HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โลกวันนี้ [ วันที่ 16/07/2555 ]
คอลัมน์ มุมชีวิต: ยาเม็ด-ฉีด'คุมกำเนิดชาย'

หากถามว่าการคุมกำเนิดควรเป็นความรับผิดชอบของใคร ดูเหมือนฝ่ายหญิงจะรับภาระนี้มากกว่าและมีทางเลือกมากกว่า ทั้งการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ยา ฉีด การคุมกำเนิดแบบฝังใต้ผิวหนัง และการทำหมันถาวร ต่างจากฝ่ายชายที่มีทางเลือกน้อยกว่า เพียงการใช้ถุงยางอนามัยและการทำ หมันชายเท่านั้น
          อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิจัย ได้คิดค้นพัฒนาวิธีคุมกำเนิดชายไว้หลายอย่างทีเดียว มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
          ยาเม็ดคุมกำเนิดชาย
          นักวิจัยหลายทีมพยายามหาวิธีช่วยผู้ชายคุมกำเนิด ในกรณียาเม็ดก็กำลังมีการพัฒนาอยู่เช่นกัน เป็นผลงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในเมืองนิวยอร์กของสหรัฐ ยาขนานนี้มีชื่อว่า "BMS 189543" ทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตวิตามิน A ได้ชั่วคราว ซึ่งเป็นวิตามินที่จำเป็นในการผลิตอสุจินอก เหนือจากการช่วยมองเห็น โดยยาจะทำให้ผู้ชายหยุดสร้างอสุจินาน 2-4 สัปดาห์ และจะเริ่มต้นผลิตอสุจิ ใหม่ได้ทันทีหลังหยุดใช้ยา แต่ยังเป็น เพียงการทดลองในหนู คาดว่าจะทำการทดลองในมนุษย์ภายใน 2-3 ปี
          ยาเม็ดหยุดหลั่งน้ำอสุจิ
          ด้านนักวิจัยของโรงพยาบาลคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ในอังกฤษ กำลังพัฒนายาคุมชนิดเม็ดรับประทานเช่นกัน ซึ่งจะป้องกัน ไม่ให้อสุจิถูกปล่อยออกมาหลังมีเซ็กซ์ เพราะยาดังกล่าวมีตัวยาที่ใช้ในยาคุมความดันโลหิตสูงและกลุ่มยารักษาโรคจิตที่ใช้ในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้มีการหลั่งน้ำอสุจิออกมาน้อย ผลจากยาจะทำให้กล้ามเนื้อในระบบสืบพันธุ์ของผู้ชายเหมือนเป็นอัมพาต จึงช่วยสกัดการปล่อยน้ำอสุจิไว้ชั่ว คราวโดยไม่กระทบกิจกรรมกับศรีภรรยา นอกจากนี้ยายังทำงานภาย ใน 3 ชั่วโมง และได้ผลนาน 2 วัน คาดว่าจะได้ใช้ภายใน 10 ปี
          อัลตราซาวนด์อัณฑะ
          ส่วนนักวิจัยมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาของสหรัฐใช้วิธีแปลก หน่อย โดยศึกษาวิธีนำเทคโนโลยีอัลตราซาวนด์มาใช้ ซึ่งทดลองในหนู และลิงพบว่าใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ส่องอัณฑะ 15 นาที ช่วยคุมกำเนิด ได้นานถึง 6 เดือน โดยช่วยกำจัดเซลล์สืบพันธุ์ที่ผลิตอสุจิภายในอัณฑะ ทำให้ลดจำนวนอสุจิลงเหลือศูนย์ได้ ซึ่งการทำอัลตราซาวนด์ 2 ครั้งๆละ 15 นาที โดยทำห่างกัน 2 วัน ให้ผลลัพธ์ดีที่สุด แต่หากต้องการทำหมันถาวรอาจใช้วิธีทำอัลตราซาวนด์หลายครั้ง โดยเว้นช่วงห่างกัน 2-3 วัน แต่วิธีนี้คาดว่าคงใช้เวลาศึกษาอีกหลายปีกว่าจะได้ใช้
          ฉีดฮอร์โมนเข้าก้น
          นอกจากยาเม็ดแล้วยาฉีดคุมกำเนิดก็มีการศึกษาเช่นกัน ซึ่งต่อไปผู้ชายอาจใช้วิธีฉีดยาคุมกำเนิดเดือนละครั้งได้ แถมยังได้ผลดีเหมือนยาคุมสำหรับผู้หญิงและถุงยางอนามัย วิธีนี้เป็นการพัฒนาของนักวิจัยในจีน โดยการฉีดฮอร์โมนเพศชายหรือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเข้าที่ก้น ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปควบคุมเคมีสมอง 2 อย่างคือ ฮอร์โมน Follicle Stimulating Hormone (FSH) และ  Luteinizing hormone (LH) เพื่อทำให้หยุดการผลิตอสุจิชั่วคราว
          โดยปรกติฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีความจำเป็นในการสร้างอสุจิ แต่ถ้าร่างกายพบว่ามีอยู่มากเกินไปจะให้ผลเป็นตรงข้ามคือหยุดการผลิตอสุจิลง การทดลองกับชาย 1,000 คนในจีนพบว่า ฉีดแล้วช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 95% จากนั้นหลังหยุดฉีด 6 เดือน การผลิตอสุจิของผู้ร่วมทดลองสามารถเข้าสู่สภาพปรกติได้เกือบทั้งหมด ยกเว้น 2 ราย คาดว่าได้ใช้ภายใน 5 ปี
          ฉีดเจลจับอสุจิ
          สำหรับยาฉีดอีกแบบหนึ่งมีการพัฒนาเป็นเนื้อเจล ผลงานของนักวิจัยในอินเดีย โดยเจลนี้เรียกว่า RISUG (Reversible Inhibition of Sperm Under Guidance) ใช้ฉีดเข้าท่ออสุจิ ซึ่งจะไปเคลือบผนังท่อและสกัดอสุจิที่ปะปนไปกับน้ำอสุจิให้น้อยลง นอกจากนี้เคมีในเจล ยังทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ให้ไม่สามารถ ปฏิสนธิกับไข่ของผู้หญิงได้ การศึกษาพบว่าช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 1-3 ปี จากการฉีดเพียงครั้งเดียว ซึ่งใช้เวลา 15 นาที นักวิจัยในสหรัฐก็กำลังพัฒนาเจลที่คล้ายกันนี้เช่นกัน คาดว่าการคุมกำเนิดรูปแบบนี้อาจได้เห็นภายใน 5 ปี
          ทำหมันด้วยยีน
          การคุมกำเนิดชายอีกวิธีที่คาดว่าจะได้เห็นกันในอนาคตคือ "การคุมกำเนิดด้วยยีน" ผลจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยเอดินบะระของ อังกฤษ ค้นพบยีนชื่อว่า Katnah ที่จำเป็นสำหรับการสร้างอสุจิที่สมบูรณ์ แข็งแรง ซึ่งจะช่วยปูทางสู่การพัฒนายาในการยับยั้งการทำงานของยีนเพื่อคุมกำเนิดชั่วคราว หรือเป็นยาฉีดเพื่อทำหมันถาวรได้ ทั้งนี้ ยังต้องใช้เวลาอีกร่วม 10 ปีเช่นกัน
          โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่ามีหลายวิธีคุมกำเนิดที่จะเป็นทางเลือก สำหรับผู้ชายในอนาคต คงต้องอดใจรอกันอีกหน่อย


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved