HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 28/06/2562 ]
เชื้อวัณโรคอันตราย แนะสังเกตอาการ-เฝ้าระวังใกล้ชิด

  พบติดต่อตั้งแต่เด็กตายปีละ1.2หมื่นคน
          "สาธารณสุข" เตือนเบื่ออาหาร เหงื่อออกกลางคืน หรือที่บ้านมีคนป่วยวัณโรคอยู่แล้วโดยเฉพาะเด็กให้รีบไปตรวจคัดกรอง รักษาได้หายขาด ชี้เชื้อวัณโรคทนทานมาก ลอยอยู่ในอากาศได้นานถึง 6 เดือน คนที่เป็นส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ โดยมักติดเชื้อตั้งแต่เด็กพบเสียชีวิต 1.2 หมื่นรายต่อปี
          จากกรณีที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สรุปสาเหตุการเสียชีวิตของ น.ส.บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือ "น้ำตาล เดอะสตาร์" นักร้องนักแสดงชื่อดัง ว่าเกิดจากวัณโรคหลังโพรงจมูก ซึ่งนับเป็นโรคที่ทั่วโลกพบได้น้อยมากเพราะจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น ซึ่งได้ทำให้คนไม่น้อยตื่นตัวกับโรควัณโรคที่เป็นโรคที่มีมานานและกระทรวงสาธารณสุขพยายามจะป้องกันและหวังจะยุติโรคนี้ให้หมดไป
          ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.62 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด ก.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ก.สาธารณสุขได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการค้นหาคัดกรอง ป้องกันดูแลรักษา และควบคุมวัณโรค เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 60-61 ได้คัดกรองค้นหาในกลุ่มเสี่ยง ประมาณ 5 ล้านคนอาทิ ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้สูงอายุที่มีโรค ผู้ป่วยเบาหวานแรงงานข้ามชาติ บุคลากรสาธารณสุขพบผู้ป่วยวัณโรค 22,784 ราย และส่งต่อป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา สำหรับในปี 62 ตั้งเป้าลดผู้ป่วยรายใหม่ให้เหลือ 88 คนต่อแสนประชากรในปี 64 จากที่พบ 156 คนต่อแสน ประชากรในปี 60
          ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนสังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกกลางคืน หรืออยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะเด็ก ให้ไปรับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากป่วยจะได้รับการรักษา ซึ่งโรคนี้มียารักษาหายขาด จะได้ผลดีถ้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและวิตามินเพิ่มภูมิต้านทานร่างกาย
          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัยอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่าไมโคแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ80 เกิดที่ปอด และสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เป็นต้น กลุ่มที่รับเชื้อได้ง่ายคือเด็กจะรับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ในห้องที่ทึบอับแสงเชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดด เชื้ออาจอยู่ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือนแพร่กระจายอยู่ในอากาศและเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ
          ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการจะทราบว่าติดเชื้อวัณโรคได้จากการตรวจเสมหะ โดยการทดสอบทูเบอร์คิวลินจะให้ผลบวก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเคยติดเชื้อตอนเป็นเด็ก ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการของโรค ได้แก่ การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อทำให้ได้รับเชื้อเพิ่มขึ้น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะการติดเชื้อ HIV ผู้ติดยาเสพติด และโรคขาดอาหาร
          อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าประเทศไทยฉีดวัคซีน BCG ให้เด็กทุกคนตั้งแต่แรกเกิดตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลก ซึ่งมีผลชัดเจนในการป้องกันวัณโรคชนิดรุนแรงแบบแพร่กระจายและวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง ทั้งนี้ สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทยพบผู้ป่วย 108,000 รายต่อปี เสียชีวิต 12,000 ราย


pageview  1205094    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved