HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 03/04/2555 ]
รายงานพิเศษ: "ซูโดอีเฟดรีน" รักษาโรคร้ายหรือกลายเป็นยาเสพติด

จากคำที่เรียกยาก ไม่คุ้นหูคุ้นปากคนไทย กลายเป็นคำพูดที่เราได้ยินกันจนชินไปแล้ว สำหรับ "ซูโดอีเฟดรีน"(PseudoEphedrine) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ยาซูโด
          มันเริ่มเป็นที่รู้จักหลังตรวจพบการลักลอบนำยาแก้หวัดสูตรผสมสารซูโดอีเฟดรีนออกจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิด เนื่องจากยาดังกล่าวสามารถนำไปทำเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดได้
          การตรวจสอบการลักลอบยักย้ายถ่ายเทยาซูโดอีเฟดรีนยิ่งลึก ก็ยิ่งพบว่า มีความเกี่ยวโยงกับบุคคลระดับใหญ่มิใช่เพียงแค่ปลาซิวปลาสร้อย จากนั้นก็เป็นข่าวใหญ่โตต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวัน
          ส่วนการลักลอบนำเข้ายาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนจากต่างประเทศก็เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยในปี 2553 มีการจับกุมสูงถึง 33 ล้านเม็ด เป็นการลักลอบนำเข้ากว่า 30 ล้านเม็ด
          สำหรับวิธีการลักลอบนำเข้ามีมากมาย ซึ่งที่นิยมใช้กันก็คือ การส่งผ่านมาทางคลังสินค้าแต่แจ้งว่าเป็นสินค้าชนิดอื่นซึ่งไม่เป็นที่น่าสนใจ บางครั้งก็ลักลอบนำเข้าทางชายแดนภาคใต้และภาคเหนือ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนเส้นทางที่นำเข้าจากประเทศที่ถูกจับตาอย่างเคร่งครัดไปยังประเทศอื่นที่ไม่มีการเข้มงวด เรียกได้ว่า ผู้กระทำผิดได้เปลี่ยนกลวิธีไปเรื่อยๆจนยากต่อการติดตาม
          ขณะที่ตัวการใหญ่ในขบวนการนี้มีหลายราย ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดปริมาณที่ต้องผลิตให้ได้ในแต่ละปี จากนั้นจะใช้ตัวกลางหลายคนทำหน้าที่เป็นผู้รับช่วงต่อในการรวบรวมยาแก้หวัดให้ได้ปริมาณตามเป้าที่ตั้งไว้
          ทั้งนี้ ขบวนการรวบรวมยาแก้หวัดเพื่อนำไปเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด จะส่งนายหน้าออกไปเป็นสายๆ ติดต่อกับโรงพยาบาลหลายแห่งในหลายจังหวัด โดยในภาคอีสานมีจุดนัดหมายอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อรวบรวมได้มากพอก็จะส่งมารวมกันที่ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนส่งออกชายแดนไปสู่กระบวนการผลิตยาเสพติดต่อไป และเจ้ายาเสพติดเหล่านี้ก็ไม่ได้ไปไหน มันจะถูกส่งกลับมาสู่บ้านเราในเวลาต่อมา
          ย้อนกลับมาที่ซูโดอีเฟดรีน เจ้ายาตัวนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่าสามารถใช้เป็นสารตั้งต้นที่ในการผลิตยาบ้าหรือยาไอซ์ แต่บางคนก็อาจยังไม่รู้ หรือหลงลืมไปว่า ด้านที่มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์ของซูโดอีเฟดรีน คือ การใช้รักษาโรค ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลัก
          บางคนก็เกิดความสงสัยว่า หากซูโดอีเฟดรีนมีสารตั้งต้นที่สามารถนำไปผลิตยาเสพติดได้ แล้วหากคนทั่วไปที่ใช้เป็นประจำจะมีโอกาสเสพติดยาตัวนี้ได้ด้วยหรือไม่
          ถ้าอย่างนั้น มาทำความรู้จัก "ซูโดอีเฟดรีน" กันหน่อยซูโดอีเฟดรีน เป็นสารออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติในร่างกายเราที่เรียกว่า ซิมพาเธติก เป็นระบบประสาทที่ทำหน้าที่เมื่อมนุษย์เกิดความตื่นเต้น ตกใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วเพื่อตอบโต้ทันสถานการณ์ที่ต้องต่อสู้ หรือออกกำลังกาย
          ซูโดอีเฟดรีนออกฤทธิ์โดยการไปกระตุ้นปลายประสาทอัตโนมัติประเภทซิมพาเธติก ซึ่งอยู่ในชั้นกล้ามเนื้อของหลอดเลือด มีผลทำให้หลอดเลือดเกิดการหดรัดตัว ทำให้น้ำคัดหลั่งภายในหลอดเลือดไหลออกไปเนื้อเยื่อของจมูกน้อยลงและลดการสร้างน้ำมูก
          ผลที่ได้ก็คือช่วยลดอาการบวมเยื่อบุจมูก ลดอาการคั่งของเลือดในเนื้อเยื่อ ลดอาการคัดจมูก ทำให้หายใจสะดวกขึ้นนอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มการระบายออกของสารคัดหลั่งจากไซนัสและยังช่วยบรรเทาอาการอักเสบของช่องหูตอนกลาง ช่วยให้ท่อนำลมที่เชื่อมระหว่างหลังจมูกกับหูส่วนกลางที่อุดกั้นเปิดออกได้จึงเป็นยาเสริมสำหรับนักดำน้ำหรือผู้ที่ขึ้นเครื่องบินแล้วมีอาการหูตัน
          ซูโดอีเฟดรีน มีทั้งแบบชนิดกินทั้งเม็ดและน้ำ และแบบใช้เฉพาะที่ คือพ่นเข้าไปในจมูก หรือหยอดจมูก ยาพ่นชนิดใช้เฉพาะที่ ไม่ค่อยใช้บ่อยนัก ยกเว้นในกรณีที่ต้องการให้เกิดการหดตัวของเยื่อบุจมูกอย่างรวดเร็ว เช่น มีไซนัสอักเสบเฉียบพลัน หรือมีอาการปวดหูตอนเครื่องบินลง แต่ไม่ควรใช้ยาแบบพ่นหรือหยอดนี้ ติดต่อกันเป็นนานกว่า 3-5 วัน เพราะจะทำให้เกิดอาการคัดจมูกอย่างทันทีเมื่อเลิกใช้ และทำให้จมูกอักเสบแย่ลงไปอีก
          การใช้ซูโดอีเฟดรีน อาจมีผลข้างเคียงคือ กระตุ้นประสาทให้เกิดอาการหงุดหงิด ตกใจง่าย มึนงง นอนไม่หลับ ใจสั่นและในบางรายอาจเกิดอาการประสาทหลอน หัวใจเต้นผิดจังหวะความดันโลหิตสูง ชัก ลำไส้ใหญ่อักเสบจากการขาดเลือด
          การใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ หรือใจสั่นหากได้รับยาในขนาดสูง
          ส่วนผู้ที่ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากโต ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ และต้อหินบางชนิดรวมทั้งผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ก่อนการใช้ยา ต้องระวังผลข้างเคียง ซึ่งแพทย์มักแนะนำให้ใช้ยาอื่นๆ ที่ปลอดภัยกว่า อาทิใช้ยาแบบเฉพาะที่ หรือการใช้น้ำเกลือพ่นจมูกหรือล้างจมูกแทนจะปลอดภัยกว่า
          จากข้อมูลสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ซูโดอีเฟดรีน จัดเป็น 1 ใน 14 ของสารตั้งต้นรวมถึงสารประกอบที่ใช้ในการลักลอบผลิตยาเสพติดที่กำหนดตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดให้โทษ และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1988
          โครงสร้างทางเคมีของซูโดอีเฟดรีน มีลักษณะคล้ายคลึงกับ เอฟิดรีน และสารเมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) เป็นอย่างมากจึงสามารถนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาไอซ์หรือยาบ้าได้
          นั่นคือเหตุผลส่วนหนึ่งที่ ซูโดอีเฟดรีน ถูกจัดเป็นยาให้โทษประเภทที่ 4 ของประเทศไทย สามารถใช้ได้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น และปัจจุบันกำลังจะถูกประกาศให้เป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทไปแล้ว
          สารซูโดอีเฟดรีน เป็นสารชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์อย่างรุนแรงต่อระบบประสาท ซึ่งหากนำไปใช้มากเกินความจำเป็นก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้ โดยหากรับประทานยาแก้หวัด
          สูตรผสมสารซูโดอีเฟดรีนเป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน ก็จะทำให้มีอาการเสพติดเหมือนยาบ้าได้
          ผลจากการศึกษาวิจัยพบว่าสารซูโดอีเฟดรีนมีโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกับสารแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของยาบ้า และที่สำคัญคือ สารซูโดอีเฟดรีนมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทเช่นเดียวกับยาบ้า แต่สารซูโดอีเฟดรีน มีฤทธิ์อ่อนกว่า และต้องใช้ความเข้มข้นเป็น 40 เท่าของสารแอมเฟตามีนในยาบ้าจึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์เท่ากัน
          จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์พบว่า เมื่อนำสารซูโดอีเฟดรีนไปฉีดให้หนูทดลอง พบว่า มีปฏิกิริยาคือ หนูเกิดความชื่นชอบและมีอาการเสพติด ซึ่งการทดลองดังกล่าวได้ฉีดยาให้หนูเพียง 2 ครั้ง หนูก็กลายเป็นผู้เสพติดสารชนิดนี้แล้ว
          ดังนั้น ในส่วนของมนุษย์ หากรับประทานยาแก้หวัดลดน้ำมูกที่มีส่วนผสมของสารซูโดอีเฟดรีนเข้าไปในปริมาณมากหรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสที่จะเสพติดตัวยาได้เช่นกันซึ่งจะมีผลเสียต่อระบบประสาท ที่ทำหน้าที่เก็บความจำและควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้แก่ การเคลื่อนไหวการทรงตัว และการถ่ายทอดความรู้สึกทำให้ตื่นตัว
          อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ได้มีความพยายามจากผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ในการสกัดกั้นการนำสารซูโดอีเฟดรีนไปเป็นส่วนประกอบเพื่อสร้างยานรกมอมเมาประชาชน ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ โดยความพยายามในเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เพียงการปราบปราม ไล่เบี้ยเอาผิดกับคนที่มีเอี่ยวทั้งปลาซิว ปลาสร้อย หรือใหญ่ขนาดปลาวาฬเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการป้องกันด้วย
          ตัวอย่างของการป้องกันก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันพบการนำยาซูโดอีเฟดรีน สูตรผสมไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยนำไปสกัดเอาซูโดอีเฟดรีน ออกไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดทำให้เงื่อนไขไม่เข้าข่ายของการเป็นวัตถุตำรับ ยกเว้นตามมาตรา61(2) (3) และ (4) จึงไม่อาจประกาศให้ตำรับยาสูตรผสม(ยาแก้หวัด) ที่มีซูโดอีเฟดรีนผสมอยู่เป็นวัตถุตำรับยกเว้นได้ดังนั้นคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทจึงได้ประชุมกันในวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อจัดทำประกาศเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามให้ซูโดอีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
          สรุปได้ว่า ซูโดอีเฟดรีน เป็นยาที่มีประโยชน์และมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบันถูกขบวนการค้ายาเสพติดนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาบ้าและยาไอซ์ ทำให้เราได้เห็นสัจธรรมข้อหนึ่งที่ว่า บางสิ่งก็เป็นเหมือนดาบสองคม มีประโยชน์อนันต์ แต่อีกด้านก็อาจมีโทษมหันต์ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลอยู่กับเราว่าจะนำมาใช้อย่างไร
          และแม้ว่าในตอนนี้ จะยังไม่มีความชัดเจนว่า ใครกันแน่ที่เป็นตัวการใหญ่อยู่เบื้องหลังขบวนการยักย้ายถ่ายเทยาที่มีส่วนประกอบของสารซูโดอีเฟรดีนไปสู่กระบวนการสร้างยาเสพติดแต่เป็นเรื่องที่สังคมเฝ้ารอคอยคำตอบ และเป็นที่คาดกันว่าข้อข้องใจทุกอย่างจะมีความกระจ่างในเวลาไม่นานนับจากนี้


pageview  1205081    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved