HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 11/07/2555 ]
ผุดเทคโนโลยีสร้างสุขภาวะ เปิดตัว"แอพพลิเคชั่นสุขภาพดี"

     มนุษย์เรา ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นมนุษย์หุ่นยนต์ แต่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น เห็นได้จากผลสำรวจที่พบว่าคนไทยเข้าถึงอินเตอร์เนตในการสืบค้นข้อมูลถึง 25 ล้านคน หรือเกือบ 40%
          มีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพกว่า 1.2 แสนครั้ง ต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 40,6000 กว่าครั้ง และผลสำรวจล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2555 พบว่าประเทศไทยมีผู้ใช้ Facebook  มากเป็นอันดับ 16 ของโลก มีผู้ใช้กว่า 14 ล้านคน และมีผู้ใช้ Twitter อีกกว่า 1 ล้านคน
          จากผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยในปัจจุบันหันมาพึ่งพาระบบเทคโนโลยีในการสืบค้น และเข้าถึงข้อมูลในด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้น
          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างสุขภาวะที่ดี ของคนไทย จึงได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อดำเนินงาน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ
          โดยในช่วง 3 ปีนี้ จะมีการพัฒนางานใน 3 ด้าน คือ  (1)การพัฒนาเยาวชนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีในการ สร้างเสริมสุขภาวะ เช่น โครงการประกวดการพัฒนาโปรแกรม และเทคโนโลยีสารสนเทศของเยาวชน (2)การพัฒนาเทคโนโลยีและระบบฐานข้อมูลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ เช่น การพัฒนาโปรแกรมบนมือถือให้บริการข้อมูลเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย และการใช้ยาที่ถูกต้อง และ (3)การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการสร้างเสริมสุขภาวะอย่างยั่งยืน
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. เล่าถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมา สสส. มีความ ตั้งใจที่จะนำความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพไปยังประชาชนอย่างแพร่หลาย แต่สิ่งที่ยังขาดคือ เครื่องมือ ที่จะเชื่อมโยง และ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงและกว้างขวาง ดังนั้นเมื่อพบว่ามีผู้เข้าถึงอินเตอร์เนตจำนวนมากจนเรียกได้ว่าเป็นครึ่งหนึ่ง ของประเทศ จึงมีแนวคิดที่จะสนับสนุนและพัฒนาระบบการสื่อสารที่มีความทันสมัยทางด้านเทคโนโลยี เพื่อต่อยอด สิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริงได้
          "สิ่งที่เรามุ่งหวังให้เกิดต่อจากนี้คือ ประชาชนทุกคน มีข้อมูลด้านสุขภาวะของตนเอง เพราะหากประชาชนรู้ว่า ตนเองมีปัญหาสุขภาพด้านใด จะได้หาวิธีป้องกัน หรือรักษา ก่อนที่ปัญหาจะรุกลามทำให้อาการสาหัส และต้องสูญเสียค่ารักษามหาศาลได้ ซึ่งทางเครือข่าย สสส. จะเริ่มต้นนำร่อง โดยการประสานไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาสร้างเป็นฐานข้อมูล และเมื่อทุกคนมีประวัติการรักษา ประวัติการเจ็บป่วย หรือพฤติกรรมการใช้ยา และข้อมูลทั่วไปที่เป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ การป้องกันก็จะเกิดขึ้นตามมา" ผู้จัดการ สสส.ระบุเมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาพ เลยอยากจะบอกให้ทราบว่า มีข้อมูลที่น่าตกใจ ในแต่ละปี ที่พบว่าภาครัฐใช้งบประมาณในการสร้างเสริมสุขภาพ เฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายด้านสุขภาพสูงมากกว่าปีละ 400,000 ล้านบาท ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ที่จะช่วยสร้างเสริมสุขภาวะให้กับประชาชน และหวังว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาสุขภาพ และยกระดับชีวิตของประชาชนได้ เทคโนโลยีจะสามารถช่วยให้คุณภาพของประชากรดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งยังขาดแคลนบุคลากรแพทย์ พยาบาลที่เพียงพอ
          ทพ.กฤษดา ยังบอกอีกว่า สสส. จะนำนวัตกรรมหรืองานวิจัยที่ทาง สวทช. ได้คิดค้นมารวบรวมเป็นแพ็กเกจ เพื่อปรับให้เข้ากับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของประชาชน รวมถึง เชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลสุขภาพของแต่ละคน และทดลองใช้งาน กับเครือข่ายต่างๆ ของ สสส. ที่มีแกนนำเครือข่ายสร้างเสริม สุขภาพมากกว่า 30,000 คน โดยจะนำร่องใช้บริการภายในเดือน ตุลาคมนี้ เพื่อนำไปสู่การใช้งานอย่างแพร่หลายในอนาคต
          ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า  ขณะนี้ สวทช. มีหลายโครงการที่ได้ริเริ่มไปแล้ว เช่น "ยากับคุณ" (a andou) แอพพลิเคชั่นบนมือถือ ช่วยในการสืบค้น และบริการข้อมูลความรู้ด้านยาและสุขภาพเพื่อส่งเสริมการใช้ยา และการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม, FoodiEat โปรแกรม บันทึกพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เป็นโปรแกรมสำหรับเก็บ ประวัติการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อของวัน ทำให้ผู้ใช้สามารถ คำนวณปริมาณแคลอรี่ของอาหารที่รับประทานในแต่ละวันได้ โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่ App Store
          ขณะที่งานวิจัยเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อ สร้างเสริมสุขภาวะ ก็ได้เริ่มไปแล้ว เช่น พัฒนาระบบแจ้งเหตุ ฉุกเฉินสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยพัฒนาชุดอุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ใช้งานได้ทั้งจาก สวิตช์ปกติ และควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรล ภายในรัศมี  20-30 เมตร จากเครื่องติดตั้ง และพัฒนาระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยติดตั้งอุปกรณ์เพื่อ ส่งสัญญาณเตือนภัยในรูปแบบของเสียงสัญญาณไซเรน หรือไฟ ในกรณีที่ต้องการขอความช่วยเหลือ เพื่อแจ้งให้คนในครอบครัว หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงรับทราบ เป็นต้น"
          สรุปได้ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการช่วยพัฒนาสังคม ยกระดับ คุณภาพชีวิต และเป็นเครื่องมือในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับสังคมไทย เพื่อให้การพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน ตลอดไป


pageview  1205847    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved