย 760,000 ราย ตาย 40,000 ราย, ประเทศสเปน ผู้ป่วย 200,000, ราย ตาย 20,000 ราย, อิตาลี มีผู้ป่วย 178,000 ราย, ตาย 20,800 ราย, ฝรั่งเศส มีผู้ป่วย 152,000 ราย, ตาย 19,000 ราย, เยอรมัน มีผู้ป่วย 145,000 ราย ตาย 4,600 ราย UK มีผู้ป่วย 120,000 ราย ตาย 16,000 ราย
          สำหรับ 10 เหตุผล ที่ทางเพจ “Infectious ง่ายนิดเดียว” สรุปมาแบบเข้าใจง่ายคือ
          1) เรามีระบบคัดกรองที่ชุมชนที่ดี อสม. 1.4 ล้านคน เคาะประตูบ้าน รพ.สต.ลงพื้นที่จริงจัง ทั่วโลก องค์การอนามัยโลกชื่นชม เฉพาะที่ อสม. รพ.สต.คัดกรองได้ส่งเข้าระบบเกือบ 5,000 ราย รวมทั้ง จนท. รพ.สต. และ นวก.สาธารณสุข ทำให้ไม่แพร่ในชุมชน ยังมีผลิตหน้ากากผ้า สอนให้ความรู้จริงจังในชุมชน ถ้า ตปท.คงบ้านใครบ้านมัน คนในชุมชนก็คอยเป็นหูเป็นตา บ้านไหนเสี่ยง บ้านไหนกลับจาก ตปท. จะสอดส่องกัน รายงานผู้เกี่ยวข้อง ประชาชนมีองค์ความรู้ ป้องกันตัวเองในระดับดี
          2) อบต. อบจ. ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จนท. ท้องถิ่น ผู้ว่าการราชการจังหวัด ฐานะ EOC มีอำนาจสั่งการเต็ม Lockdown ปิดเมือง สนับสนุนด้านกำลังคน ตั้งด่านวัดไข้ สุดยอดแล้ว
          3) ทีมระบาด นักระบาด SRRT มดงานคนสำคัญ สอบสวน ค้นหา ลงพื้นที่ตามเคสสัมผัสมาตรวจ คือ โคนันดีๆ นี่เอง ที่ชัดคือ timeline แต่ละเคส ไปที่ไหน ใครเสี่ยงพิกัดจุดเสี่ยง ทั่วประเทศ ทีมกรมควบคุมโรค สคร. ทีมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแล็บ 91 แห่งทั่วประเทศ ตรวจป้ายคอไปแล้ว 1.4 แสนตัวอย่าง ทีม สสจ. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
          4) ทีมหน้าด่าน บก เรือ อากาศ สนามบิน คัดกรองไปแล้ว 6.5 ล้านคน ทีมคัดกรอง ที่สถาบันพยาบาล โรงพยาบาล ทั่วประเทศทั้งภาครัฐ เอกชน ตรวจจับเคสเข้าข่ายสอบสวนโรค 40,000 ราย พบคนไข้ยืนยัน 2,700 ราย และป้ายคอเพื่อหาเชื้อไปแล้ว 1.4 แสนครั้ง ตรวจมากกว่าประเทศญี่ปุ่น ที่ระบาดระลอก 2
          5) ทีมอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ใน รพ.แพทย์ ทั้งที่ทำงานและเกษียณราชการแล้วเบื้องหลัง ระดมสมอง ออกแนวทางการดูแลรักษาที่ได้มาตรฐานของไทยเอง และสอน อบรม ตลอด update ตลอด ไม่เคยขาด เร่งผลิตวัคซีน ผลิตยา เพียงพอถ้ามีระบาดระลอกสอง
          6) ทีมมดงานในสถาบัน โรงพยาบาล หมอ แผนไทย พยาบาล เภสัช ทันต MT RT PT นวก. สาธารณสุข และ back office ประชาสัมพันธ์ การเงิน แม่บ้าน รปภ. จ่ายกลาง นิติเวช โภชนาการ ห้องบัตร ฝ่ายช่าง รพ. นักสังคมสงเคราะห์ palliative และจิตอาสา ซักซ้อมแผนทั้งบนโต๊ะ ซ้อมสถานการณ์จริง เตรียมเตียง ไอซียู ห้องแยกโรค พร้อมเพรียง
          7) ประชาชนที่ให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามคำแนะนำ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ กินร้อน ช้อนเรา ล้างมือ สวมหน้ากาก ห่างกัน 1-2 เมตร ที่เห็นชัดต่างจาก ตปท. คือ หน้ากากอนามัย เราใส่มากกว่าในยุโรป ตั้งแต่ระบาด แถมบางท้องที่ไม่ใส่ถือว่าผิดกฎหมาย และภาครัฐหน่วยงานอื่น เอกชน ประชาชน บริจาคสิ่งของ เงิน อุปกรณ์ต่างๆ อาหารหน้ากาก ชุดหมี กล่องอะคริลิก เตียงเคลื่อนย้ายคนไข้แรงดันลบ สร้างห้องแรงดันลบ โรงแรมยินดีให้ใช้สถานที่เป็นที่กักกัน หรือ state quarantine รองรับเคสคนไทยกลับจากต่างประเทศ ตัวเลขที่เตรียม 20,000 ราย ตอนนี้ใช้ไป เพียง 2,300 ราย ตรวจจับ ดักจับ คนไทยที่ติดเชื้อจาก state quarantine ได้ 70 คน ทำให้ไม่แพร่กระจายในชุมชน
          8) วัฒนธรรมเราไม่ได้กอด จูบ สัมผัสมือ เราไหว้ ไม่สัมผัสตัวกัน เหมือนต่างประเทศ จึงเห็น ราชวงศ์อังกฤษ แนะนำให้ไหว้อย่างเอเชีย ลดการจับมือ กอดจูบ
          9) ภูมิอากาศ ไทยร้อน ไวรัสโคโรนาไม่ได้ชอบ ตปท. อากาศหนาว เย็นกว่าไทย แต่พอเข้าฤดูฝน หนาว โรคประจำถิ่น เจ้าเก่า จะมาเยือน ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก หลอดลมอักเสบจากอาร์เอสวีในเด็ก เราจึงต้องรีบจบกับโคโรนาอีก 1-3 เดือน ก่อนเชื้อประจำถิ่นเราจะมาทวงแชมป์
          10) การขนส่งมวลชนเรา ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้าเป็นหลักแบบต่างประเทศ ทำให้คนไม่ได้เคลื่อนย้ายมวลชน เราจึงกังวลอย่างกรณีสงกรานต์ที่คนจะเดินทางเป็นแสน ข้อมูลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กราฟการเดินทาง เคลื่อนย้ายมวลชน ลดลงชัดเจน
          ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า 5 อาชีพเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมียอดผู้ป่วยมากที่สุด และส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีอายุ 20-39 ปี ได้แก่
          1.รับจ้างทั่วไป/ฟรีแลนซ์ พบผู้ป่วย 395 คน
          2.ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว พบผู้ป่วย 308 คน
          3.พนักงานบริษัท/โรงงาน พบผู้ป่วย 235 คน
          4.พนักงานในสถานบันเทิง พบผู้ป่วย 176 คน
          5.นักเรียน/นักศึกษา พบผู้ป่วย 164 คน
          ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 21 เม.ย. 63 จากยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,811 คน
          ครม.รับข้อเสนอลดงบปี64
          นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ส่วนราชการต่าง ๆ เสนอ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  อาทิ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปรับลด 60,271,400 บาท  สถาบันพระปกเกล้า ปรับลด  20,968,163 บาท  สำนักงานศาลยุติธรรม ปรับลด 157,866,100 บาท สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปรับลด 33,806,000 บาท สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินปรับลด 23,079,100 บาท สำนักงาน ป.ป.ช.ปรับลด 166,725,600 บาท สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปรับลด 298,516,800 บาท สำนักงานอัยการสูงสุดปรับลด 141,716,500 บาท สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปรับลด 10,556,300 บาท และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ปรับลด 13.9633 ล้านบาท เป็นต้น
          เตรียมรับคนไทยตกค้างในญี่ปุ่นกลับ97คน
          สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า วันนี้ (21 เม.ย.) คนไทย 97 คนที่ตกค้างในญี่ปุ่นจะเดินทางกลับประเทศไทยโดยสายการบิน All Nippon Airways (ANA)  เที่ยวบินที่ NH 847 ออกเดินทางจากท่าอากาศยานฮาเนดะ และสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG643 จากท่าอากาศยานนาริตะ ถึงประเทศไทยเวลา 15.30 น. และ 16.30 น. ตามลำดับ
          เที่ยวบินทั้ง 2 เป็นเที่ยวบินที่ได้รับอนุญาตให้บินรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เป็นผู้ประสานงานขอความร่วมมือสายการบินและขออนุมัติจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย โดยมีจำนวนผู้โดยสารตามที่ได้รับการจัดสรรตามศักยภาพของการรองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทั่วโลก 200 คนต่อวันของรัฐบาลไทย
          สำหรับคนไทยทั้ง 97 คนเป็นผู้ที่ลงทะเบียนในแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับไทยจากประเทศญี่ปุ่นโดยเร่งด่วนกับสถานเอกอัครราชทูตฯ และรับทราบเกี่ยวกับมาตรการกักตัว 14 วันหลังจากถึงประเทศไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อเตรียมสถานที่การกักตัว 14 วันแล้ว
          ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ตระหนักถึงความทุกข์ยากและความเดือดร้อนของคนไทยในญี่ปุ่นอีกจำนวนมากที่ยังตกค้างอยู่ในญี่ปุ่น และกำลังเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนได้กลับบ้านเกิดโดยเร็วที่สุด
          ผู้ว่าฯตรังกำชับจัดระเบียบตลาด
          นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ได้กำชับให้ทุกพื้นที่ดำเนินมาตรการการจัดระเบียบตลาดสด ตลาดนัด เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19 โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตลาดในพื้นที่ดูแลตลาดให้ถูกสุขลักษณะ และปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัดตรังโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะการกำหนดให้ตลาดสดและตลาดนัด เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ ร้านขา


pageview  1205134    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved