HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 23/07/2555 ]
รง.ระนองก๊าซรั่วคนงานหนีตายวุ่นหามส่งรพ.14 ราย โชคดียังไม่ถึงฆาต

 เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 กรกฎาคม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ได้เกิดเหตุก๊าซแอมโมเนียภายในโรงงาน แปรรูปสัตว์น้ำ ชื่อ บริษัท อันดามัน ซีฟู้ดส์ จำกัด ตั้งอยู่ เลขที่ 93/25 ม.5 ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง เกิดการรั่ว บริเวณวาล์วท่อส่งไปยังโรงผลิตน้ำแข็งภายในโรงงานส่งผลให้ต้องรีบอพยพ คนงานซึ่งทำงานอยู่ในโรงงานเป็นจำนวนมากออกจากพื้นที่ และพบว่ามีคนงานบางส่วนสูดดมก๊าซแอมโมเนียเข้าไป เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ หายใจไม่ออก ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลระนอง 14 ราย ซึ่งแพทย์กำลังเร่งให้การปฐมพยาบาล โดยเบื้องต้นอนุญาตให้กลับบ้านได้ 10 ราย เหลืออีก 4 ราย ที่ต้องรอดูอาการ
          นพ.ธงชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้รับรายงานว่ามีคนงานในโรงงานที่สูดดม ก๊าซแอมโมเนีย และเกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจอีกหลายรายแต่มีอาการไม่รุนแรงทางเจ้าหน้าที่พยาบาล และเจ้าหน้าที่มูลนิธิระนองสงเคราะห์ เร่งนำออกมานอกพื้นที่เกิดเหตุเพื่อให้การปฐมพยาบาลและช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว ส่วนภายในโรงงานจุดเกิดเหตุทาง เจ้าหน้าที่ของโรงงานได้เร่งปิดวาล์วที่ก๊าซรั่วไหลซึ่งล่าสุดทราบว่าสามารถปิดวาล์วจุดที่ก๊าซรั่วไปไหลได้แล้ว แต่คงใช้เวลาอีกระยะกว่าจะให้คนงานกลับเข้ามาทำงานได้
          สำหรับ "แอมโมเนีย" มีสถานะเป็นก๊าซ ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรงมาก นิยมใช้ดมเวลาเป็นลม แต่ถ้าเป็นก๊าซแอมโมเนียล้วนจะฉุนจนสำลัก บางทีก็ใช้ในลักษณะของสารละลาย เพราะสามารถละลายน้ำได้ดีมาก สารทำความสะอาดในบ้านเรือนอาจเป็นพวกแอมโมเนียผสม แอลกอฮอล์ เช่น น้ำยาล้างกระจก สำหรับก๊าซจะเป็นสารนำความเย็นบรรจุในแผงท่อโลหะของตู้เย็น หรือเครื่องทำความเย็นของโรงงาน นอกจากนั้นยังใช้ในการผลิตปุ๋ย ซึ่งอยู่ในรูปของปุ๋ยยูเรียหรือแอมโมเนียม ไนเตรต ใช้ในการผลิตพลาสติกประเภทเส้นใยไนล่อนที่ทำจากคาโปรแลคแทม หรือไฮโดรไซยาเนต เม็ดพลาสติกที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของยูเรีย-ฟอร์มัลดีไฮด์ ก็มีการใช้แอมโมเนียเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมมีการใช้แอมโมเนียในการล้างฤทธิ์กรดของน้ำมันดิบ และใช้ป้องกันการกัดกร่อนของโลหะ ในการเก็บและขนส่งน้ำยางดิบที่กรีดจากต้นยาง ก็เติมแอมโมเนียลงไปเพื่อไม่ให้น้ำยาง แข็งตัว เป็นต้น
          ส่วนอาการข้างเคียงผู้ที่สูดดมก๊าซแอมโมเนีย จะทำให้เกิดการระคายเคือง แสบตา อาจทำให้ตาบอดได้ ก๊าซแอมโมเนียบรรจุในถังอัดก๊าซ เวลาลำเลียงขนส่งการสูดเข้าไปแรงๆ จะทำให้สำลักหายใจไม่ออก เพราะเกิดการบวมน้ำของทางเดินหายใจ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรง เจ็บหน้าอก ชักและถึงตายได้ ถ้าสูดเข้าไปไม่มากนัก อาจจะเป็นแค่ปอดบวม เยื่อจมูกและตาอักเสบ เพราะละลายน้ำได้ดีและเกิดความร้อนด้วย สำหรับแอมโมเนียเหลวถ้าถูกผิวหนัง จะกัดผิวหนังด้วยความเย็นจัด โดยประชาชนทั่วไปถ้าจะมีโอกาสประสบอุบัติเหตุจากก๊าซรั่ว ซึ่งเกิดจากการรั่วจากเครื่องทำ ความเย็น หรือถังก๊าซรั่วระหว่างขนส่งสำหรับ คนที่ทำงานในกิจการที่เกี่ยวข้อง เช่น ในอุตสาหกรรมที่กล่าวข้างต้น ก็จะมีโอกาสมากหน่อย จึงควรรู้วิธีป้องกันและแก้ไข


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved