HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
พิมพ์ไทย [ วันที่ 04/02/2556 ]
'สื่อ+เหล้า=?'ปัญหาที่รอการแก้ ไขเสริมวัคซีนติดอาวุธทางความคิดให้เยาวชน

"สำนึกดี  สังคมดี  สโลแกนของบริษัทขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คงจะเป็นจริงไม่ได้ในสังคม ถ้าพวกคุณยังเมากันอยู่  แล้วจะเอาสติที่ไหนมาคิดดี ทำดี"  นี่เป็นเสียงสะท้อนทางความคิดของเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก ต่อสื่อโฆษณาของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่ง ในช่วงทำกิจกรรม"จับตามองสื่อ เพื่อพวกเรารู้เท่าทัน กลยุทธ์น้ำเมา" ในโครงการพลังยังดี อบรมหัวข้อ"สื่อ + เหล้า =?" จัดขึ้นโดยเครือข่ายละครรณรงค์(ดีดี๊ดี)ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ ห้องประชุมศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
          นายสมศักดิ์ ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายละครรณรงค์(ดีดี๊ดี) กล่าวว่ากิจกรรมนี้มีเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษกจำนวน 40 คน โดยเรามองว่าเยาวชนกลุ่มนี้เคยมีอดีตที่ก้าวผิดพลาดจากการกระทำผิดด้วยสาเหตุต่างๆ แต่เมื่อเขาออกไปสู่โลกภายนอก พวกเขาเหล่านี้จำเป็นต้องรู้เท่าทันสื่อและกลยุทธ์ของบริษัทน้ำเมาโดยกิจกรรมที่ทำ จะเป็นการฝึกให้เยาวชนรู้จักคิด วิเคราะห์สื่อโฆษณาในรูปแบบต่างๆ เข้าใจกลยุทธ์การโฆษณาน้ำเมาในเชิงลึก ที่พยายามทำให้เยาวชนกลายเป็นเหยื่อน้ำเมา และเป็นต้นทางของการเสพติดร้ายแรงอื่นๆตามมา
          จากตัวเลขขององค์การอนามัยโลก พบว่า คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับที่ 40 ของโลก และเป็นอันดับ 3ของเอเชีย และยังพบว่าแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมาก 40-50 % มีผู้เสียชีวิต เฉลี่ย 26,000 คนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชน นับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งค่าน้ำเมา และผลกระทบปีละไม่ต่ำกว่า 350,000ล้านบาท
          "กิจกรรมในครั้งนี้เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนให้เยาวชนได้มีภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันสื่อโฆษณาของบริษัทน้ำเมา และเรามีความคาดหวังว่า เยาวชนที่เข้าร่วมกิจรรมจะนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับครอบครัว เพื่อน หรือในชุมชนให้มีความรู้เท่าทันสื่อในยุคปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อน้ำเมา และสามารถขยายผลการรู้เท่าทันโฆษณาน้ำเมาไปสู่เพื่อนๆ ซึ่งจะนำไปสู่การลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่" นายสมศักดิ์ กล่าว
          บอย (นามสมมติ) เล่าว่า ตนดื่มสุราตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยการชักชวนของเพื่อน และในวันที่ก่อคดี ต้องโทษก็เป็นวันที่ดื่มอีกเช่นกัน การที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นเรื่องดี ทำให้เรามีความรู้ ว่าสื่อโฆษณาทุกวันนี้มีกลยุทธ์หลอกล่อให้คนอยากดื่มสินค้าของเขา โดยการใช้คำโฆษณาที่โดนใจวัยรุ่น ซึ่งการดื่มของเราจะทำให้เราขาดสติ สามารถทำอะไรต่างๆลงไปได้โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด สำหรับวิธีที่ตนจะป้องกันไม่ให้เพื่อนหรือคนใกล้ชิดดื่มอีก คือ การตักเตือน แล้วให้เขาดูตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของตนเองที่ต้องมาเสียอนาคต เพราะแอลกอฮอล์
          "อยากจะฝากเป็นถึงเพื่อนๆที่ยังดื่มอยู่ว่า ขณะที่คุณดื่มคุณมีความสุขกับเพื่อน แต่หากเมื่อเกิดปัญหาคนที่เสียใจมากที่สุดคือ พ่อแม่ ครอบครัว และอนาคตคุณก็จะหมดไป และเพื่อนก็จะหายไป"
          ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก หรือ"ป้ามน"ของเด็กๆ กล่าวว่า สังคมทุกวันนี้ เมื่อเด็กทำผิดเรามักโยนความผิดไปให้เด็ก ผู้ใหญ่ไม่เคยคิดว่าเป็นความผิดของตนเอง อีกทั้งผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่มีนโยบายปกป้องเยาวชน แถมยังปล่อยให้การค้าเสรี มาทำให้เหล้านอกราคาถูก เยาวชนจะยิ่งตกเป็นเหยื่อมากขึ้น สำหรับสื่อเองปัจจุบันถูกออกแบบมาอย่างแนบเนียนสามารถหลอกล่อให้เยาวชนตกเป็นเหยื่อของน้ำเมาได้อย่างง่าย ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่สามารถจำกัดพื้นที่สื่อสีดำให้ออกไปพ้นจากชีวิตได้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องหาวัคซีนป้องกันให้เยาวชน เราจะทำอย่างไรให้เยาวชนรู้เท่าทันสื่อสีดำ นั่นคือ การให้พวกเขารู้จักคิดและวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเขาเองว่าสิ่งใดถูกหรือผิด โดยมีผู้ใหญ่อย่างเราๆช่วยประคับประครอง แต่อย่าไปชี้นำพวกเขา
          นอกจากนี้"ป้ามน" ยังได้ให้แง่คิดว่า พ่อแม่ในยุคนี้จำเป็นต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี ขณะเดียวกันระบบการศึกษาไทยที่ยังอ่อนแออยู่ทุกวันนี้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองครั้งใหญ่ โดยเฉพาะค่านิยมเด็กเรียนเก่งที่จะมีพื้นที่และโอกาสในสังคมมากกว่าเด็กที่เรียนไม่เก่ง ที่กลายเป็นพลเมืองชั้น 2 ในอนาคต แต่เด็กทุกกลุ่มกลับขาดทักษะการใช้ชีวิต ซึ่งดูจากคดีอาชญากรรมใหญ่ส่วนผู้ก่อคดีมักเป็นผู้ที่มีความรู้ หรืออาชีพที่ดี ความผิดพลาดของเด็กในวันนี้ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องมาทบทวนบทบาทของตนเองด้วยว่า ตนมีส่วนที่ทำให้เด็กเป็นเช่นนี้หรือเปล่า เพราะ"เด็กเป็นผู้รับผลมาจากผู้ใหญ่ที่ออกแบบชีวิตมาให้ และไม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก"
          โฆษณาที่สวยหรู ใช้สโลแกนที่โดนใจวัยโจ๋ของบริษัทน้ำเมา ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยกระตุ้นทางหนึ่งให้เยาวชนไทยกระโจนเข้าสู่เส้นทางนักดื่มหน้าใหม่ได้ไม่ยาก ถ้าผู้ใหญ่ในสังคมไม่มีนโยบายที่ดีพอในการควบคุมน้ำเมา และไม่ติดอาวุธทางความคิดให้กับเยาวชนเหล่านี้แล้ว สังคมไทยก็ต้องเห็นเยาวชนก่อคดีต่างๆด้วยความเมาอีกนับครั้งไม่ถ้วน


pageview  1205880    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved