HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
พิมพ์ไทย [ วันที่ 07/06/2556 ]
เขียนจริงๆ...ให้อ่านเล่นๆ: ลดเค็มครึ่งหนึ่ง

  โดย ดร.ชัยฤทธ์ ทองรอด กรรมการบริหารสมาคมนักวิจัย     

ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทยติดการกินอาหารที่มีรสเค็ม ไม่ว่าจะกินอาหารที่บ้านหรือนอกบ้านต้องเรียกหาเครื่องปรุงรสตลอด บางคนยังไม่ได้ชิมอาหารจานนั้นเลยสิ่งที่ต้องทำก่อนคือการใส่น้ำปลาจนกลายเป็นความเคยชิน ในระหว่างการประกอบอาหารก็ได้รับสารปรุงรสในปริมาณที่มากพออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสหอยนางรมฯ ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนแต่มีปริมาณโซเดียมสูง โดยปกติร่างกายไม่ควรบริโภคเกลือเกิน 5 กรัม (ปริมาณโซเดียม 2,400 มิลลิกรัม) ต่อหนึ่งวัน จากการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ย 10.8 กรัมต่อวัน สูงเป็น 2 เท่าของปริมาณที่ควรได้รับ โดยร้อยละ 71 มาจากเครื่องปรุงต่างๆ โดยอาหารปรุงสำเร็จที่ใส่ถุงขายมีปริมาณโซเดียม 815-3527 มิลลิกรัม หากเป็นอาหารจานเดียว เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมูและข้าวคลุกกะปิ พบปริมาณโซเดียม1,000-2000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
          นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น จากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง อาหารรสเค็ม ที่มีปริมาณโซเดียมสูงเป็นภัยเงียบให้เกิด โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์ โดยไตจะทำหน้าที่ควบคุมโซเดียม และรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย หากได้รับโซเดียมเกินกว่าร่างกายที่ควรได้รับ ไตจะทำงานหนักในการขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะ แต่หากไม่สามารถขับออกได้หมดโซเดียมก็จะคั่งและจะเป็นตัวดึงน้ำไว้ในร่างกาย ทำให้มีปริมาณของเหลวไหลเวียนในร่างกายมากผิดปกติ เพิ่มแรงดันในหลอดเลือดให้สูงขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก เกิดปัญหาหลอดเลือดทั้งขนาดใหญ่และเล็กที่ไปเลี้ยงทั่วร่างกายปรับตัวหนา และแข็งตามมา
          จากอันตรายในการบริโภคเกลือ (โซเดียม)เกินปริมาณดังกล่าวทำให้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดโครงการ "ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค" ภายใต้"โครงการขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเกลือ(โซเดียม) ในประเทศไทย" ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย  สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย (2550-2559) โดยกำหนดเป้าหมายหลักในการพัฒนาลดปัญหาโรควิถีชีวิตที่สำคัญ 5 โรค (เบาหวาน ความดันโลหิตสูงหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง มะเร็ง)
          ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีเกลือ (โซเดียม) เกินมาตรฐาน โรคที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้เกิดทันทีทันใดหากในระยะเวลายาวมีผลเสียต่อสุขภาพ จากข้อมูลล่าสุด พบคนไทยป่วยเป็นโรคไตประมาณ 8 ล้านคน หลีกเลี่ยงอาหารดองเค็ม การเติมเครื่องปรุงในอาหารจานเดียว รับประทาน อาหารรสชาติอื่นบ้างเช่น ต้มจืด แกงส้ม ต้มยำ หากต้องประกอบอาหารเองที่บ้านให้ลดการใช้เครื่องปรุงรสต่างๆ ลงครึ่งหนึ่ง อาหารอาจจะไม่อร่อยเท่าเดิมแต่ความปลอดภัยจะเพิ่มขึ้น การดูแลรักษาสุขภาพด้วยวิธีลดอาหารเค็มลง เป็นวิธีง่ายๆที่ลงทุนน้อยที่สุดทำได้ด้วยตัวเอง แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ต้องแข่งขันกัน มีเวลาน้อยลง การประกอบอาหารที่บ้านไม่สะดวกมากนัก คนส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งอาหาร ทุกประเภทผ่านการใส่เครื่องปรุงรสมาแล้ว หากเราเติมเข้าไปอีก เสี่ยงที่จะเพิ่มปริมาณโซเดียมโดยไม่รู้ตัว แม้แต่น้ำดื่มควรเลือกกินน้ำเปล่าจะปลอดภัยที่สุด เครื่องดื่มเกลือแร่ และน้ำผลไม้ที่บรรจุในกล่อง หรือกระป๋อง มีการเติมสารกันบูด ทำให้น้ำผลไม้มีโซเดียมสูงหากต้องการดื่มน้ำผลไม้ใช้คั้นสดจะปลอดภัยกว่า ยังไม่สายเกินไป เริ่มดูแลสุขภาพของเราตั้งแต่วันนี้ ก่อนจะหมดโอกาสดูแล


pageview  1205848    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved