HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 16/03/2555 ]
สธ.ห่วงสถานการณ์หมอกควันไฟป่าภาคเหนือ สั่งกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่...ย้ำ...ดูแลประชาชนใกล้ชิดเต็มที่

สถานการณ์หมอกควันไฟป่าภาคเหนือยังรุนแรงยอดผู้ป่วยพุ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำ!! นอกจากการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่แล้ว จำเป็นต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันแก่ประชาชน เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจ และมีแนวทางการปฏิบัติเพื่อการดูแลตัวเองและคนในครอบครัวให้ปลอดภัยจากพิษของหมอกควัน พร้อมสั่งการเร่งสำรองเตียงหากมีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เตือนหากสภาพอากาศเลวร้ายให้กลุ่มเสี่ยงมาพักที่ รพ.ส่งเสริมสุขภาพ/ศูนย์พักพิงของ อปท.
           นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือว่าปริมาณหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือล่าสุดถือว่า ยังอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกจังหวัดยังมีปริมาณฝุ่นละอองที่สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพบฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 68.4-307.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่าที่สูงกว่ามาตรฐานปกติมากว่า 8 สัปดาห์แล้ว ทั้งนี้ค่าคุณภาพอากาศในระดับปกติที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจะมีค่าอยู่ที่ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะนี้พบว่ามีหลายพื้นที่ปัญหาหมอกควันยังมีสภาพที่ค่อนข้างรุนแรงอยู่ เช่น ที่แม่ฮ่องสอน และที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นต้น
           ด้าน ดร.น.พ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวขณะลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อร่วมกิจกรรมรณรงค์ป้องกันภัยสุขภาพจากปัญหาหมอกควันในกลุ่มแกนนำอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ณ โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ว่า กรมควบคุมโรคได้รับการสั่งการจากนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า นอกจากการให้ความดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่แล้ว จำเป็นต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันแก่ประชาชนเพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจ และมีแนวทางการปฏิบัติเพื่อการดูแลตัวเองและคนในครอบครัวให้ปลอดภัยจากพิษของหมอกควัน
           โดยอธิบดีกรมควบคุมโรคได้อธิบายว่า หมอกควันจัดเป็นมลพิษทางอากาศอย่างหนึ่ง เกิดจากการสะสมของควันหรือฝุ่นละอองในอากาศ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันคือ การบุกรุกเผาทำลายป่าไม้เพื่อประโยชน์ของบุคคลและกลุ่มบุคคล และการเผาที่มีมากเกินไปจนควบคุมไม่ได้ ประกอบกับการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่ในการทำการเกษตรในฤดูกาลต่อไปรวมทั้งการเผาเพื่อกำจัดขยะบริเวณชานเมืองและในตัวเมืองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันได้เช่นกัน 
           สาเหตุที่ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปกติ เป็นผลสืบเนื่องมาจากปีที่ผ่านมามีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปีทำให้ไม่เกิดปัญหาหมอกควัน แต่กลับส่งผลให้เกษตรกรทำการเผากันมากขึ้นในพื้นที่เพื่อทดแทน ขณะที่ลักษณะของพื้นที่ทางภาคเหนือโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ เมื่อเกิดการสะสมของมลพิษประจวบกับความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุม อุณหภูมิและความชื้นทำให้เกิดหมอกในตอนเช้า เมื่อหยดน้ำในอากาศรวมตัวกับฝุ่นละอองและสารมลพิษในอากาศจึงเกิดหมอกควัน หรือ smog (smoke+fog) ขึ้น ทำให้เกิดสภาพฟ้าหลัวเหมือนมีหมอกควันปกคลุมไปทั้งเมือง มลพิษจากหมอกควันที่เกิดขึ้นขณะนี้จึงเป็นอันตรายและมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งความเป็นอันตรายนี้จะขึ้นอยู่กับขนาดของฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้ ความเข้มข้นและระยะเวลาที่สัมผัส รวมทั้งสภาพร่างกายของผู้รับแต่ละคนด้วย 
           อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า ฝุ่นควันหรือฝุ่นขนาดที่เล็กกว่า 10 ไมครอน ที่เกิดจากการเผาไหม้จะส่งผลกระทบ ทำให้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ทางผิวหนัง อาการทางตา ทำให้เกิดโรคหัวใจมากขึ้นด้วย โดยฝุ่นจะเข้าไปยังปอดในถุงลม เมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้าไปทำให้เม็ดเลือดขาวเข้าไปกำจัดสิ่งแปลกปลอมนี้ และเกิดการอักเสบในหลอดเลือด หรืออาจทำให้หลอดเลือดหัวใจอักเสบได้ ก่อให้เกิดอันตรายต่อปอด เช่น การอักเสบของถุงลมปอด และบางรายอักเสบมากจนทำให้เกิดอาการหายใจลำบากจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งปัญหาฝุ่นหมอกควันที่เกิดจากการเผาไหม้ในบริเวณภาคเหนือ ส่งผลให้ปริมาณผู้ป่วยในหลายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยที่จังหวัดพะเยา พบว่ามีสถิติผู้ป่วยโรคตาแดงเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคถุงลงโป่งพองในพื้นที่จังหวัดพะเยา ลำปาง และลำพูน ที่เพิ่มขึ้น 5-6 เท่า ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยทั้งในกลุ่มของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดในภาพรวมของพื้นที่ภาคเหนือเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10-20% ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เป็นชายวัย 78 ปี ชาวอำเภอแม่สา จังหวัดเชียงใหม่ สาเหตุเกิดจากการสำลักควัน และยังมีรายงานผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเป็นรายวัน อีกวันละกว่า 2,000 ราย หลังจากเกิดเหตุการณ์หมอกควันขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยภาพรวมแล้วขณะนี้มีผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาหมอกควันรวมกว่า 20,000 ราย
           อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวแนะนำว่า เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน ควรปิดหน้าต่างประตูเพื่อป้องกันไม่ให้หมอกควันลอยเข้าสู่บ้านหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านก่อนออกจากบ้านควรสวมแว่นตาเพื่อป้องกันการระคายเคืองตา สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ ปิดจมูกและปากเพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมละอองควันไฟเข้าสู่ร่างกายโดยตรง และลดปริมาณการสูดดมควันพิษจากฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ใช้วิธีการสังเกตสภาพแวดล้อมเพื่อประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาหมอกควันง่ายๆ คือ การสังเกตจากเสาไฟฟ้าถ้าสามารถมองเห็นเสาไฟฟ้าตั้งแต่ 4 ต้นขึ้นไป ถือว่าสภาพอากาศยังปลอดภัยอยู่ แต่ถ้ามองเห็นเสาไฟฟ้าได้ต่ำกว่า 4 ต้น เช่น เห็นได้เพียง 1-2 ต้น ถือว่าสภาพอากาศค่อนข้างวิกฤติและเริ่มไม่ปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และพยายามอยู่ภายในอาคาร และช่วยกันฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและดักจับฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ หากมีอาการผิดปกติหลังจากสูดดมฝุ่นละอองหมอกควัน เช่น แน่นหน้าอก หายใจติดขัด แสบตา ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ในช่วงที่มีสถานการณ์หมอกควัน ควรงดการรองน้ำฝนมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคชั่วคราว หลีกเลี่ยงการเผาขยะ หรือวัสดุใดๆ รวมถึงการสูบบุหรี่ที่จะเป็นการเพิ่มปัญหาควันมากขึ้น หากขับขี่ยานพาหนะในช่วงที่มีหมอกควัน ควรเปิดไฟหน้ารถเพื่อป้องกันอุบัติเหตุประชาชนกลุ่มเสี่ยง หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ควรเตรียมยาประจำตัวให้เพียงพอ และหากเกิดปัญหาสุขภาพควรพบแพทย์ หรือย้ายไปพักพิงในพื้นที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเตรียมไว้รองรับ หรือย้ายไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
           นอกจากการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในสุขภาพจากปัญหาหมอกควันแก่ประชาชนแล้ว ด้านการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยจากปัญหาหมอกควัน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทั้งหมดเร่งทำการสำรองเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นแล้วประมาณ10% และได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของโรงพยาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนสำหรับเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวให้กับเด็ก คนชรา และผู้ป่วยเรื้อรัง ในกรณีที่ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศมีค่าสูงกว่า 200 ไมโครกรัมต่อ ลูกบาศก์เมตร 
           อธิบดีกรมควบคุมโรคยังได้ให้ความเห็นด้วยว่า แม้หลายพื้นที่ในภาคเหนือจะยังประสบกับปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างรุนแรง แต่สถานการณ์ในอีกหลายจุดก็ยังสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตามปกติ อย่างเช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ หลายจุดคุณภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวที่ตัดสินใจจะมาท่องเที่ยวในช่วงนี้ ควรเตรียมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเพื่อใช้ในกรณีจำเป็นขณะที่ผู้ป่วยเรื้องรังก็ควรเตรียมยารักษาโรคไว้ให้พร้อมด้วยเช่นกัน
           "การให้ข้อมูลความรู้เรื่องปัญหาหมอกควันทางกรมควบคุมโรค จะเน้นไปที่ข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากหมอกควันเพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนทั่วไปและภาคเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ก่อมลพิษและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย โดยจะต้องอาศัยช่องทางสื่อทุกชนิดเพื่อให้สามารถส่งข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หอกระจายข่าว และอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความร่วมมือและมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการป้องกันที่สาเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ทางกรมควบคุมโรคยังได้เน้นในเรื่องของการเฝ้าระวังและการสอบสวนโรคที่เป็นผลกระทบจากปัญหาหมอกควันด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไปสำหรับประชาชนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจากปัญหาหมอกควันสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรคโทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0-2590-3333 หรือที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โทรศัพท์ 0-2590-4393" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

 


pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved