HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
พิมพ์ไทย [ วันที่ 26/06/2555 ]
เผยเคล็ดลับ7วิธีป้องกันลูกฉี่รดที่นอน

พญ.เสาวนีย์ พิชัยรักษ์พร แพทย์ผู้ช่วยอาจารย์สาขาพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อาการปัสสาวะรดที่นอนเป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งจะถือว่าเป็นความผิดปกติก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นในเด็กที่ควรจะควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้แล้วแต่เด็กยังคุมไม่ได้ (คือเป็นในเด็กที่มีอายุอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป) โดยที่การปัสสาวะรดที่นอนนั้นเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลาติดต่อกัน 3 เดือน และไม่ได้เป็นผลมาจากการใช้ยา เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือเกิดจากโรคทางกาย เช่น โรคเบาหวานเป็นต้น แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุ แต่อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น พันธุกรรม, ความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมน ADH (ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปริมาณปัสสาวะ), การทำงานของกระเพาะปัสสาวะ , ท้องผูกหรือ ภาวะทางจิตใจ
          พญ.เสาวนีย์ กล่าวว่า  การที่ลูกน้อยนอนชุ่มแฉะอยู่บนที่นอนบ่อยๆ อาจเกิดโรคที่อาจนำมาด้วยอาการ ปัสสาวะรดได้ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ/ความ ผิดปกติของโครงสร้างของระบบการขับถ่ายปัสสาวะ/ โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน เบาจืดเป็นต้น /โรคของระบบประสาทที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการปัสสาวะ ความผิดปกติของการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ เช่นความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการปัสสาวะ ซึ่งโรคต่างๆดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องให้การรักษาจำเพาะ
          สำหรับเคล็บลับในช่วยลดปัญหาการปัสสาวะรดที่นอนในเด็ก ได้แก่ 1.การให้ความรู้ แก่ผู้ปกครองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องของพัฒนาการในการควบคุมการขับถ่าย ควรแสดงความเข้าใจ และเป็นกำลังใจ สนับสนุนในการรักษาของเด็ก 2.การปรับพฤติกรรมโดยใช้แรงจูงใจทางบวก คือ มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กจะได้รับเมื่อไม่ปัสสาวะรดที่นอน  3.การใช้เครื่องปลุกเตือนปัสสาวะรด ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดในปัจจุบันในประเทศไทยเครื่องมือดังกล่าวยังใช้ไม่แพร่หลาย อีกทั้งมีราคาค่อนข้างสูง 4.การฝึกกระเพาะปัสสาวะ คือให้เด็กดื่มน้ำมากๆในช่วงกลางวันและเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะให้เด็กฝึกกลั้นไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ 5.ปรับอาหารและเครื่องดื่ม โดยปรับให้เด็กดื่มน้ำมากขึ้นในช่วงเช้าถึงบ่าย และลดการดื่มน้ำในช่วงเย็น โดยเฉพาะช่วง 2 ชม.ก่อนเข้านอนควรมีการจำกัดปริมาณน้ำ และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนแอลกอฮอล์ 6.การรักษาท้องผูก 7.การใช้ยา ซึ่งจะเลือกใช้วิธีนี้ในกรณีที่เด็กไม่ได้อยู่บ้าน ต้องไปอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะปัสสาวะรดที่นอนนั้นมี2รูปแบบ คือยากินแบบเม็ด และยาพ่นจมูก ซึ่งการเลือกใช้นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ 
 


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved