HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
พิมพ์ไทย [ วันที่ 01/02/2555 ]
เฝ้าระวัง'น้ำขวด-น้ำแข็งคืนความมั่นใจผู้บริโภค
          นายแพทย์บุญชัย  สมบูรณ์สุขอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกรุงเทพมหานคร จัด"โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม"เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูและเยียวยาธุรกิจ SME ผู้ประกอบการน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็ง ให้สามารถฟื้นตัวกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว กว่า 724 แห่งครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดประสบภัยน้ำท่วม 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตรอุทัยธานี ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทองพระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานีปราจีนบุรี นครนายก นครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรีและกรุงเทพมหานคร
          แม้ผลกระทบจากน้ำท่วมที่ผ่านมาจะรุนแรงและคาดว่าจะกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ อย่างมหาศาล แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย การกลับมาผลิตและการฟื้นฟูในภาคส่วนต่างๆ ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งในพื้นที่ประสบอุทกภัย ที่ต้องมีการตรวจสอบเฝ้าระวังความสะอาดปลอดภัยและควบคุมคุณภาพในขั้นตอนของการผลิตอย่างใกล้ชิด ซึ่งภารกิจนี้ถือเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
          "ข้อมูลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ได้เก็บตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งในจังหวัดต่างๆ มาทำการตรวจวิเคราะห์รวม 51 ตัวอย่าง แบ่งเป็นน้ำดื่มบรรจุขวด 44 ตัวอย่าง ตรวจพบไม่เข้ามาตรฐานร้อยละ 34.1  และเป็นน้ำแข็ง 7 ตัวอย่างตรวจพบไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 42.8  ซึ่งเป็นการไม่ได้มาตรฐานทางจุลินทรีย์เนื่องจากตรวจพบเชื้อโคลิฟอร์ม เชื้ออีโคไลและเชื้อโรคอาหารเป็นพิษชนิดสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ซึ่งเชื้อเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอาหารเป็นพิษแทบทั้งสิ้นและยังพบอีกว่าตัวอย่างส่วนหนึ่งไม่ได้มาตรฐานทางเคมี คือ มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ความกระด้างและปริมาณแมงกานีสเกินมาตรฐาน"
          อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า"โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม" ได้เริ่มดำเนินการแล้วในช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่ จ.นครสวรรค์ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ นอกจากจะได้รับความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งแล้ว ยังได้รับ "ชุดทดสอบโคลิฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง" และ "ชุดทดสอบความกระด้างของน้ำ" ฟรี เพื่อนำไปทดสอบและพัฒนากระบวนการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งของตนเอง เพื่อจะได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐานมีความปลอดภัย และช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคส่วนแนวทางการกระจายชุดทดสอบเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้น จะมีการส่งต่อให้กับสำนักงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัด ได้นำไปใช้ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยในน้ำดื่มและน้ำแข็งในจังหวัดที่ประสบภัยให้ฟรี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากการบริโภคน้ำดื่มและน้ำแข็งได้อย่างมั่นใจ หากพบว่าน้ำดื่มหรือน้ำแข็งไม่ปลอดภัยหรือไม่ได้มาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะแจ้งไปยังผู้ประกอบการให้ทราบและดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็ง
          ด้าน นายทิวา กังสวัสดิ์ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำแข็งท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าการคัดกรองความปลอดภัยน้ำดื่มและน้ำแข็งก่อนที่จะไปถึงผู้บริโภคนั้น  มีข้อบังคับให้ต้องมีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยทางสาธารณสุขจังหวัดและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเข้ามาดำเนินการสุ่มตรวจสอบทุกๆ ปี ปกติการส่งตรวจคุณภาพน้ำแข็งของโรงงานปีหนึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 5,000 บาทแต่พอเข้าร่วมโครงการฯ ก็ได้รับการสนับสนุนจากกรมวิทย์ฯ ให้บริการตรวจฟรี! โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายถึง 2 ครั้ง ชุดทดสอบที่ทางกรมวิทย์ได้มอบให้และได้นำมาใช้กับสถานประกอบการของตนเองนั้น นอกจากจะใช้งานได้ง่าย ให้ผลที่แม่นยำ และทราบผลได้เร็วแล้วยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบด้วย

pageview  1205004    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved