HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 24/12/2555 ]
'โรคแทรกซ้อนทางระบบประสาทในผู้ป่วยเบาหวาน'

  โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
          ปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานมีอายุยืนยาวขึ้น แนวความคิดที่จะป้องกันโรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน เช่นการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำไม่เพียงพอ จำต้องป้องกันภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคเบาหวานเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่จุดประสงค์ที่สำคัญคือการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงคนปกติ และลดโรคแทรกซ้อนที่เกิดกับผู้ป่วยเบาหวาน โรคแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยเบาหวานสามารถแบ่งได้เป็น
          1.ภาวะฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะช็อคจากน้ำตาลในเลือดสูง
          2.ภาวะแทรกซ้อนระยะยาว เป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากการเป็นโรคเบาหวานเป็นระยะเวลาหลายปี เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดแข็ง ภาวะที่พบบ่อยๆ คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตา โรคปลายประสาทอักเสบ
          โรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานเกิดจากอะไร?  ระดับน้ำตาลที่สูงเกินระดับปกติติดต่อกันเป็นเวลานาน สามารถไปจับกับหลอดเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ ได้แทบทุกอวัยวะ เช่น ตา หัวใจ ไต สมอง
          ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนจะมีโรคแทรกซ้อนหรือไม่?  เป็นการยากที่จะบอกว่าผู้ป่วยคนไหนจะมีโรคแทรกซ้อน บางท่านอาจมีโรคแทรกซ้อนหลายอวัยวะ บางท่านอาจจะยังไม่มีโรคแทรกซ้อนเลยก็ได้ ในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังต่อเมื่อคุมเบาหวานไม่ดีเป็นเวลาหลายปี ขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 มักเป็นโรคเบาหวานมานานโดยยังไม่ทราบ ดังนั้นเมื่อวินิจฉัยโรค จะพบโรคแทรกซ้อนเรื้อรังอย่างใดอย่างหนึ่งได้ถึง ร้อยละ 50
          โรคแทรกซ้อนทางระบบประสาทในผู้ป่วยเบาหวานแบ่งได้ตามกลุ่มอาการดังนี้
          -เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ความผิดปกติของเส้นประสาทเส้นใดเส้นหนึ่ง ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม
          เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยมีอาการดังนี้
          -อาการชา ผู้ป่วยมักจะสูญเสียประสาทรับความรู้สึก เริ่มจากบริเวณปลายนิ้วเท้า มักมีอาการทั้งสองเท้า และลุกลามขึ้นไปเรื่อยๆ นอกจากอาการชาเหมือนเป็นเหน็บ ความรู้สึกสัมผัสอาจลดลงหรือไม่รู้สึกเลย รวมทั้งไม่รับรู้ความร้อนเย็นด้วย นอกจากนี้อาจมีอาการชาบริเวณมือสองข้างร่วมด้วย ผลของอาการชาที่เป็นที่เท้าทั้งสองข้าง ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บเมื่อเกิดบาดแผล เกิดการบาดเจ็บที่เท้าได้ง่าย แผลที่เกิดขึ้นได้รับการดูแลรักษาล่าช้า นำไปสู่การติดเชื้อลุกลามจนอาจต้องตัดขาได้ในบางราย
          -อาการปวดเส้นประสาท อาจรู้สึกปวดแสบปวดร้อน ปวดเหมือนถูกไฟฟ้าช็อต มักเป็นกับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาและเท้า อาการมักเป็นมากโดยเฉพาะเวลานอน
          ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาอาการชาหรือปวดให้หายได้ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติ จะช่วยลดอาการชาหรือไม่ให้เป็นมากขึ้น
          ข้อมูลจากพ.ญ.อยุทธินี สิงหโกวินท์ อายุรแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลพญาไท 2/http://www.phyathai.com


pageview  1205458    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved