HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 02/04/2556 ]
น้ำหนักเกิน-อ้วน เสี่ยงโรคผิวหนังลดน้ำหนักผิดวิธี อันตรายถึงชีวิต

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ออกโรงเตือนภัยคนไทยที่มีภาวะน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางผิวหนังได้หลายโรค เผยการลดสัดส่วนด้วยวิธีการต่างๆ มีความอันตรายสูง ส่งผลต่อร่างกายและระบบอวัยวะภายใน ทำให้เสียชีวิตได้หากรักษาอย่างผิดวิธี
          ผศ.พญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และคณะอนุกรรมการวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชากรในประเทศไทยที่กำลังประสบปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน หรือเกิดปัญหาความอ้วนและกำลังจะเป็นโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโรคอ้วนนี้ส่งผลเสียโดยตรงกับผิวหนัง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาหลายประการในผิวของผู้มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน ผิวหนังจะมีการสูญเสียน้ำมากกว่าคนปกติ ทำให้เกิดอาการผิวแห้งแดงอักเสบได้ง่าย หรือบางครั้งเมื่ออยู่ในที่อบอ้าว จะมีเหงื่อออกมาก เนื่องจากมีชั้นไขมันที่หนา ทำให้เกิดความอับชื้นบริเวณซอกพับของร่างกายได้มาก ทำให้การระบายของเสียกลับเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตทางหลอดเลือดน้ำเหลืองไม่สะดวก เกิดมีเส้นใยคอลลาเจนในชั้นหนังแท้ไม่แข็งแรง หากเป็นแผลจะทำให้แผลหายช้ากว่าคนปกติทั่วไป และยังพบว่ามีอัตราการไหลเวียนเลือดที่มาเลี้ยงผิวหนังเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณไขมันมาก เส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังหดและมีการขยายตัวที่ผิดปกติ
          "โรคผิวหนังที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน ผิวหนังจะเป็นปื้นดำหนาขรุขระดูคล้ายผ้ากำมะหยี่ พบบ่อยที่บริเวณซอกพับของร่างกาย บางครั้งจะมีติ่งเนื้อจำนวนมากบริเวณซอกพับ เรียกชื่อโรคว่า Acanthosisnigricans โรคขนคุด มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็งบนรูขน คลำแล้วรู้สึกผิวสาก ไม่เรียบ พบมากบริเวณแขน ขาทั้งสองข้าง บางรายอาจมีขนดก เส้นขนยาวขึ้นและมีสีเข้ม เป็นสิว ขนที่ดกขึ้นจะพบที่ใบหน้า หนวด ขนหน้าอก เป็นต้น แต่บริเวณศีรษะ ผมจะบางลง ผิวแตกลายเช่นเดียวกับที่พบในสตรีมีครรภ์ บริเวณหน้าท้อง บั้นท้ายและต้นขา ผิวหนังที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้างจะหนาและแข็ง เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักตัวซึ่งมากกว่าปกติ โรคที่เกี่ยวกับเซลลูไลท์ หรือผิวหนังขรุขระคล้ายเปลือกส้ม โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชนิดต่างๆ ตั้งแต่ต่อมขนอักเสบ ไปจนถึงติดเชื้อลามลึกเข้าไปยังเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงินและโรคเก๊าท์ พบได้บ่อยในผู้ที่มีโรคอ้วน"
          ด้าน ดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการอำนวยการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุของโรคอ้วน หลักๆ คือ การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น สารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล  พบว่าเมื่อรับประทานไปเวลานานๆ กลับทำให้อ้วนมากขึ้นและมีความสัมพันธ์กับเบาหวานมากกว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มี น้ำตาลจริงๆ หรืออาหารที่ไร้ไขมันและไขมันต่ำ จะใส่น้ำตาลปริมาณมากเพื่อชดเชยกับรสชาติที่สูญเสียไป กลับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะผู้บริโภคคิดว่าอาหารดังกล่าวรับประทานแล้วดีต่อสุขภาพ ก็จะรับประทานมากขึ้น
          "ในท้องตลาดปัจจุบันมียาที่ใช้ลดความอ้วนได้หลายชนิด การจะใช้ยาก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ทั้งอาหารเสริมและยาไม่ใช่ปัจจัยหลักในความสำเร็จของการลดน้ำหนัก แต่ต้องลดด้วยตัวเองให้ได้ก่อนอาหารเสริมในหลายๆ ประเภท มักจะมีส่วนผสมของ CLA กรดไขมัน และ LCH คอลลาเจน พริกไทยดำ ชาเขียว กรดผลไม้ โคคิวเทน ถั่วขาว แอลไลซีน แอลคาร์รีทีน และ แอลกลูตามีน อาหารเสริมเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้ดีขึ้น หรือทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาหารเสริมบางประเภทก็ดักจับไขมัน หรือดักจับคาร์โบไฮเดรต ส่วนใหญ่มักจะทำมาจากใยอาหาร หรือกรดผลไม้ ซึ่งอันตรายจากยาและอาหารเสริมให้สังเกตดูตรา อย. เนื่องจากมียาหรืออาหารเสริม ที่ใส่สารต้องห้าม ทำให้ผู้รับประทานเกิดใจสั่นหรือขาดวิตามินได้ รวมถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงแก่ชีวิตได้"
          ปิดท้ายที่ พญ.นัทยา วรวุทธินนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายในการแก้ปัญหา ไขมันส่วนเกิน แต่เครื่องมือเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ลด น้ำหนักหรือรักษาโรคอ้วนได้โดยตรง และไม่สามารถเกิดผลการรักษาที่ดีได้ในระยะยาว หากไม่มีการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย หรือการใช้ครีมกระชับสัดส่วนเฉพาะที่ ผู้บริโภคไม่สามารถทราบได้เลยว่า เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์แล้วสัดส่วนที่ลดลงนั้นเกิดจากไขมันในส่วนนั้นหายไปจริงๆ หรือเป็นเพียงแค่น้ำในร่างกายที่ลดออกไป ซึ่งยังไม่มีข้อชี้วัดทางด้านผลการวิจัยที่ชัดเจน โดยเฉพาะการลดน้ำหนักด้วยวิธีการฉีดยาหรือใช้ยา ยาเหล่านี้ มีโอกาสตกค้างในร่างกายจะมีผลต่อ ตับ ไต และหัวใจ แม้ว่าจะหยุดรับประทานไปนานแล้ว
          "การจะลดน้ำหนักด้วยวิธีใดก็ตาม ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคอ้วน ควรจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์จะดีที่สุด เพราะหากเลือกใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง หรือการใช้เครื่องมือโดยผู้ที่ไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญ ก็ทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน"
 


pageview  1205886    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved