HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โลกวันนี้ [ วันที่ 21/05/2556 ]
ตัดเนื้อร้ายแบบถนอม'เต้า'

  หลังจากมีรายงานกรณีแองเจลียา โจลี ดาราฮอลลีวู้ด ตัดสินใจผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้างเพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้า นมจาก 87% ลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 5% นอกจากได้รับการชื่นชมแล้ว ในขณะเดียวกันยังช่วยปลุกกระแสการระมัดระวังมะเร็งร้ายชนิด นี้ขึ้นอีกครั้ง เพราะผู้หญิงทุกคนย่อม ไม่อยากสูญเสียอวัยวะสุดที่รักไป อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีเทคนิคผ่าตัดใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกเพิ่มขึ้นเพื่อ สงวนเต้าของตนเองไว้ได้แล้ว
          ทั้งนี้ โจลีตัดสินใจลดความเสี่ยงเกิดโรคร้ายของตนลงหลังจากแพทย์ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 โดยตัดสินใจตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง ซึ่งเก็บผิวหนังทั้งหมดและหัวนมเอาไว้ หรือที่เรียกว่า bilateral prophylactic nipple-areolar complex sparing mastectomy โดยใช้เทคนิค nipple delay procedure ก่อนที่จะทำ การผ่าตัดเอาเนื้อเต้านมออกมาเพื่อ เพิ่มโอกาสอยู่รอดของหัวนม จากนั้นได้ใส่เต้านมเทียมชนิดชั่วคราวไว้ใต้กล้ามเนื้อหน้าอก และมาเปลี่ยน เป็นแบบถาวรในภายหลัง
          นพ.ธงชัย ศุกรโยธิน ศัลยแพทย์ด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลเวชธานี เผยว่า การตรวจหาความผิดปรกติของยีน BRCA ในไทยยังไม่แพร่หลาย และไม่ได้ใช้ประจำในปัจจุบัน การตรวจมีค่าใช้จ่ายสูงและยังไม่มีการศึกษาถึงประโยชน์ของการตรวจที่ชัดเจนในไทย แต่ในต่างประเทศมีการศึกษาและใช้เป็นเกณฑ์คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง สูง จึงทำให้มีการตรวจที่แพร่หลาย เมื่อผลตรวจออกมาว่ามียีน BRCA1 ผิดปรกติ แสดงว่าคนคนนั้นมีความ เสี่ยง 65-81% ที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ในอนาคต และถ้ามีความผิดปรกติของยีน BRCA2 จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม 45-85% แนว ทางที่ผู้ป่วยป้องกันได้คือ 1.ตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง 2.ตัดรังไข่ออกสองข้าง และ 3.การบำบัดรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ป่วยประกอบกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่นที่โจลีเลือกใช้แนวทางที่ 1 นั่นเอง
          สำหรับ "เทคนิคการผ่าตัดที่เลาะเอาเนื้อเยื่อเต้านมโดยเก็บหัวนมและผิวหนังด้านนอกไว้" ยังไม่ถือว่าเป็นวิธีมาตรฐานของการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม ในต่างประเทศทั้งแถบยุโรปและ อเมริกายังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย แต่มีการนำมาใช้ผ่าตัดรักษาผู้ที่พบว่าเป็นมะเร็งเต้านมในบางกรณี โดยอาจต้องมีการฉายแสงที่บริเวณหัวนมที่เก็บไว้ ทั้งฉายแสงในห้องผ่าตัดเลยหรือฉายแสงภายหลัง เพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ในไทย เริ่มมีการผ่าตัดเทคนิคนี้แล้ว แต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก
          ส่วนทางเลือกใหม่อื่นๆที่นำมาใช้โดยคำนึงถึงสภาพจิตใจของ ผู้ป่วยที่เป็นผู้หญิง ซึ่งย่อมห่วงใยในสรีระของตัวเอง ได้แก่ การเสริม เติมเต็มเต้านมจากการผ่าตัดเนื้อร้ายออก ที่สามารถทำได้ทันทีในคราวเดียวกัน โดยใช้เนื้อส่วนแผ่นหลัง และท้องน้อยของผู้ป่วย
          ผศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน ผู้อำนวยการ Breast Center โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า เป็น การผ่าตัดด้วยเทคนิคการย้ายไขมัน และกล้ามเนื้อที่ท้องหรือแผ่นหลังของผู้ป่วยมาปลูกถ่าย เพื่อทดแทนส่วนที่เสียไป โดยใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 4-5 ชั่วโมง การผ่า ตัดวิธีนี้มีข้อดีคือ เป็นโอกาสกำจัดไขมันส่วนเกินหน้าท้องไปพร้อมกัน แถมยังได้เต้านมที่สวยงามกลับมาทันที แต่ข้อเสียคือ อาจใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นอย่างน้อย 5-7 วัน
          ในส่วนของการเลาะกล้ามเนื้อแผ่นหลังเพื่อเสริมเต้านมนั้น ที่ผ่านมาวิธีนี้มีข้อจำกัดในการเลาะกล้ามเนื้อ ทำให้ได้ปริมาณไม่เพียงพอ ซึ่งต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญสูง โดยศัลยแพทย์ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญตั้งแต่การประเมินปริมาณ และการทำงานของกล้ามเนื้อแผ่นหลัง เพราะจะสามารถประมาณขนาดของเต้านมที่เสริมสร้างขึ้นมาใหม่ได้ ข้อดีของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้คือ ใช้เวลาพักฟื้นเพียง 3-4 วันเท่านั้น เนื่องจากกล้ามเนื้อแผ่นหลังมีการสมานและมีเลือดหล่อเลี้ยงได้ดีกว่า แต่สำหรับ ผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬาหรือผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหนักๆ หลังการผ่าตัดอาจไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่เหมือนเดิม
          ทั้งนี้ กล้ามเนื้อบริเวณหลังที่หนาประมาณ 2 เซนติเมตร สามารถสร้างเต้านมใหม่ขนาดกลางได้ ยิ่งถ้าหนากว่านี้ และมีเนื้อมากก็ยิ่งสร้างเต้านมขนาดใหญ่ได้ ส่วนในผู้ป่วยที่มีรูปร่างผอมบาง อาจสร้างเต้านมได้ขนาดเล็กเท่านั้น เนื่องจากกล้ามเนื้อมีไม่เพียงพอ
          การผ่าตัดเสริมเต้านมใหม่พร้อมกับการกำจัดเนื้อร้ายทั้ง 2 วิธีนี้ แม้ว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปรกติและมีความ สุขเหมือนเดิม แต่แพทย์ยังจำเป็นต้องให้การรักษาร่วมกับวิธีอื่นด้วย อาทิ การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด การให้ยาต้านฮอร์โมนและยารักษาแบบพุ่งเป้าหมาย
          ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อลดโอกาสการเกิดซ้ำในช่วง 2-3 ปีแรกของการรักษา ขณะเดียวกันผู้ป่วยยังต้องหมั่นไปตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำหลังผ่านการรักษาโรคมะเร็งไปแล้ว เพื่อความไม่ประมาท


pageview  1205449    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved