HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 03/01/2556 ]
การแพทย์แผนไทยในระบบหลักประกันสุขภาพ

กองทุนพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทย เป็นกองทุนที่มีบทบาทในเรื่องการพัฒนาการแพทย์แผนไทยในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งได้ดำเนินงานมาระยะหนึ่งโดยสนับสนุนการบริการด้านการแพทย์แผนไทยในหน่วยบริการตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา


น.พ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยในระบบหลักประกันสุขภาพว่า สำหรับปีงบประมาณ 2555 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ครั้งที่ 1/2555 เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการ เรื่องการขยายบริการแพทย์แผนไทยให้ครอบคลุมหน่วยบริการที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช. รวมทั้งเห็นชอบให้ยกร่างแผนความร่วมมือระหว่างกองทุนแพทย์แผนไทยและกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกในการพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทย ดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไทย สุขภาพวิถีไทย ฉบับที่ 2


"จากการประชุมอนุกรรมการฯ เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาการแพทย์แผนไทยในระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคต ที่ประชุมมีความเห็นว่าหน่วยบริการที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช. ทุกแห่งควรจัดบริการการแพทย์แผนไทย และหน่วยบริการระดับ รพ.สต.อย่างน้อยร้อยละ 50 ควรมีผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยหรือสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ประจำ นอกจากนี้ควรดำเนินการให้มีระบบฐานข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการรักษาเวชกรรมไทย เช่น การใช้ยาจากสมุนไพร การนวดไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา นอกจากนี้ควรมีการสนับสนุนงบประมาณให้เกิดบริการแพทย์แผนไทยที่เพียงพอ และผลักดันให้หน่วยงานในภาครัฐและภาคเอกชนเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ให้ความร่วมมือกันทุกภาคส่วน" อธิบดีกรมพัฒน์ กล่าว


"การพัฒนาการแพทย์แผนไทยในบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ โดยให้มีแพทย์แผนไทยประจำ รพ.สต. เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ ซึ่งแพทย์แผนไทยประจำ รพ.สต. นี้จะมีบทบาททั้งเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพด้วยแพทย์แผนไทย การป้องกันโรค การรักษาด้วยแพทย์แผนไทย ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพร่างกายด้วยแพทย์แผนไทยครบทุกมิติ ซึ่งในเบื้องต้นทาง สปสช. จะมีข้อมูลหน่วยบริการว่า รพ.สต.ใดมีความพร้อมจะได้รับการพิจารณาให้ดำเนินการก่อน นอกจากนี้จะมีการส่งเสริมการใช้ยาเดี่ยวและยาตำรับ ใน รพ.สต. อย่างน้อย 20 รายการขึ้นไป เพราะขณะนี้การใช้ยาสมุนไพรยังถือว่าน้อยเกินไป ด้านบุคลากรกรมพัฒน์ ได้จัดหลักสูตรสำหรับพัฒนาพนักงานสาธารณสุขที่ต้องการความรู้ด้านแพทย์แผนไทยด้วย เพื่อจะได้วินิจฉัยโรคและสามารถสั่งยาได้
"ส่วนแนวโน้มการพัฒนายาสมุนไพร ปัจจุบันเรามีรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลัก 71 รายการ เราพยายามจะให้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีเป้าหมายคือไม่น้อยกว่า 100 รายการ เพื่อให้กองทุนรักษาพยาบาลของภาครัฐ ทั้งกองทุนข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และ สปสช. สามารถเบิกจ่ายได้ ความก้าวหน้าอีกเรื่องหนึ่งคือการพัฒนาโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานต้นแบบ ซึ่งมีโรงพยาบาลนำร่อง 9 แห่ง โดยได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สกลนคร และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้มีการลงนามความร่วมมือในการกำหนดทิศทางแพทย์แผนไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ


"โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต้นแบบ จะให้บริการผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนไทยเต็มรูปแบบ ได้แก่ 1.รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี 2.รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี 3.รพ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว 4.รพ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว 5.รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ 6.รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ 7.รพ.เทิง จ.เชียงราย 8.รพ.ท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี และ 9.สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์ไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ยศเส กทม. โดยจะเปิดให้บริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก เพื่อให้บริการและทำงานวิจัยด้วย
"ผมมองว่าการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะการพัฒนาการแพทย์แผนไทยในระบบหลักประกันสุขภาพ ต้องร่วมทำงานกับ สปสช.ในเรื่องการบริการดูแลสุขภาพให้ครอบคลุม นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานนอกกระทรวงอื่นๆ เพื่อสร้างทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมร่วมกัน" น.พ.สุพรรณ กล่าว


ขณะที่ รศ.นพ.ทวี เลาหพันธ์ หัวหน้าสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าเมื่อ พ.ศ.2546 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้โอนย้ายโรงเรียนอายุรเวทซึ่งเป็นโรงเรียนสอนการแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่ ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ปูชนียาจารย์ของศิริราชได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2525 เข้ามาสังกัดของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และจัดตั้งหน่วยงานใหม่เรียกว่าสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งมีฐานะเป็นภาควิชาทำหน้าที่กำกับดูแลโรงเรียนอายุรเวท ผลิตบุคลากรแพทย์แผนไทยตามปรัชญาใหม่ของ ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ที่ต้องการให้แพทย์แผนไทยมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย เพื่อจะได้พัฒนางานการแพทย์แผนไทยได้ ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้พัฒนาให้เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี และเมื่อปี พ.ศ.2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อโรงเรียนให้ใหม่ว่า โรงเรียนอายุรเวทธำรง ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนที่ทรงไว้ซึ่งความรู้ทางอายุรเวท


"ชั้นปีที่ 1 นักศึกษาจะเรียนรู้รายวิชาต่างๆ เช่นเดียวกับหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่นๆ ชั้นปีที่ 2 และ 3 จะศึกษารายวิชาวิทยาศาสตร์การแผนไทยและการแพทย์ทางเลือกทำหน้าที่กำกับดูแล รวมทั้ง สปสช. ก็มีส่วนช่วยผลักดันให้มีการพัฒนางานการแพทย์แผนไทยเข้าสู่ระบบสุขภาพของประเทศ ขณะนี้จึงเหลือแต่ว่าจะทำอย่างไรให้แพทย์แผนปัจจุบันในวงกว้างซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลระบบสุขภาพของประเทศในขณะนี้ เห็นคุณค่าและเข้าใจหลักการสำคัญของการแพทย์แผนไทย จะได้ช่วยผลักดันการพัฒนางานการแพทย์แผนไทย แต่ประเด็นสำคัญอีกอย่างคืองานการแพทย์แผนไทยเองจะต้องเร่งพัฒนาให้เป็นระบบ มีคุณภาพมาตรฐานที่ชัดเจน รวมทั้งเร่งตรวจสอบและพัฒนาให้องค์ความรู้มีความชัดเจนและนำมาใช้ประโยชน์ได้ หากสามารถทำงานทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน เชื่อว่าการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาติจะยั่งยืนอยู่ในระบบสุขภาพได้" รศ.นพ.ทวี กล่าว


ปัจจุบันงานบริการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ของโรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ตั้งอยู่ที่ชั้น 7 อาคารปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลศิริราช เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย การรักษาด้วยยาสมุนไพรและหัตถการ ไม่ว่าจะเป็นการนวดไทยแบบราชสำนัก การประคบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร การดูแลหญิงหลัง คลอด ฯลฯ รวมทั้งการผสมผสานศาสตร์การแพทย์แผนไทยกับกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคให้กับผู้รับบริการ จะได้มีความรู้ในการดูแลตนเองให้ห่างไกลโรค
ด้าน น.พ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั้งผู้สั่งใช้ทั้งผู้รับบริการ ต้องกระตุ้นให้เกิดทั้งสองมิติ ต่อมาคือการผลิต การแปรรูปสมุนไพร ตลอดจนการปลูกสมุนไพรซึ่งเหล่านี้ต้องทำแบบครบวงจร ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามาช่วยเรื่องการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ แนะนำเรื่องการปลูกที่มีคุณภาพ การดูแลรักษาพันธุ์ ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีถือว่ามาได้ไกลแล้ว


"ทุกวันนี้สมุนไพรไม่มีคนใช้เพราะมีราคาแพงกว่ายาแผนปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้ครอบคลุมในวงกว้างเพราะจะมีผลต่อเรื่องต้นทุนการผลิต ถ้ามีการทำอยู่เพียงไม่กี่หน่วยบริการย่อมมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น คือขาดวัตถุดิบหรือวัตถุดิบราคาแพง เป็นต้น ส่วนตัวผมมองว่างานแพทย์แผนไทยเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะว่าจะมาเสริมการให้บริการด้านการแพทย์ได้มาก มองในแง่บริหารจัดการสามารถลดต้นทุนด้านการแพทย์อย่างเห็นได้ชัด ช่วยลดการใช้ยาแผนปัจจุบันได้ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์แผนไทยขณะนี้ยังขาดมาก เพราะเพิ่งเริ่ม เข้าใจว่ามีสุราษฎร์ธานีนี่แหละที่มีบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยครบทุกโรงพยาบาล บางจังหวัดโรงพยาบาลบางแห่งก็ยังไม่มี"
น.พ.สสจ.สุราษฎร์ธานี บอกอีกว่า ในอนาคตที่ประเทศไทยจะเปิดเสรีการค้าในกลุ่มประชาคมอาเซียน เรื่องการแพทย์แผนไทยอาจจะเป็นบริการที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศด้วยซ้ำไป เนื่องจากประเทศไทยมีวัตถุดิบที่ดีจำนวนมาก ถ้ามีการสนับสนุนอย่างจริงใจ การแพทย์แผนไทยจะเป็นบริการที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้
"ปัจจุบันเราทำเรื่องการแพทย์แผนไทยเพื่อการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเหมาลำจากจีนมานวด อบสมุนไพร แช่สมุนไพร ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่เราจะได้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ส่วนเรื่องยาสมุนไพรในบัญชียาหลัก ในอนาคตคงจะต้องมีเพิ่มขึ้น เพราะเรากำลังขยายการแพทย์แผนไทย อนาคตจะสดใสหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐบาล และการพัฒนาทั้งระบบควบคู่กันไปอย่างที่ผมกล่าวในข้างต้น" น.พ.ณัฐวุฒิ ให้ความเห็น


pageview  1205464    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved