HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 27/08/2555 ]
ชี้ตัวเลขเด็กแรกเกิดถึง 15 ปีเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุพุ่งสูงถึง 35%

ขึ้นชื่อว่า "เด็ก" พ่อแม่ทุกคนคงทราบดีว่าความซนบวกกับวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็นนั้นส่งผลทำให้บางครั้งกิจกรรมต่างๆ ที่พวกเขาได้เล่นกันอย่างสนุกสนานอาจทำให้พวกเขาต้องประสบอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้เสมอ และอุบัติเหตุที่มีผลกระทบและก่อให้เกิดภาวะอาการบาดเจ็บรุนแรงมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ อุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบกระเทือนถึงสมอง ถือได้ว่าร้ายแรงมากถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการได้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะการบาดเจ็บทางสมองของเด็กแรกเกิด การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือยานพาหนะต่างๆ การตกจากที่สูง และอุบัติเหตุจากการจมน้ำ
          นอกจากนี้ สถิติจากปี 2005-2006 ในประเทศไทยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สาเหตุหลักของการเสียชีวิตในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีมาจากการขาดอากาศหายใจและการบาดเจ็บระหว่างคลอด อุบัติเหตุบนท้องถนน และการจมน้ำ ทั้ง 3 สาเหตุนี้คิดเป็น 35% ของการเสียชีวิต ซึ่งอุบัติเหตุบนท้องถนนยังคงเป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการเสียชีวิตและทุพพลภาพ
          น.พ.คอสตาส ปาปาโดปูลอส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ บริษัท ไทย สเตมไลฟ์ จำกัด กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุ การรักษาทุกรูปแบบในปัจจุบันคือ "การรอและสังเกตการณ์" โดยเฉลี่ยแล้ว ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะอย่างรุนแรงต้องผ่าตัดเพื่อที่จะกำจัดลิ่มเลือด หยุดอาการเลือดออก ซ่อมแซมเส้นเลือด หรืออาการเนื้อเยื่อสมองช้ำ ระยะที่เด็กๆ จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เกิดจากการกระทบกระเทือนสมองชนิดปานกลางและรุนแรง ไม่เปลี่ยนแปลงมานานกว่า 10 ปี และโดยเฉลี่ยแล้ว 1 ใน 3 ของผู้ป่วย ซึ่งมีอาการบาดเจ็บทางสมองอย่างรุนแรงนั้นมีการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจ(เสียชีวิต หรือพิการทางสมองในระดับรุนแรงหรือปานกลาง) ยิ่งไปกว่านั้น การพิการทางสมองที่เกิดจากการกระทบกระเทือนระดับปานกลางนั้นมีความสำคัญมาก อัตราการเสียชีวิตและความพิการในระยะยาวไม่ลดน้อยลงเลยมานานกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของเด็กๆ คืออยู่ในอาการโคม่า ในสภาพเจ้าชาย หรือเจ้าหญิงนิทรา หรือมีความพิการทางสมองอย่างรุนแรง และต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
          คุณหมอยังกล่าวอีกว่า ".ปัจจุบันการวิจัยโดยการใช้สเตมเซลล์รักษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศผลการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่เกิดการบาดเจ็บก่อนการรักษา การรักษาโดยใช้สเต็มเซลล์ของตัวเอง อาจจะเป็นความหวังของคนในทุกระดับอายุ แต่ผู้ป่วยต้องมีสเต็มเซลล์พร้อมสำหรับเวลาจำเป็นในการรักษาด้วยวิธีใหม่ๆ ดังนั้นการเก็บสเต็มเซลล์ของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจากเลือดในรกและสายสะดือของเด็กก็เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง และมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่า สเต็มเซลล์ที่อ่อนวัยนี้จะให้ผลตอบสนองที่ดีที่สุด การให้การดูแลตามมาตรฐานและอย่างใกล้ชิดก็สามารถลดผลแทรกซ้อนในการรักษาได้ ทั้งนี้การปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี การช่วยให้เด็กสามารถหายใจได้ด้วยการให้ออกซิเจน และการนำเด็กไปถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกวิธีและปลอดภัย จะมีส่วนช่วยอย่างมากที่จะทำให้เด็กมีโอกาสรอดชีวิต ตลอดจนสามารถป้องกันไม่ให้สมองของเด็กเกิดการพิการอย่างถาวรอีกด้วย"
          คงจะเป็นการดีหากคนเราทุกคนมีทางเลือก หรือเลือกทางที่สามารถป้องกันสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันเรียกว่า "อุบัติเหตุ" เราคงไม่สามารถรู้ถึงหนทางข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตได้ การเลือกที่จะเก็บสเต็มเซลล์อาจเป็นแสงสว่างหนึ่งที่จะทำให้ทางที่เรากำลังจะเดินไปนั้นไม่ใช่ทางตัน...


pageview  1206118    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved