HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 25/01/2556 ]
เผยแนวทางรักษามะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์

 โรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนักเมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งระบบทางเดินอาหารชนิดอื่นๆ โดยในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรค มะเร็งจีสต์ปีละประมาณ 250 ราย และมีอัตราการเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี พบมากในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่คนไทยยังมีข้อมูลความรู้ความเข้าใจในมะเร็งชนิดนี้น้อยมาก ในโอกาสครบรอบ 1 ทศวรรษแห่งความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย จึงได้จัดงานสัมมนาเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการรักษามะเร็งทางเดินทางอาหารชนิดดังกล่าว
          รศ.คลินิก พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า โรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ เกิดจากเซลล์ที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ สามารถพบได้ตามส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่หลอดอาหารไปจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย โดยตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด คือกระเพาะอาหารประมาณ 40-60 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ลำไส้เล็ก ประมาณ 20-40 เปอร์เซ็นต์
          "มะเร็งจีสต์ จัดเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่ยากต่อการวินิจฉัยและการรักษา เนื่องจากในช่วงแรกอาจจะตรวจพบเนื้องอกอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งในช่องท้อง และมักจะไม่แสดงอาการให้เห็น ซึ่งมะเร็งชนิดจีสต์ที่ยังคงอยู่บริเวณเดิมนั้น เราเรียกว่าการเกิดเนื้องอกเฉพาะที่ และเมื่อเนื้องอกจีสต์เกิดการลุกลาม มีการแพร่กระจายของโรคไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย จนกลายเป็นเนื้องอกจีสต์ในระยะแพร่กระจาย ซึ่งบ่อยครั้งที่เราจะพบว่า เนื้องอกจีสต์เจริญเติบโตจนมีขนาดใหญ่ ก่อนที่จะถูกตรวจพบและเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ และเยื่อบุช่องท้อง"
          นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งจีสต์ จึงยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคนี้ สำหรับอาการของมะเร็งจีสต์นั้น จะมีความคล้ายคลึงกับมะเร็งทางเดินอาหารชนิดอื่นๆ โดยผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยบางรายอาจคลำพบก้อนในท้อง ซึ่งหากก้อนมะเร็งจีสต์อยู่ในกระเพาะอาหาร ก็อาจจะทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารได้ โดยเลือดจะปะปนออกมากับอุจจาระ ทำให้อุจจาระมีสีดำ และหากมีเลือดออกในกระเพาะอาหารเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะทำให้ ผู้ป่วยอาเจียนออกมาเป็นเลือดได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วย ก็มักจะมีอาการอ่อนเพลียและซีดร่วมด้วย
          ในโอกาส 1 ทศวรรษแห่งความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งจีสต์ มีการพัฒนายา Targeted Therapy หรือยาที่มุ่งเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ ยาอิมมาตินิบ โดยทางการแพทย์พบว่า อิมมาตินิบสามารถควบคุมโรค ได้ดี ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งจีสต์มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น และมีอายุยืนยาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณ 9 ปี พบว่าผู้ป่วยประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ ยังคงมีชีวิตอยู่รอดนับตั้งแต่เข้าร่วมการศึกษา และนอกจากนั้น มีผู้ป่วยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ยังคงมีชีวิตอยู่รอดและยังได้รับยาอิมมาตินิบต่อไป และในปัจจุบันการติดตามการศึกษานี้กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 เช่นเดียวกับคนไข้ที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้มากกว่า 10 ปี
          "เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หากเรารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย สม่ำเสมอ และทำจิตใจให้ผ่องใสไม่เครียด ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันโรคนี้ได้ รวมทั้งหมั่นสังเกตตนเอง หากพบอาการผิดปกติ มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือคลำพบก้อนในท้อง ก็ให้รีบไปพบแพทย์ทันที" รศ.คลินิก พญ.สุดสวาท กล่าวในที่สุด
 


pageview  1205500    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved