HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
พิมพ์ไทย [ วันที่ 07/01/2556 ]
'โรคคอตีบ'รู้ทันป้องกันและรักษาได้

โรคคอตีบิเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ที่ติดต่อกันได้โดยตรงจากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกันซึ่งเชื้อนี้จะพบอยู่ในจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ และจะทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ และจากพิษ (exotoxin)ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลายซึ่งถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้ถึงตายได้
          ในอดีตโรคคอตีบจะเคยหายไปจากประเทศไทยแต่ที่กลับมาระบาดอีกครั้ง คาดว่าจะเกิดจากการเคลื่อนย้ายประชากรแรงงานและการไม่ได้รับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่ครอบคลุมโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดารเข้าถึงยากแต่หากมีการรณรงค์ป้องกันโดยการฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องทุก 10 ปีจะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันโรคคอตีบได้
          เมื่อเร็วๆนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ลงพื้นที่ตำบลภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่พบการระบาดของโรคคอตีบ โดยได้มีการจัดกิจกรรมตรวจคัดกรองโรค และฉีดวัคซีนให้กับชาวบ้านเนื่องในโอกาสปีใหม่ ของชาวเข่าเผ่าม้งด้วย โดยมีนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมงานในครั้งนี้
          นายวิเชียร ชูไพรศิริกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับเบิก (รพสต.ทับเบิก) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค.-7 ธ.ค.55 พบผู้ป่วยคอตีบจำนวน 5 รายเป็นผู้ป่วยยืนยันจำนวน 4 ราย ผู้ป่วยน่าจะเป็น 1 รายแยกเป็น ชาย 2 ราย หญิง 3 ราย อายุระหว่าง 19-37 ปีอาศัยอยู่ในอำเภอหล่มเก่า จำนวน 4 ตำบล ได้แก่ หินฮาว วังบาล ศิลา และนาซำ อำเภอน้ำหนาว จำนวน 1 ตำบล ได้แก่ หลักด่านรายแรก โดยพบผู้ป่วยรายแรก เมื่อวันที่ 6 ส.ค.55 เป็นเพศหญิง อายุ 33 ปี อยู่ที่ตำบลหินฮาว อำเภอหล่มเก่าก่อนป่วยมีประวัติการเดินทางไปทำไร่ในจังหวัดที่มีการระบาดของโรคคอตีบจากการเฝ้าระวังโรคคอตีบทั้งในพื้นที่และในสถานบริการสาธารณสุข พบผู้ป่วยคอตีบรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 ต.ค.55 ซึ่งผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาหายขาดเรียบร้อยแล้ว
          สำหรับการดำเนินงานควบคุมการระบาดโรคคอตีบยึดหลัก ค้นพบเร็ว รักษาทัน ป้องกันไวเป็นการเฝ้าระวังโรคคอตีบในสถานบริการสาธารณสุขและชุมชนมีการค้นหาผู้ป่วย ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย หากพบผู้ต้องสงสัยคอตีบหรือมีอาการไข้ เจ็บคอ คอแดง มีแผ่นฝ้าขาว จะมีการให้ยาปฏิชีวนะและฉีดวัคซีนป้องกันทุกรายทันที นอกจากนี้ยังมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบในกลุ่มเป้าหมาย2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน โดยเน้นฉีดในพื้นที่ที่มีประวัติการระบาด การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องโรคผ่านสื่อในชุมชน การบูรณาการร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วนในการรณรงค์สร้างกระแสช่วงเทศกาลปีใหม่ม้งเนื่องจากเป็นช่วงที่ชาวม้งที่ไปทำงานต่างถิ่นจะกลับมาเยี่ยมบ้าน
          ชาวบ้านส่วนใหญ่ เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้งประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบขั้นบันไดตามเชิงเขาเนื่องจากพื้นที่ส่วยใหญ่ล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน นอกจากนี้ยังนับถือผีและคริสต์ทำให้การสื่อสารของเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากติดปัจจัยในเรื่องของความเชื่อและวัฒนธรรมที่ไม่ตรงกันเวลานัดมาพบหมอก็จะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ อีกทั้งการเดินทางที่ค่อนข้างลำบาก
          การฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบิจึงเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันควบคุมโรค เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับโรคคอตีบได้ โดยในเด็กทั่วไปต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบจำนวน 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือนและกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี  ส่วนหญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงเพิ่งคลอดลูกที่ต้องดูแลทารกหลังคลอด และผู้ที่เสี่ยงที่ไม่เคยฉีดวัคซีนนี้มาก่อน ควรรับวัคซีนป้องกันคอตีบสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่โดยต้องฉีดตามคำแนะนำของแพทย์ และฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นการควบคุมและป้องกันโรคคอตีบในระยะเริ่มต้นเพื่อป้องกันการระบาดก่อนจะสายเกินแก้


pageview  1205738    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved