HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 01/02/2555 ]
สธ.เผย!! ปัญหาขยะหลังน้ำลด สาเหตุการเพิ่มจำนวนของยุง-แมลงวัน พาหะนำโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาสู่คน
          หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ หลายพื้นที่มีปัญหาขยะจำนวนมหาศาลที่ยังรอคอยการแก้ไข ซึ่งถูกทิ้งจากบ้านเรือนและแหล่งที่อยู่อาศัย กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ จนกลายเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์อย่างดีของยุงและแมลงวันพาหะนำโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาสู่คน ชี้! หากพบยุง-แมลงวันจำนวนมากผิดปกติในที่อยู่อาศัย แสดงว่าในรัศมี 1 กิโลเมตร ต้องมีกองขยะ ย้ำ! ต้องแจ้งเทศบาล อบต. หรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยจัดการ เพื่อควบคุม ป้องกันการระบาดของโรคที่มียุง-แมลงวันเป็นพาหะ
          นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยจะผ่านไปนานกว่าเดือนแล้ว แต่ในหลายพื้นที่ยังมีปัญหาที่รอคอยการแก้ไขอยู่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องยุงและแมลงวันที่มีจำนวนมากจนผิดปกติ เนื่องจากช่วงที่น้ำท่วมขังนอกจากจะเกิดปัญหาด้านสุขาภิบาลที่ไม่ถูกสุขลักษณะแล้ว ยังเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการสะสมของขยะมูลฝอย สิ่งขับถ่าย เศษพืช สิ่งปฏิกูลเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์อย่างดีของแมลงนำโรคหลายชนิดให้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากโรค และภัยสุขภาพที่มีแมลงเป็นพาหะ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากยุงและแมลงวัน หลังน้ำลดจึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรคดำเนินการเฝ้าระวังโรคภัยต่างๆ ที่เกิดจากแมลงอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องการควบคุมป้องกันโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ เพื่อให้ประชาชนตระหนักในการป้องกันตนเอง ตามนโยบายในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุกทกภัย ให้ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง สามารถลดภาระโรคและภัยคุกคามต่างๆ ที่มีแมลงเป็นพาหะได้อย่างเหมาะสม
          ด้านน.พ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังน้ำลดจะมีขยะมูลฝอยจำนวนมากที่ไม่มีการจัดเก็บมาเป็นเวลานาน ซึ่งถูกนำมาทิ้งไว้กระจัดกระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ หรือในที่ดินว่างเปล่า มีทั้งขยะที่เป็นของใช้จากบ้านเรือน ซากพืช ซากสัตว์ที่ตายจากน้ำท่วมและสิ่งปฏิกูล ซึ่งจะเป็นแหล่งสะสมและเพาะพันธุ์ของแมลงนำโรคหลายชนิดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
          โดยเฉพาะ "ยุง" ซึ่งเป็นแมลงที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของคนมากที่สุด หลังน้ำลดปริมาณของยุงจะเพิ่มจำนวนแบบมหาศาล เนื่องจากความเสียหายหลังน้ำลด นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาขยะแล้ว ยังทำให้มีพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำท่วมขังกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งในบ้าน รอบบ้านหรือแม้แต่ตามทุ่งหญ้าหรือ ทุ่งนา ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของยุงที่เป็นพาหะนำโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน เช่น ยุงลาย เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยา (ไข้ญี่ปุ่นหรือไข้ปวดข้อ) ยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย และยุงรำคาญ หรือยุงคิวเล็กซ์ เป็นพาหะนำโรคฟิลาเรีย (โรคเท้าช้าง) และโรคไข้สมองอักเสบ
          น.พ.พรเทพ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้านไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของลูกน้ำยุง เช่นการทำลายภาชนะที่สามารถขังน้ำได้ หรือดัดแปลงนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ และยังได้ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่จัดทีมงานสำหรับให้บริการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงในบริเวณท้องที่ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะปิดบ้าน เพราะเข้าใจผิดคิดว่าควันจะทำให้เกิดอันตราย ที่จริงแล้วต้องเปิดบ้านให้เจ้าหน้าที่ฉีดควันเข้าไปเพื่อกำจัดยุงที่อยู่ด้านใน แต่ต้องเก็บอาหารเข้าตู้กับข้าวหรือปิดให้มิดชิด เอาผ้าปิดจมูกและอยู่ในที่โปร่ง หายใจสะดวก และหากจะใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดยุงควรใช้สูตรสมุนไพรหรือใช้สารสกัดจากพืชจะปลอดภัยกว่า  "แมลงวัน" ยังเป็นพาหะนำโรคอีกชนิดหนึ่งที่พบมากหลังน้ำลด เนื่องจากกลิ่นของอาหารและสิ่งปฏิกูล ขยะ ซากสัตว์ จะเป็นสิ่งล่อให้แมลงวันมารวมตัวกันและยังเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์อย่างดีด้วย นอกจากแมลงวันจะรบกวนก่อให้เกิดความรำคาญแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคหลายชนิดมาสู่คน เช่น โรคท้องร่วง ไทฟอยด์ บิด ตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนังบางชนิด
          การดูแลรักษาความสะอาดของอาคารบ้านเรือนอยู่เสมอ ไม่ให้เป็นที่หมักหมมของเศษขยะ หรือเศษอาหาร เก็บอาหารเข้าตู้ และเก็บไว้ให้มิดชิดร่วมกับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ จะช่วยลดความหนาแน่นของแมลงวันได้ หากลดแหล่งอาหารของแมลงวันลงแล้ว โอกาสที่แมลงวันจะเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ย่อมลดน้อยลง
          "แม้น้ำจะลดลงและกลับสู่สภาพปกตินานพอสมควรแล้ว แต่ถ้าพบว่าบริเวณที่อาศัยอยู่มียุงและแมลงวันในจำนวนที่มากผิดปกติ แสดงว่าในรัศมี 1 กิโลเมตรจะต้องมีกองขยะ สิ่งปฏิกูล หรือซากสัตว์ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงนำโรคเหล่านี้อยู่ เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคที่มียุงแมลงวันเป็นพาหะ ต้องแจ้งไปยังเทศบาล หรือ อบต.ในพื้นที่ ให้เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์เหล่านี้ทันที หรือแจ้งไปที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เพื่อช่วยประสานเจ้าหน้าที่รับผิดชอบให้โดยตรง" น.พ.พรเทพ กล่าวปิดท้าย

pageview  1205127    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved