HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 29/03/2555 ]
คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ: ไวรัสตับอักเสบซี(ตอน 2)

การตรวจเลือดในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเกิดการติดเชื้อของไวรัสตับอักเสบซี
          ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีการตรวจค่าการทำงานของตับ (Liver function test) อาจพบว่าปกติหรือผิดปกติก็ได้ การตรวจ AntiHCV จะบอกว่าผู้ป่วยเคยได้รับเชื้อมาก่อนหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นผลบวก แพทย์จะต้องทำการตรวจดูว่าพบเชื้ออยู่ในเลือดหรือไม่ โดยการตรวจหาปริมาณของไวรัส (HCV Viral load) ซึ่งจะบอกว่าผู้ป่วยยังมีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่ในร่างกายหรือหายขาดจากโรคแล้ว การตรวจนี้ราคาค่อนข้างสูง
          ถ้าตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบซี การตรวจหาสายพันธุ์ (Genotype) จะช่วยกำหนดแนวทางในการรักษา และช่วยทำนายโอกาสหายหากได้รับการรักษา แพทย์อาจต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งการติดต่อของเชื้อทำนองเดียวกัน เพื่อช่วยในการวางแผนการรักษาต่อไป
          การรักษาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
          เป้าหมายของการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อไวรัสซีให้หมดไปจากร่างกายของผู้ป่วย ทำให้ลดการอักเสบของตับ ลดความเสี่ยงในการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ สามารถทำได้โดยใช้ยาฉีดในกลุ่มเพ็คกิเลเต็ดอินเตอร์เฟอรอน (Pegylated Interferon) ร่วมกับยากินไรบาไวริน (Ribavirin) โดยที่ระยะเวลาของการรักษาตั้งแต่ 24 ถึง 48 สัปดาห์ แตกต่างกันตามชนิดสายพันธุ์ (Genotype) และโอกาสการหายขาดก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วยเช่นกัน
          อาการข้างเคียงที่เกิดจากการรักษา ได้แก่ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายท้องเสีย ซีด ผิวหนังแห้ง นอนไม่หลับ ผมร่วง ซึมเศร้า และอารมณ์แปรปรวน โดยที่ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยจะต้องหยุดการรักษาก่อนกำหนด เนื่องจากไม่สามารถทนต่ออาการข้างเคียงเหล่านี้ได้
          การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบซี
          1.รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย ไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินมากจนเกินไป
          2.งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเด็ดขาด
          3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
          4.ลดอาหารจำพวกแป้ง ของหวาน และของมันมากจนเกินไป เพราะจะทำให้อ้วนและไขมันสะสมตับ ทำให้ตับอักเสบมากขึ้น
          5.หลีกเลี่ยงยาสมุนไพร ยาลูกกลอน และอาหารเสริม
          6.งดการบริจาคโลหิต 7.ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ ในกรณีที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในกรณีที่ผลการตรวจเลือดบ่งชี้ว่าไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน กล่าวคือ ผลการตรวจกรองเลือดทั้ง 3 อย่าง (HBsAg, AntiHBc และ Anti-HBs) ให้ผลลบ
          8.พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อทำการตรวจเลือด และอัลตร้าซาวน์ตับเป็นระยะ โดยเฉพาะในกรณีที่มีภาวะตับแข็งแล้ว
          ข้อมูลจาก น.พ.พงษ์ภพ อินทรประสงค์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ โรงพยาบาลพญาไท 2/http://www.phyathai.com


pageview  1204949    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved