HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 18/04/2556 ]
'ปากแหว่ง เพดานโหว่รักษาได้'

 นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
          การให้กำเนิดลูกน้อยที่มีอวัยวะครบ 32 เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนปรารถนา แต่ถ้ามีความผิดปกติ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งในทางการแพทย์ปัจจุบันสามารถรักษาให้กลับมาเหมือนเด็กทั่วๆ ไปได้ ติดตามจาก ผศ.นพ.สรวุฒิ ชูอ่องสกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กที่มีความพิการปากแหว่งเพดานโหว่นั้น จะมีปัญหาตั้งแต่เรื่องของการเลี้ยงดูหลังคลอด เนื่องจากเด็กไม่สามารถดูดนมได้อย่างเด็กทั่วไป และมีปัญหาในระบบของร่างกาย เช่น ความพิการทางหัวใจและระบบไหลเวียน ระบบทางเดินอาหาร ระบบขับถ่าย รวมทั้งระบบประสาทและสมอง ก็สามารถพบในเด็กกลุ่มนี้ได้
          ดังนั้นแพทย์ต้องตรวจให้ละเอียดว่า เป็นปากแหว่งเพดานโหว่ชนิดใด ซึ่งแยกเป็นชนิดปากแหว่งแบบสมบูรณ์ คือ แหว่งเข้าไปถึงรูจมูก ปากแหว่งแบบไม่สมบูรณ์ คือ แหว่งเฉพาะที่ริมฝีปาก ปากแหว่งข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง เพดานโหว่แบบสมบูรณ์ คือ โหว่ตั้งแต่ลิ้นไก่ถึงเพดานแข็งด้านหน้าและถึงเหงือกด้านหน้า เพดานโหว่แบบไม่สมบูรณ์ คือ โหว่เฉพาะส่วนเพดานอ่อนด้านหลังเท่านั้น ซึ่งการโหว่อาจจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ บางรายอาจปากแหว่งเพดานโหว่ร่วมกับความผิดปกติของใบหน้า ความพิการของโรคที่เกี่ยวข้องกับขากรรไกรเล็กผิดปกติ เป็นต้น
          การรักษา แพทย์จะตรวจร่างกายว่ามีความพิการส่วนใดบ้าง เพื่อวางแผนในการรักษาอย่างเป็นระบบ แต่หากมีไข้หวัด ปอดอักเสบ หูอักเสบ ก็ต้องรักษาให้หายเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่ส่งผลต่อการผ่าตัดและการดมยาสลบ สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัดริมฝีปากแหว่งนั้น จะทำเมื่ออายุประมาณ 3 เดือน น้ำหนักเด็กมากกว่า 5 กิโลกรัม และไม่มีปัญหาเรื่องซีด หรือการติดเชื้ออื่นๆ ในร่างกาย โดยการรักษาเพื่อซ่อมแซมริมฝีปาก สร้างริมฝีปาก และแก้ไขจมูกให้กลับคืนสู่สภาพที่ใกล้เคียงกับปกติให้มากที่สุด และหากมีเพดานโหว่ร่วมด้วย แพทย์จะทำการผ่าตัดปิดเพดานและลิ้นไก่ประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ส่งผลให้การเจริญเติบโตของกระดูกและใบหน้ารวมถึงการพูดของเด็กใกล้เคียงเด็กปกติ
          หลังการรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่แล้ว การรักษาต่อเนื่อง เช่น การฝึกพูด ฝึกใช้ริมฝีปาก การจัดฟัน การซ่อมแซมเหงือก เป็นสิ่งที่ควรทำต่อเนื่อง
          ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


pageview  1205880    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved