HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
พิมพ์ไทย [ วันที่ 16/07/2555 ]
กรมสุขภาพจิต เตือนประชาชน ระวังเครียดการเมือง

บรรยายการความเครียดทางการเมืองได้กลายเป็นสาเหตุของความเครียดของคนไทยอีกทางหนึ่ง โฆษกรมสุขภาพจิตผู้ที่เครียดมากอาจเกิดปัญหาใช้ความรุนแรงได้ แนะใช้แบบทดสอบเบื้องต้นว่าตนเครียดจากการเมืองหรือไม่
          นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้าทีมโฆษกกรมสุขภาพจิตและนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระหว่างรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ความตึงเครียดทางการเมืองย่อมเกิดขึ้น ซึ่งผลการตัดสินจะออกมาเป็นเช่นไรนั้นย่อมมีคนที่พอใจและไม่พอใจอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติแต่ต้องยอมรับว่า กรณีที่เกิดขึ้นประชาชนต่างมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ
          หัวหน้าทีมโฆษกและนายกสมาคมฯ กล่าวต่อว่า เราคงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ทั้งนี้ การคาดการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจะยิ่งทำให้เราวิตกกังวลและเครียด อาจส่งผลให้เกิดโรคเครียดทางการเมืองได้(Political Stress Syndrome : PSS) โดยมีอาการ ดังนี้ อาการทางกาย ได้แก่ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอหรือตามแขนขา นอนไม่หลับหลับๆ ตื่นๆ หรือหลับแล้วตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพปกติ หายใจไม่อิ่ม อึดอัดในช่องท้อง แน่นท้องปวดท้อง ชาตามร่างกาย อาการทางใจ ได้แก่ วิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาหงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นมากเกินไป และปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีการโต้เถียงกันกับผู้อื่น หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัว โดยใช้อารมณ์ตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง โดยไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ มีการลงมือทำร้ายร่างกายเพื่อตอบโต้ มีการเอาชนะทางความคิดแม้กับคนที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดีมาก่อน จนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพ เกิดการใช้กำลังและความรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งความเครียดลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่ม ทั้งผู้ชุมนุมนักการเมือง ผู้ติดตามข่าวสาร และกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิต
          กรมสุขภาพจิตจึงขอเตือนประชาชนให้สังเกตและรู้เท่าทันอารมณ์ตนเองซึ่งประชาชนสามารถประเมินความเครียดทางการเมืองด้วยตนเองได้  ดังนี้
          ข้อ คำถาม ไม่มี (0) มีบางครั้ง (1) มีบ่อย (2) มีทุกวัน (3)1.ท่านรู้สึกกังวลเมื่อต้องแสดงความเห็นทางการเมือง
          2.ท่านรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น3.การรับรู้เหตุการณ์ทางการเมืองทำให้ท่านรู้สึกหงุดหงิด/โกรธ/โมโหง่าย
          4.เหตุการณ์ทางการเมืองทำให้ท่านนอนไม่หลับหรือหลับยาก5.ท่านไม่มีสมาธิในการทำงานหรือทำกิจวัตรต่างๆเมื่อนึกถึงการเมือง6.การเมืองทำให้ท่านทะเลาะหรือโต้เถียงกับคนอื่น7.ท่านรู้สึกใจสั่นเมื่อรับรู้เหตุการณ์ทางการเมือง8.ท่านคิดวนเวียนเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง(คะแนนรวมตั้งแต่ 9 ขึ้นไป ถือว่าเครียดรุนแรง ควรได้รับคำแนะนำจากบุคลากรด้านสุขภาพจิต หรือ สายด่วน 1323)
          หัวหน้าทีมโฆษกและนายกสมาคมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่มีความเครียดรุนแรงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดอารมณ์รุนแรงนั้นลง ด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
          1.บริหารเวลาให้เหมาะสม  โดยแบ่งเวลาในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง การดูแลครอบครัว  การทำงาน  และการพักผ่อน  สำหรับการติดตามข่าวสารไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน  2 ชม. หรือ ควรติดตามจากคนใกล้ชิดแทน
          2.ลดการรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ เช่น สื่อที่ให้ข้อมูลด้านเดียวหรือสื่อที่มีภาพและเสียงที่เร้าให้เกิดอารมณ์รุนแรง เพราะจะยิ่งทำให้ มีความเครียดทางการเมืองและความเครียดสูง  ควรรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่สะท้อนความคิดที่หลากหลาย และมุ่งเน้นการหาทางออก
          3.มีวิธีการลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย สวดมนต์  ทำสมาธิหายใจคลายเครียด  ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
          สำหรับการช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนในชุมชนหรือสถานที่ทำงานที่มีความเครียดทางการเมืองสูง  ให้มีความสงบเพิ่มขึ้น ด้วยข้อปฏิบัติ รับฟัง ชื่นชม ห่วงใย ให้คำแนะนำ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
          1.รับฟัง การลดอารมณ์รุนแรงทางการเมืองไม่อาจกระทำได้ด้วยการโต้แย้งด้วยเหตุผล เนื่องจากแต่ละคนที่มีความเครียดทางการเมืองรุนแรงจะยึดถือในความเชื่อของตนเอง ดังนั้น การโต้แย้ง จึงไม่ช่วยสร้างความสงบ  ขณะเดียวกัน การหลีกเลี่ยงไม่พูดคุย ก็ไม่ได้ช่วยลดอารมณ์ลง ทางที่ดีที่สุด คือการรับฟัง ด้วยความเห็นใจว่าเขามีความเครียด โดยเข้าใจว่าการรับฟังจะช่วยให้คนเราสงบลง
          2.ชื่นชม การที่มีความเครียด ทางการเมืองรุนแรง ล้วนเริ่มต้นจากความรักในบ้านเมืองความหวังดีต่อสังคม เพียงแต่ความขัดแย้งมาจากการให้ความสำคัญในประเด็นที่ต่างกัน ดังนั้น จึงควรแสดงความชื่นชมในประเด็นที่ดีของเขา ก็จะทำให้เกิดการยอมรับกัน และนำไปสู่ความไว้วางใจ และช่วยให้เขาอารมณ์เย็นลงได้
          3.ห่วงใย คือ การแสดงความเป็นห่วงใยต่อสุขภาพและภาพพจน์ของผู้มีความเครียดทางการเมืองรุนแรง เพื่อช่วยให้เขากลับมามองตนเอง รวมทั้งเป็นห่วงตนเองและผลที่จะเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดด้วย
          4.ให้คำแนะนำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับผู้ทีมีความเครียดทางการเมืองรุนแรง แต่ควรมาลำดับท้ายสุดโดยให้คำแนะนำตาม  3 วิธีข้างต้น
          ในระดับสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดอารมณ์ทางการเมืองที่รุนแรงในสังคมลงด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
          1. สื่อและผู้เกี่ยวข้องจะต้องลดการนำเสนอข่าวในส่วนที่สร้างความโกรธความเครียดของคู่ขัดแย้งและเพิ่มการเสนอข่าวของฝ่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากคู่ขัดแย้ง ข่าวที่ทำให้เข้าใจคนแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันและเสนอข่าวที่มุ่งเน้นการหาทางออก
          2.เครือข่ายสังคมใน Internet  ควรลดความรุนแรงในการแสดงอารมณ์และความคิดเห็นการแสดงออกในสื่อใหม่เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะขาดการควบคุมตนเองเนื่องจากไม่ต้องแสดงตน  แต่จะส่งผลกระทบให้เกิดบรรยากาศของสังคมที่รุนแรงมากขึ้น   ดังนั้นการสื่อสารในเครือข่าย Internet จึงควรฃเพิ่มความระมัดระวังในการออกความคิดเห็น  ไม่ส่งต่อความคิดเห็นที่รุนแรงออกไป รวมทั้งช่วยกันตักเตือนการแสดงออกที่รุนแรง
          3.ทุกคนสามารถช่วยให้สังคมไทยผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ด้วยการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ แสดงเจตจำนงค์การให้แก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง  ไม่สร้างความโกรธ   ความเกลียดชัง   ลดการเผชิญหน้า และร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตพร้อมให้คำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คำเตือนและข้อปฏิบัตินี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้คนในสังคมไทยกับมาดูแลใจตนเองและคนใกล้ชิด เพื่อบรรเทาวิกฤต และสร้างความสุขให้กับสังคมไทยต่อไป


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved