HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 09/07/2555 ]
'มะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว'

 ท่านทราบหรือไม่ว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถถ่ายทอดได้ในครอบครัว เพียงมีประวัติครอบครัวดังกล่าว ท่านมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมากขึ้นทันที โดยที่ไม่จำเป็นต้องอายุมากหรือมีอาการผิดปกติ หลายคนที่มีพันธุกรรมในครอบครัวผิดปกติ สามารถเกิดโรคได้ตั้งแต่วัยรุ่น ซึ่งถ้าท่านทราบว่าตนมีความเสี่ยง และได้รับการวินิจฉัยทางพันธุกรรมตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีอาการ มะเร็งลำไส้ใหญ่จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ก่อนจะลุกลามไปทั่วร่างกาย
          มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในประชากรไทย ส่วนมากเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยมักมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ซีด อ่อนเพลีย ถ่ายเป็นเลือด หรือคลำก้อนได้ที่หน้าท้อง สาเหตุหลักที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบคือ มีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของพันธุกรรม หรือยีนส์ที่ควบคุมการเติบโตของเซลล์ลำไส้นั่นเอง ในภาวะปกติ เซลล์เยื่อบุลำไส้จะมีสมดุลในการเจริญเติบโตและการทำลายเซลล์ที่มีอายุขัยมากแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกควบคุมโดยพันธุกรรมในเซลล์ที่ทำหน้าที่ควบคุมความสามารถในการเติบโตหรือฝ่อไปนั่นเอง ดังนั้น เมื่อมีการกลายพันธุ์ (mutation) จากสาเหตุใดๆ ก็ตาม เช่น สารพิษ สารรังสี ยาบางชนิด การติดเชื้อ ก็ทำให้พันธุกรรมที่ควบคุมหน้าที่ดังกล่าวเสียไป เช่น มีการเร่งการเติบโตของเซลล์ลำไส้มากขึ้น  หรือมีการยับยั้งการเสื่อมสลายของเซลล์ ทำให้เกิดการเสียสมดุล เซลล์เติบโตมากขึ้นมาเป็นก้อนเนื้อ และสุดท้ายการเป็นมะเร็ง
          ดังนั้น สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนมาก จึงเกิดจากการกระตุ้นการกลายพันธุ์ในลำไส้ เช่น อาหารที่มีไฟเบอร์ต่ำ การรับประทานอาหารปิ้งย่างที่มีเขม่าดำการระคายเคืองของลำไส้จากท้องผูกบ่อย เป็นต้น แต่จะมีสาเหตุที่เรามักคาดไม่ถึง ได้แก่ การที่พันธุกรรมในร่างกายเราถูกกำหนดให้เป็นมะเร็งหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งโดยกำเนิด ซึ่งสาเหตุนี้มักจะถูกถ่ายทอดส่งต่อกันมาเรื่อยๆ จากบรรพบุรุษ ซึ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ พบได้ถึง 10% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้งหมด และผู้ป่วยเหล่านี้ มักเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุยังน้อย มักจะน้อยกว่า 50 ปี หลายรายเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุ 20 ปี เป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว มะเร็งชนิดนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่พี่น้องลูกหลานได้ ดังนั้น เมื่อมีใครในบ้านสักคนหนึ่งเป็นโรค สมาชิกที่เหลือในครอบครัวจำเป็นต้องรีบประเมินความเสี่ยงของตนเองทันที เพื่อที่จะได้ตรวจคัดกรองหาโรคและรักษาได้ทันท่วงที เนื่องจากการค้นพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ และทำให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้เป็นปกติสุข
          ข้อมูลจาก ดร.นพ.โอบจุฬ ตราชู แพทย์ที่ปรึกษาทางด้านเวชพันธุศาสตร์และเวชศาสตร์โมเลกุล แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลพญาไท 1/http://www.phyathai.com


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved