HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โลกวันนี้ [ วันที่ 17/09/2555 ]
อาหารไขมันสูงอ้วน-ลดพลังสมอง

          ในโลกปัจจุบันชาวโลกหันมา ใส่ใจเรื่องสุขภาพกันเพิ่มขึ้น แต่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ยังละเลย บริโภคอาหารไม่เหมาะสมจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ในที่นี้รวมถึงการรับประทานอาหารที่มี ไขมันสูงมากเกินความพอดีจนเป็นที่มาของความอ้วน พ่วงด้วยโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง และยังกระทบต่อพลังสมองด้วย ล่าสุดนักวิจัยไทยจากรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เผยผลการศึกษาในหนู ซึ่งค้นพบกลไกที่แสดงให้เห็นชัดเจน ว่าอาหารไขมันสูงส่งผลกระทบต่อสมอง การเรียนรู้และความจำ บ่งชี้เป็นนัยว่ามนุษย์คงมีสภาพไม่ต่างกัน ที่สมองเสื่อมได้โดยไม่ต้องโทษ "วัย" หรือ "ความแก่" การค้นพบนี้น่าจะช่วยปฏิวัติการบริโภคอาหาร ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในกลุ่ม เด็กที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต
          ทั้งนี้ การบริโภคอาหารไขมันมากเกินไปสามารถทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และนำไปสู่โรคเบาหวานประเภท 2 และโรคหัวใจ ซึ่งเคยมีการศึกษาพบว่า วัยรุ่นอ้วนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยังมีผลการทดสอบความรู้ความเข้าใจหลาย ด้านแย่ลงด้วย เมื่อเทียบกับเพื่อนๆที่ไม่เป็นโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานมาก่อน แต่ยังไม่เคยมีใครค้นหาเหตุผลว่าบริโภคไขมันสูงจนทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินมีผลเปลี่ยน แปลงการทำงานของตัวรับอินซูลินในระบบประสาทส่วนกลางเกี่ยวกับ
          การเรียนรู้และความจำอย่างไร
          จากเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยของ รศ.ดร. ทพญ.สิริพร ฉัตรทิพากร หัวหน้าหน่วยวิจัยสรีรวิทยาระบบประสาท ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทาง ไฟฟ้าหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหา วิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง "ผลของการกินอาหารไขมันสูงติดต่อกันเป็น เวลานานต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิด ขึ้นกับการสื่อประสาทของสมองส่วน ฮิปโปแคมบัสของหนู"
          โดยได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ค้นพบว่าอาหารไขมันสูงกระทบต่อสมองจริง
          ในการศึกษานักวิจัยตั้งสมมุติ ฐานไว้ว่า การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงจะทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จากการตรวจวัดในกระแสเลือดมีการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอรอยด์ทั้งในกระแสเลือดและ สมอง และยังทำให้การตอบสนองต่ออินซูลินในสมองลดลง ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวนี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นในเซลล์ที่เปลือกของต่อมหมวกไตภายใต้การควบคุมจากสมองส่วนกลาง โดยสังเคราะห์มาจากไขมันกลุ่มโคเลสเตอรอล มีฤทธิ์ต่อเมตาบอลิซึมของแป้งและน้ำตาลในการเพิ่มการสลายแป้งให้เป็นน้ำตาล รวมทั้งเสริมฤทธิ์ของอินซูลิน ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีการใช้พลังงานจากน้ำตาล เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต่อเมตาบอลิซึมของไขมันด้วยการเพิ่มการสะสมของไขมันโดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง
          ผลจากการศึกษาในหนูทด ลองพบว่า ระดับฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอรอยด์เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ ที่ 4 หลังจากกินอาหารที่มีไขมันสูง และตรวจพบภาวะดื้อต่ออินซูลินในกระแสเลือดในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 ขณะเดียวกันยังพบว่าการตอบสนองของตัวรับอินซูลินในระบบประสาทกลางไม่สามารถทำงานตามปรกติ หรืออาจเรียกได้ว่าเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินในเซลล์สมองขึ้นในสัปดาห์ที่ 12 ซึ่งพบได้ชัดเจนในบริเวณสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และหน่วยความจำ
          นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงยังทำให้เกิดภาวะเครียดในสมองด้วย เนื่องจากมีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอรอยด์ขณะมีความ เครียดสูงมากขึ้นในสมอง และยังเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกับที่เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินในเซลล์สมองด้วย ที่สำคัญนักวิจัยพบด้วยว่าหนูที่เลี้ยงด้วยอาหารไขมันสูง นอกจาก มีฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอรอยด์ในสมองสูงขึ้นแล้ว ยังมีความบกพร่อง ในการเรียนรู้และความจำ เมื่อเทียบ กับหนูที่เลี้ยงด้วยอาหารปรกติ ซึ่งความบกพร่องนั้นมีความสัมพันธ์กันกับภาวะดื้อต่ออินซูลินในสมอง
          การศึกษานี้จึงช่วยอธิบายได้ว่าภาวะดื้อต่ออินซูลินในเซลล์สมองและความเครียดในสมองสามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาเดียว กันหลังจากบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดย การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอรอยด์ในสมองเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเครียดที่เกิดขึ้น และส่งผลทำให้เกิดการเรียนรู้และความจำลดลงตามมา
          การศึกษาดังกล่าวนี้ช่วยสนับสนุนหลายการศึกษาในต่างประเทศ ดังเมื่อเร็วๆนี้นักวิจัย Brigham and Women's Hospital ในสหรัฐ เปิดเผยผลการศึกษาช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า การบริโภคอาหารไขมันอิ่มตัวสูงสา- มารถยับยั้งการทำงานของสมองได้ โดยผู้หญิงที่บริโภคอาหารไขมันสูงมีการทำหน้าที่ด้านการรับรู้ คิด และ ความจำต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่บริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวน้อยที่สุด
          ด้านนักวิจัยมหาวิทยาลัยนิวยอร์กของสหรัฐศึกษาพบว่า เด็กๆ ที่รูปร่างอ้วนมีผลกระทบต่อการศึกษา เนื่องจากความอ้วนกระทบต่อพลังสมองของพวกเขา โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเนื่อง จากความอ้วน เช่น ความดันเลือด โคเลสเตอรอลสูง และภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้มีคะแนนทดสอบความ คิดความจำแย่ลง
          ตัวอย่างการศึกษาเหล่านี้ช่วยตอกย้ำได้ว่าปัญหาอ้วน ความจำเสื่อม สามารถป้องกันได้ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างสมดุล 
 


pageview  1206115    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved