HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 09/01/2556 ]
'ควบคุมน้ำหนัก...รักษาโรคอ้วน'

โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
          ขั้นตอนแรกในการลดน้ำหนัก จะต้องมีใจแน่วแน่ที่จะคอยคุมน้ำหนัก มีจิตสำนึกที่ดีว่า ไม่ควรจะปล่อยให้มีความอ้วนเกิดขึ้น ไม่ปล่อยตัวเองให้เป็นทาสของความอยากอาหาร "พึงระลึกไว้เสมอ กินเพื่ออยู่ เพื่อสุขภาพที่ดี ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน" หลักใหญ่ๆ ในรักษาโรคอ้วน มีดังนี้ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การรักษาทางการแพทย์
          การควบคุมอาหาร
          การกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ไม่จำเป็นต้องอดจนหิว เพียงแต่เลือกกินอาหารตามคำแนะนำดังนี้
          1.หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูง โดยการหลีกเลี่ยงการกินอาหารทอดหรือผัด เช่น ไก่ทอด ปลาทอด ข้าวผัด ไข่เจียว งดกินหนังหมู หนังไก่ เนื้อสัตว์ติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิ งดถั่วเปลือกแข็งชนิดต่างๆ เช่น ถั่วลิสง มะม่วงหิมพานต์ เมล็ดดอกทานตะวัน ดื่มนมพร่องมันเนย
          2.จำกัดการกินของหวาน หรือน้ำตาล งดดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน หลีกเลี่ยงขนมหวานที่ทำจากกะทิหรือทำจากไข่แดง งดไอศกรีม ช็อกโกแลต กินอาหารประเภทผัก ผลไม้ที่ไม่หวานจัด ผักที่มีเส้นใยจะช่วยทำให้อิ่มเร็วและอิ่มได้นาน
          3.การปรับพฤติกรรม การกินอาหาร-กินอาหารช้าๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด อย่างน้อย 15 ครั้งก่อนกลืน  เมื่อรู้สึกอิ่มแล้วให้หยุดกินทันที อย่าเสียดายอาหารที่เหลือ งดการกินจุกจิก ไม่ซื้ออาหารและของว่างมากักตุน ไม่งดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง เพราะจะทำให้หิวจัดและรับประทานมากขึ้นในมื้อถัดไป
          การออกกำลังกาย
          ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายควรทำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที พบว่าการเดินเร็วประมาณ 30-45 นาที ก่อนกินข้าวจะทำให้อัตราการเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้นมาก
          การควบคุมน้ำหนักโดยใช้ยา
          ในกรณีที่การควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและการปรับพฤติกรรมการบริโภคไม่สามารถทำให้น้ำหนักลดลงมาได้ถึงระดับที่เหมาะสม หรือในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากร่วมกับมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาในการช่วยลดน้ำหนักตัวตั้งแต่เริ่มแรก
          ยาลดน้ำหนักแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
          1.ยาที่ออกฤทธิ์ลดความอยากรับประทานอาหาร (Appetite Suppressants) ทำให้ไม่อยากอาหารและรู้สึกอิ่มง่าย มักมีผลข้างเคียง ทำให้ปากแห้ง ท้องผูก ใจสั่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและอาจมีอาการซึมเศร้า
          2.ยาที่ออกฤทธิ์ลดการดูดซึมไขมัน ทำให้ไขมันที่รับประทานเข้าไปบางส่วนไม่ถูกดูดซึม ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ทำให้ท้องอืด และถ่ายเป็นมัน
          3.ยาที่เพิ่มการใช้พลังงาน ปัจจุบันยังไม่มีการใช้รักษาทางการแพทย์
          ข้อควรคำนึงในการใช้ยาลดน้ำหนัก
          * ไม่ใช้ยาลดน้ำหนัก เพียงอย่างเดียวเพื่อลดน้ำหนัก เพราะสิ่งที่ถูกต้องคือการใช้ยาลดน้ำหนักควบคู่กับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การใช้ยาลดความอ้วนมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินในขณะใช้ยา เมื่อเลิกใช้ยาลดน้ำหนัก หากไม่มีการควบคุมอาหารอย่างต่อเนื่อง น้ำหนักที่ลดลงมาแล้วจะคืนกลับโดยที่บ่อยครั้งน้ำหนักจะขึ้นมากกว่าน้ำหนักเดิม ปรากฏการณ์นี้เราเรียกว่า Yo-Yo effect
          * การใช้ยาลดน้ำหนักต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่ควรซื้อยาลดน้ำหนักมารับประทานเอง เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ต้องเข้าใจด้วยว่าจุดประสงค์ของการใช้ยาลดน้ำหนัก เพื่อลดผลกระทบของโรคอ้วนต่อสุขภาพ ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม
          * การใช้ยาลดน้ำหนัก เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาระยะยาว โรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาโรคอ้วนจึงเป็นแบบระยะยาว การใช้ยาลดน้ำหนักเป็นระยะเวลานานเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ดังนั้นในระยะยาวการควบคุมน้ำหนักจึงขึ้นกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายเป็นหลัก
          ข้อมูลจากพ.ญ.อยุทธินี สิงหโกวินท์ อายุรแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลพญาไท 2/http:/www.phyathai.com


pageview  1205499    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved