HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
พิมพ์ไทย [ วันที่ 17/07/2555 ]
โรคกลั้นอุจจาระ'ไม่อยู่'ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

นพ.อัฑฒ์ หิรัณยากาศ ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า ภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่เป็นโรคที่พบได้บ่อย รายงานจากประเทศสหรัฐอเมริกาพบมีประชากร ประมาณหนึ่งในสิบสองคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ ทั้งนี้อุบัติการณ์จะพบมากขึ้นในสตรีหลังคลอดแบบธรรมชาติ ประมาณหนึ่งในทุกๆสี่คนของสตรีหลังคลอดจะมีปัญหาดังกล่าวนอกจากนี้ยังพบว่าอุบัติการณ์อาจเพิ่มสูงขึ้นใน สตรีสูงอายุเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน หรือเข้าสู่วัยทอง เชื่อว่าในช่วงเวลานี้การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ประกอบกับการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อจะส่งผลโดยตรงให้ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดที่ซ่อนอยู่เดิมสามารถแสดงอาการที่ชัดเจนขึ้นได้ โดยอาการอาจเริ่มต้นจากปัญหาการกลั้นลม ตามมาด้วยการกลั้นอุจจาระเหลวๆไม่ได้ จนในที่สุดไม่สามารถกลั้นอุจจาระที่เป็นก้อนได้
          สาเหตุของโรคกลั้นอุจจาระไม่อยู่ อาจเกิดจากการบาดเจ็บของอุ้งเชิงกรานขณะคลอดบุตรซึ่งอาจมีผลต่อเส้นประสาทหรือตัวกล้ามเนื้อหูรูดเองเนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดกับช่องคลอดที่อยู่ติดกัน อุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบทวารหนัก กระดูกอุ้งเชิงกรานหัก กล้ามเนื้อหูรูดฉีก  ในความเป็นจริงมีผู้ป่วยที่กลั้นอุจจาระไม่อยู่อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่กล้ามาพบแพทย์ ด้วยความกังวล หรืออาย ทำให้ต้องแบกรับทุกข์หนัก และไม่มีความมั่นใจในการเข้าสังคมไปตลอดชีวิต
          โดยทั่วไปอาการกลั้นอุจจาระไม่ได้มีอยู่  2  แบบใหญ่ๆ คือ มีอุจจาระออกมาเปื้อนกางเกงชั้นในโดยไม่รู้ตัวซึ่งเกิดจากอาการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักชั้นใน และกลุ่มที่ไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้นานพอทั้งนี้เมื่อมีความรู้สึกอยากจะถ่ายมักไปห้องน้ำไม่ทัน สาเหตุของอาการในกลุ่มนี้อาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดชั้นนอก นอกจากนี้การกลั้นอุจจาระไม่อยู่ยังรวมไปถึงการมีอุจจาระออกมาโดยไม่ตั้งใจ เช่นการมีอุจจาระออกมาในขณะผายลม สำหรับแนวทางการรักษาหากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถฝึกกล้ามเนื้อหูรูดให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้งด้วยการออกกำลังกายเฉพาะส่วน เช่น การฝึกขมิบกล้ามเนื้อหูรูด ร่วมกับการปรับอาหาร และอาจมีการใช้ยาช่วย
          การโรคกลั้นอุจจาระไม่อยู่นั้น สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ ตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ตรวจวัดความดันภายในทวารหนัก การวัดการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดด้วยคลื่นไฟฟ้าและเครื่องมือประเมินการทำงานของเส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับผิดชอบกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักและอุ้งเชิงกราน
          ทั้งนี้การตรวจอย่างละเอียดและเป็นระบบจะช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุของปัญหาอย่างแม่นยำ เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละรายได้ หากมีความจำเป็นต้องผ่าตัด การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะนี้มีหลายแบบ ตั้งแต่การผ่าตัดแผลใหญ่ในบริเวณทวารหนักในอดีต มาสู่การฝังหูรูดทวารเทียม และการผ่าตัดแผลเล็กเพื่อฝังเครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเพื่อทำให้กล้ามเนื้อที่มีปัญหากลับมาทำงานได้ดีขึ้น นวตกรรมการรักษาปัญหาการกลั้นอุจจาระโดยการกระตุ้นเส้นประสาทบริเวณไขสันหลังนี้เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นการรักษาที่ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อย ได้ผลดี นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนน้อยอีกด้วย การกระตุ้นเส้นประสาทบริเวณไขสันหลังทำได้โดยฝังตัวนำไฟฟ้าขนาดเล็กไว้ตรงตำแหน่งของเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดทวาร จากนั้นต่อตัวนำไฟฟ้าเข้ากับแหล่งกำเนิดไฟฟ้าเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้นนพ.อัฑฒ์ กล่าว


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved