HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 30/05/2555 ]
โรคมาลาเรียระบาดป่าภูพาน-พบ60ราย

 พบการระบาดของโรคมาลาเรียในกลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ติดเขตเทือกเขาภูพาน ที่อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอสมเด็จ ระบุมีผู้ป่วยเข้ารักษาแล้ว 58 ราย และส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเกิดจากการเข้าหาของป่าในเขตป่าภูพาน
          กาฬสินธุ์/ เมื่อเร็วๆ นี้ น.พ.สมยศ เหรียญกิตติวัฒน์ ผอ.โรงพยาบาลอำเภอสมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ แจ้งว่า ทางโรงพยาบาลได้รับตัวชาวบ้านที่ป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรีย เข้ามาเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา และยังพบว่าจำนวนผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการติดตามพบว่ามีประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเทือกเขาภูพาน ด้าน ต.มหาไชย ต.แซงบาดาล และ ต.ผาเสวย พากันเข้าไปรักษาจนแน่นโรงพยาบาล
          น.พ.สมยศ เหรียญกิตติวัฒน์ ผอ. โรงพยาบาลอำเภอสมเด็จ กล่าวว่า การพบ โรคมาลาเรีย นับเป็นความผิดปกติในพื้น ที่ เนื่องจากจังหวัดกาฬสินธุ์โรคชนิดนี้ได้หายไปแล้วกว่า 10 ปี ซึ่งนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ที่สภาพอากาศแปรปรวนและมีฝนตกกระจาย ก็ทำให้เริ่มพบผู้ป่วยใน 3 ตำบลพร้อมๆ กัน ประกอบด้วย ต.แซงบาดาล ต.มหาไชย และ ต.ผาเสวย ที่บ้านเรือนอยู่ในเขตป่าภูพาน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ทำการตั้งรับเพื่อรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาด แต่กลับพบว่าปริมาณการแพร่กระจายของเชื้อได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
          "ทั้งนี้จากการสอบสวนโรค ส่วนใหญ่สาเหตุของการติดเชื้อเกิดจากชาวบ้านไปติดเชื้อมาจาก ป่าภูพาน ซึ่งอ้างว่าได้เข้าไปหาของป่าในป่าลึกและด้วยความไม่เข้าใจในการรักษาโรค จึงทำให้ยุงที่กัด ผู้ป่วยแพร่กระจายไปยังชาวบ้านกลุ่มอื่น ทั้งนี้จากสถิติตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยแล้ว 58 ราย ใน 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.แซงบาดาล ต.ผาเสวย และโดยเฉพาะที่ ต.มหาไชย พบผู้ป่วยมากถึง 41 ราย และในทุกวันได้มีประชาชนที่อยู่ใน 3 ตำบลนี้ยังคงเข้ารับการรักษา และยังคาดว่าในกลุ่มที่มีเชื้อในหมู่บ้านจะมีมากกว่า 300 คน" น.พ.สมยศ กล่าว
          ผอ.โรงพยาบาลอำเภอสมเด็จ ระบุอีกว่า ถึงแม้เชื้อที่พบยังเป็นเชื้อที่อ่อนไม่แรงเหมือนใน ภาคใต้ แต่ในทุกๆ วันผลการเจาะเลือดตรวจของผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคมาลาเรียด้วยอาการที่เสมือนโรคไข้เลือดออก โรคไข้ฉี่หนู หมายถึง อาการหนาวจับสั่น ตัวร้อน ก็ขอให้ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้เข้าไปรับการรักษากับทางโรงพยาบาล
          สำหรับโรคมาลาเรีย ถึงแม้ปัจจุบันจะมียารักษา แต่หากผู้ป่วยไม่รับประทานยาให้ครบจำนวนก็จะทำให้เชื้อโรคตกค้างที่จะมีผลไปทำลายเม็ดเลือด ในตับหรือสมอง และหากรักษาไม่ทันยังจะทำให้เสียชีวิตลงได้ การป้องกันจึงขึ้นอยู่ที่การหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงก้นปล่องกัด
 


pageview  1205891    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved