HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 03/09/2555 ]
'ความรู้เรื่องโรคไตเรื้อรัง'(CKD)-Chronic Kidney Disease (ตอน 2)

 นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
           การติดตามและรักษาโรคไตเรื้อรัง
          การติดตามโรคไตเรื้อรังด้วยการเจาะเลือดดูค่าจีเอฟอาร์ และการตรวจดูโปรตีนในปัสสาวะแล้วให้การรักษาที่เหมาะสม มีความสำคัญต่อการป้องกันไม่ให้ไตเสื่อมเร็ว เมื่อเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1-2 ควรได้รับการตรวจติดตามทุก 12 เดือน เมื่อเป็นระยะที่ 3 ควรได้รับการตรวจติดตามอย่างน้อยทุก 6 เดือน เมื่อเป็นระยะที่ 4 ควรได้รับการตรวจติดตามทุก 3 เดือน (หรือทุก 6 เดือน ถ้าระดับการทำงานของไตคงที่) เมื่อเป็นระยะที่ 5 ควรได้รับการตรวจติดตามอย่างน้อยทุก 3 เดือน
          สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ขึ้นไป ที่จีเอฟอาร์เสื่อมเร็วกว่าปีละ 7 มล./นาที ควรได้รับการตรวจประเมินและคำแนะนำจากอายุรแพทย์โรคไต
          เป้าหมายตัวชี้วัดสุขภาพของผู้ป่วยโรคไตวานเรื้อรัง
          การรักษาโรคไตวายเรื้อรัง มีเป้าหมายให้ดัชนีวัดต่างๆ มีค่าอยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้
          1.ความดันเลือดต้องไม่เกิน 130/80 mmHg
          2.ไขมันเลว (LDL) ในเลือดต้องต่ำกว่า 100 มก./ดล. ถ้าไม่มีโรคหัวใจหลอดเลือดร่วม หรือต่ำกว่า 70 มก./ดล. ถ้ามีโรคหัวใจหลอดเลือดร่วมด้วย
          3.ควรรักษาน้ำหนักให้ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5-23 กก./ตรม. (สามารถคำนวณหาดัชนีมวลกายได้เองจากการเอาน้ำหนักเป็น กก.ตั้งแล้วหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรสองครั้ง)
          4.กรณีเป็นเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร (FBS) ควรอยู่ระหว่าง 90-130 หรือระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) น้อยกว่า 7.0%
          5.ระดับอัลบูมินในเลือด (ซึ่งบ่งบอกภาวะทุพโภชนาการ) ไม่ควรต่ำกว่า 3.5 ก./ดล.
          6.ระดับฮีโมโกลบิน (ซึ่งบ่งบอกภาวะโลหิตจาง) ไม่ควรต่ำกว่า 10%
          การหลีกเลี่ยงยาหรือสารพิษที่ทำลายไต
          ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทุกคนควรหลีกเลี่ยงการได้รับสารที่เป็นพิษต่อไตต่อไปนี้คือ
          (1) ยาแก้ปวดแก้อักเสบในกลุ่ม non steroidal anti-inflammatory drugs (NSAID) และกลุ่ม COX2 inhibitors
          (2) ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม aminoglycosides ซึ่งเป็นพิษต่อไต
          (3) การฉีดสารทึบรังสี (radiocontrast agents) เพื่อการวินิจฉัยโรค
          (4) สมุนไพรต่างๆ เพราะสมุนไพรหลายชนิดเป็นพิษต่อไต
          การฉีดวัคซีนในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
          ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองว่า มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือมีภูมิคุ้มกันตับอักเสบบีหรือไม่ หากไม่มีเชื้อและไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรได้รับการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีจนมีภูมิคุ้มกัน
          ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 ขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีทุกปี
          ต้องการทราบสภาพการทำงานของไต ตรวจกรองได้ โดยการตรวจสุขภาพประจำปี ขอให้แจ้งแพทย์ใกล้ตัวท่านดูแลให้
          ข้อมูลจาก ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลพญาไท
          2/http://www.phyathai.com


pageview  1205913    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved